เศรษฐกิจโลกและไทยใต้เงาทรัมป์ ในปี 2025 เผชิญสารพัดความเสี่ยง
ในปี 2025 คงไม่มีเรื่องไหนใหญ่และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากไปกว่าการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยชุดนโยบายที่จะส่งผลกระทบไปทั้งโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า นโยบายส่งผู้อพยพกลับประเทศ และนโยบายปกป้องการผลิตในสหรัฐ
องค์การระหว่างประเทศ สำนักวิจัย องค์กรคลังสมอง นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันการเงิน รวมถึงองค์กรภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ล้วนวิเคราะห์ว่า นโยบายของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังคงแกร่ง-พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงและฟื้นตัวได้ (Resilient) แม้จะมีความท้าทายที่สำคัญ โดยคาดการณ์ว่าจีดีพีของทั้งโลกในปี 2025 จะเติบโต 3.3% แต่ก็ระบุว่า ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอาจเสี่ยงที่จะขัดขวางการเติบโตของการค้า
การค้าโลกปั่นป่วน-ปริมาณหด :
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทั่วโลกกังวลมากที่สุดเพราะมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและขนาดใหญ่ที่สุด คือนโยบายด้านการค้าและภาษีศุลกากร ซึ่งทรัมป์มีนโยบายกดดันการค้าระหว่างประเทศกับจีนเข้มข้นขึ้น โดยเสนอให้สหรัฐตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นอัตรา 60% ส่วนประเทศอื่น ๆ เสนอให้เก็บภาษีสินค้านำเข้า 10% ถึง 20% และสนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศเป็นระบบต่างตอบแทน (Reciprocity) โดยให้ใช้อัตราภาษีระดับเดียวกันกับที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐ
หลายสำนักวิเคราะห์พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นโยบายของทรัมป์จะทำให้ปริมาณการค้าโลกลดลง และจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในระยะหลายปีต่อจากนี้
เบอร์นาร์ด ยาริส (Bernard Yaris) นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) วิเคราะห์ไว้ว่า การขึ้นภาษีของทรัมป์จะทำให้การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง 70% จากระดับปัจจุบันที่ลดลงอยู่แล้ว จากผลของภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ประกาศในสมัยแรก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์โดยไม่ได้เจาะจงผลกระทบจากแผนภาษีนำเข้าของทรัมป์ว่า หากเศรษฐกิจโลกมีการแยกส่วนห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) อย่างจริงจัง และมีการใช้ภาษีนำเข้าสินค้าในวงกว้าง อาจทำให้โลกสูญเสียจีดีพีไปเกือบ 7% ซึ่งเทียบเท่ากับเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมนีหายไปจากการคำนวณจีดีพีโลก
โพลิซีเซ็นเตอร์ฟอร์เดอะนิวเซาท์ (Policy Center for the New South : PCNS) กลุ่มงานวิจัยของโมร็อกโกออกรายงานวิเคราะห์ว่า สงครามการค้าและการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศอาจจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายห่วงโซ่อุปทาน แต่ขณะเดียวกัน อีกหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุดจะต้องเผชิญกับภาวะที่อัตราส่วนการค้าต่อจีดีพีลดลง
เอสแอนด์พีโกลบอล (S&P Global) วิเคราะห์ว่า ไม่มีผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามการค้าที่เริ่มขึ้นโดยสหรัฐ ประเทศต่าง ๆ ที่เผชิญกับภาษีศุลกากรอัตราใหม่ รวมทั้งสหรัฐเองจะประสบกับภาวะการลดลงของการส่งออกและจีดีพี ส่วนประเทศที่ไม่โดนสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากดีมานด์สินค้าที่ลดลง ทำให้ส่งออกได้น้อยลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องห่วงโซ่อุปทานหรือการตอบสนองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง ซึ่งผลกระทบเหล่านี้มีน้ำหนักมากกว่าผลประโยชน์ที่อาจได้รับจากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร
เศรษฐกิจสหรัฐ-จีนชะลอ :
หลายสำนักคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่า นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจจีนมากที่สุด โดยเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของโลก จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้
ศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งประเทศญี่ปุ่น (JCER) วิเคราะห์ว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ กำหนดมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจีนอย่างน้อย 60% ตามที่เสนอไว้ในช่วงหาเสียง ผลกระทบจากภาษีศุลกากรของสหรัฐต่อการส่งออกของจีนจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะผนวกรวมกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจจีนแย่ลง
JCER ประมาณการผลกระทบจากอัตราภาษีของทรัมป์ต่อการส่งออกของจีนว่า หากสหรัฐจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% การส่งออกของจีนจะหดตัวลง 2.3% และหากจัดเก็บภาษี 60% การส่งออกจะลดลงเกือบ 14%
ประมาณการกรณีที่คู่ค้าของสหรัฐที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ดำเนินมาตรการตอบโต้ที่มีนัยสำคัญ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีนจะชะลอตัวลงเหลือโต 3.4% ในปี 2025 จากที่คาดว่าจะโต 4.7% ในปี 2024 แล้วจะโตได้ 4% ในปี 2026 แต่ก็จะชะลอตัวลงอีกจนกระทั่งต่ำกว่า 3% ในปี 2030 จากนั้นจะลดลงเหลือโตเพียง 1.8% ในปี 2035
JCER มองว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ในรูปแบบของ “การค้าที่ซบเซา” ซึ่งหากปริมาณการค้าโลกลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงที่เกิดวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส (Lehman Brothers) อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนจะลดลงประมาณ 1 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage Point) เมื่อเทียบกับกรณีฐานที่ไม่มีปัจจัยนี้
เงินเฟ้อสูง-ดอกเบี้ยไม่ลด :
อีกความเสี่ยง คือ นโยบายของทรัมป์ที่ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้านั้นเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสูง เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้กันอยู่ในสหรัฐนั้นเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมาก
เจพีมอร์แกน (JPMorgan) วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบวกกับการลดภาษีเงินได้ตามนโยบายของทรัมป์ อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นกว่าสถานการณ์กรณีไม่มีภาษีดังกล่าวประมาณ 2.5 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage Point)
เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐอาจไม่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มากเท่าที่เคยคาดการณ์และคาดหวังกันไว้ก่อนหน้านี้ และจะส่งผลกระทบต่อนโยบายการเงินกับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอีกครั้ง ตลาดเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศในสกุลเงินดอลลาร์จะต้องเจอต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ครั้งล่าสุด ก็แสดงให้เห็นความน่ากังวลมากขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ส่งสัญญาณแล้วว่า ในปี 2025 จะมีการลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐมองว่าในปี 2025 ควรลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25%
ห่วงกระทบส่งออกไทย :
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2025 ยังต้องติดตามหลายปัจจัยที่จะส่งผลกระทบ โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนในการตั้งเป้าหมายการส่งออก 2025 ขยายตัวที่ 2-3%
ทั้งนี้ สรท.มองว่าเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยในปีหน้ายังมีความท้าทายมาก โดยฉพาะผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวเศรษฐกิจยุโรป กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบทั่วโลก และสงครามการค้าที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะปรับขึ้นภาษีกับสินค้าจีน และประเทศที่สหรัฐขาดดุล
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 2025 สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องรับมือกับนโยบายของทรัมป์ คาดการณ์ว่าจะต้องเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจสูง การค้าโลกชะลอตัว เกิดการย้ายฐานการผลิต เกิดสงครามการค้าด้านเทคโนโลยีระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม เกิดการขึ้นภาษีจีนและประเทศที่เกินดุลสหรัฐ นอกจากนี้จะเกิดการชะลอการแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป้าหมาย Net Zero จะเลื่อนออกไป
“สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นย่อมกระทบกับไทย เช่น ไทยอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นฐานการผลิตของจีน จนส่งผลให้ถูกกีดกันทางการค้าและโดนกำแพงภาษีที่สูงตามไปด้วย จะมีการแข่งขันด้านต้นทุนมากขึ้นเมื่อเป้าหมาย Net Zero ชะลอออกไป เพราะการกลับมาเน้นที่เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลกระทบที่ตามมาและน่าห่วงที่สุดคือการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่ถูกกีดกันจากสหรัฐอย่างรุนแรง” ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2025 มีหลายความเสี่ยงที่กดดันต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าคาด, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
สำหรับภาคการส่งออก ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2025 มีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐโดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อย่างอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้น
ค่าเงินบาทผันผวนแรงขึ้น :
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” กล่าวว่า ในปี 2025 เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทาง ในกรณีสหรัฐมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า แต่อีกมุม โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องการให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงเกินไป หากน้ำมันราคาไม่สูงขึ้น ทำให้การนำเข้าพลังงานของไทยไม่สูง ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวระดับกลาง ๆ ไม่ได้มีทิศทางชัดเจน ดังนั้น ภายใต้การส่งออกที่ยังไม่ได้ดีเท่าที่ควรขยายตัวระดับ 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เกินดุลมาก ทำให้เงินบาทไม่แข็งค่ามากถึงระดับ 32.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์ จากในปี 2024 เงินบาทเคลื่อนไหวต่ำกว่า 34.00 บาทต่อดอลลาร์
“แนวโน้มเศรษฐกิจปีหน้าจนถึงช่วงสงกรานต์ยังพอใช้ได้ โอกาสรีบลดดอกเบี้ยก็น้อยลงไป แม้ว่าเราจะเริ่มเห็นความเสี่ยงจากต่างประเทศ และงบประมาณภาครัฐไม่ได้มีจำกัดแล้ว แต่นโยบายการเงินต้องอ่านเศรษฐกิจดี ๆ แต่เรื่องภาวะการเงินตึงตัวยังมี ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลดดอกเบี้ยได้เช่นกัน”
นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทจะเห็นความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) นโยบายทรัมป์ 2.0 และจีน ซึ่งสร้างความอ่อนไหวต่อดอลลาร์ และราคาทองคำที่มีความผันผวนมากขึ้น ส่งผลให้ความผันผวนของค่าเงินจะกว้างขึ้น หากดูค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทภายใน 1 วัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยเคลื่อนไหว (เหวี่ยง) อยู่ที่ 40-50 สตางค์ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 80 สตางค์ และคาดว่าภายในปี 2025 ค่าเฉลี่ยจะเคลื่อนไหวเพิ่มเป็น 1 บาท ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้นำเข้า-ส่งออก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรม
เศรษฐกิจไทยขาลง :
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2.4% โดยเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง “ขาลง” และ “ชะลอตัว” ลงชัดเจน
อย่างไรก็ดี ดร.สมประวิณมองว่า มีปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจปรับลดลงกว่าประมาณการ 2.4% อยู่ภายใต้สมมุติฐาน 2 เหตุการณ์ คือ (1) ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงกว่าที่คาดจนลุกลามไปประเทศจีน และมากระทบไทยทางตรงและทางอ้อม (2) การเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจจริงกับภาวะการเงินตึงตัว โดยอัตราการเติบโตของสินเชื่อชะลอตัวลงเนื่องจากภาคเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ภาคการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ และปี 2025 สินเชื่อจะยังคงชะลอและไปกระทบภาคเศรษฐกิจจริงได้ “วนลูป” เป็นวัฏจักร
“ดังนั้น ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ทั้งจากนโยบาย Trump 2.0 ภาวะการเงินตึงตัวมากขึ้น รวมถึงการส่งสัญญาณนโยบายการเงินสหรัฐ ผ่านรายงาน Dot Plotของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอก