เหลียวหลังแลหน้าสู่ 2025 เมื่อ "การเมือง" ป่วน "เศรษฐกิจโลก"
เมื่อถูกขอให้คาดการณ์ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของโลกในช่วงปี 2025 ที่ย่างกรายมาถึง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ มักอดไม่ได้ที่จะหยิบยกเอาสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2024 ที่ผ่านมา มาอ้างอิงเอาไว้เป็นจุดเริ่มต้น เนื่องเพราะหนึ่งขวบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเกิดการผันผวน ปั่นป่วนทางการเมืองขนานใหญ่ทั้งในระดับชาติและระดับโลก เท่านั้น อาการผันแปรจนไร้สมดุลที่ว่านั้น ยังส่งผลสะเทือนต่อเนื่องอย่างเอกอุอีกด้วย
สภาพการณ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามในยูเครน ที่ยืดเยื้อและมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด หรือการสู้รบในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล กับบรรดากลุ่มติดอาวุธที่เป็นตัวแทนของอิหร่าน ที่ลุกลามออกไปไม่หยุดหย่อน ได้รับการคาดหมายว่า จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจของโลก ไม่น้อยกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในของหลายๆ ประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นการพังพาบของรัฐบาลในฝรั่งเศส และเยอรมนี ที่ทำให้ยุโรปดูเหมือนไม่มีชาติที่เป็นผู้นำไปโดยปริยาย ไปจนถึงชัยชนะในการเลือกตั้งของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในสหรัฐอเมริกา ล้วนส่งผลผูกพันต่ออนาคตของเศรษฐกิจโลกในปี 2025 อย่างชัดเจน
แม้แต่การเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงอย่าง กรณีการประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ที่ส่งผลให้ประธานาธิบดีถูกปลดพ้นตำแหน่งและถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการอิมพีชเมนต์ หรือการล่มสลายอย่างไม่คาดฝันของระบอบบาชาร์ อัล อัสซาด ในซีเรีย ล้วนมีนัยต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคตไม่มากก็น้อย
นักวิชาการบางคน รวมทั้ง “โมฮัมเหม็ด เอล เอเรียน” จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ชี้ว่า การเมือง ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติและระดับโลก กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจนั้น ผูกพันและเชื่อมโยงซึ่งกันและกันลึกซึ้งกว่าที่คาดคิดกันไว้มากมายนัก
พัฒนาการด้านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่สำคัญของโลกในช่วงปีที่ผ่านมาก็ชวนให้กังวลเช่นเดียวกัน ปัญหาในภาคพื้นยุโรปลุกลามลงลึกมากขึ้น เศรษฐกิจของหลายต่อหลายประเทศแทบไม่ขยายตัว แต่การขาดดุลงบประมาณพอกพูนสูงขึ้นชนิดสลัดไม่หลุด ทางการจีนยังค้นไม่พบแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยลบรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การชราภาพของประชากร ปัญหาหนี้ และปัญหาระดับวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลชะลอการขยายตัว บั่นทอนประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลงอย่างหนักหน่วงและต่อเนื่อง
นักวิชาการและนักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะทำได้ดีเหนือกว่าอีกหลาย ๆ ชาติในช่วงขวบปีที่ผ่านมา แต่ผลกระทบจากการเมืองภายในประเทศและสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้การคลี่คลายขยายตัวในปี 2025 ถูกจำกัดลงอย่างช่วยไม่ได้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะอยู่ในระดับต่ำ
ในขณะที่เงินเฟ้อจะค้างเติ่งอยู่ในระดับสูง จำกัดหนทางแก้ไขของเฟดหรือธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไว้เหลือเพียงว่า จะยอมรับภาวะเงินเฟ้อสูงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ หรือจะพยายามหาหนทางลดอัตราเงินเฟ้อลง แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงในการฉุดเศรษฐกิจให้อยู่กับที่ หรือตกอยู่ภายใต้ภาวะถดถอยอีกครั้ง
สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้เขตเศรษฐกิจทั่วโลก แตกแยกเป็นกลุ่มก้อนต่อเนื่องจากขวบปีที่ผ่านมา นักวิชาการบางคนเชื่อว่า สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลให้บางกลุ่ม บางประเทศปรับเปลี่ยนสกุลเงินสำรองของตนให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ยึดกุมดอลลาร์เป็นหลักอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็อาจแสวงหาหนทางใหม่ในการชำระเงินระหว่างประเทศแทนที่ระบบเดิมของตะวันตก ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุนระหว่างประเทศ
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้รับการคาดหมายว่า จะแตกต่างกันหลากหลายมาก ญี่ปุ่น และจีน จะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐกับจีน เกิดลุกลามขยายตัว นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซน อาจกระเตื้องขึ้นได้ เมื่อรายได้ครัวเรือนที่แท้จริงเริ่มฟื้นตัว และภาวะเงินเฟ้อลดต่ำลงจนธนาคารกลางสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้
กระนั้น นักวิชาการและนักวิเคราะห์ทุกคนตั้งข้อสังเกตไว้เหมือนกันหมดว่า ความเสี่ยงสูงสุดสำหรับปี 2025 ก็คือความไม่แน่นอนเชิงภูมิรัฐศาสตร์นั่นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 มกราคม 2568