บิ๊กธุรกิจส่องเศรษฐกิจไทย 2568 ปีแห่งความท้าทาย กำลังซื้อโจทย์ใหญ่ ชู "ท่องเที่ยว" หัวหอกพลิกฟื้น
เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายปรีชา ศุภปิติพร นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า มองเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังเป็นปีที่ท้าทาย ยังเผชิญกับปัญหาเดิมๆอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตรากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจยังต่ำ รายได้ของคนยังไม่เพิ่มขึ้น สวนทางกับค่าครองชีพยังคงปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา แต่คงไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก ส่วนมาตรการอีซี่ อีรี-ซีท ผู้ที่ได้รับอานิสงส์จะเป็นกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่มากกว่ารายย่อย ซึ่งภาครัฐต้องออกมาตรการให้ตรงจุดมากกว่านี้
นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังมีความท้าทาย เนื่องจากยังมีปัจจัยไม่แน่ไม่นอนอยู่มาก จึงยังค่อนข้างน่าห่วง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ที่จะประกาศออกมา เช่น การปรับขึ้นภาษีต่างๆ คาดว่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะเหนื่อยหนักมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย แม้ว่าหลายคนมองว่าจะส่งผลดีต่อประเทศไทยก็ตาม จากการที่มีนักลงทุนย้ายฐานมายังประเทศไทย แต่อาจจะไม่ใช่อย่างที่คาดการณ์ไว้ก็ได้ เพราะความไม่แน่ไม่นอนยังมีอยู่สูง
นายอธิปกล่าวว่า สำหรับปี 2568 มองว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.3-2.4% เนื่องจากการส่งออกอาจจะชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ คงเหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะเป็นตัวหลักขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในปี 2568 หลังมีการประเมินว่าต่างชาติจะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 40 ล้านคน ขณะที่ภาครัฐยังไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ที่จะมาช่วยกระตุ้น
“ปี 2568 ถึงนักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ตามเป้า 40 ล้านคน แต่ยังมีความกังวลในแง่ของรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอาจจะไม่สูง ดังนั้นภาครัฐเองก็ต้องหามาตรการเพื่อมาสนับสนุน เพื่อสร้างรายได้ให้สูงขึ้น เช่น ให้ต่างชาติมีการพำนักอยู่ระยะยาวมากขึ้น เพราะจะทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศมากขึ้นตามไปด้วย”นายอธิปกล่าว
นางณัฐธีรา บุญศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัลรีเทล เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดค้าปลีกในปี 2568 ยังคงเติบโตต่อเนื่องมาจากปี 2567 โดยมีปัจจัยบวกจากโครงการอีซี่ อีรี-ซีท ที่สามารถนำยอดชำระซื้อสินค้าหรือค่าบริการหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคมถึง28 กุมภาพันธ์ 2568 จะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้มากขึ้น เพราะในช่วงมกราคมเป็นช่วงของการจับจ่ายอยู่แล้ว จึงคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้มากยิ่งขึ้น
นางณัฐธีรากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามานั้นสูงกว่าปีเกิดโควิด ทั้งนี้แม้ว่าในปี 2567 นักท่องเที่ยวชาวจีนยังเข้ามาไม่เท่ากับก่อนหน้านี้ แต่เริ่มเห็นเข้ามามากขึ้น ขณะเดียวกันมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากประเทศอื่นเข้ามาเสริมด้วย เช่น รัสเซีย ตะวันออกกลาง กลุ่มซีแอลเอ็มวี เป็นต้น รวมถึงยังมีปัจจัยกำลังซื้อของกลุ่มระดับบนที่ยังแข็งแกร่ง
“ความท้าทายในปี 2568 คือ กำลังซื้อในกลุ่มระดับกลางและล่างที่ยังน่าห่วง จึงอยากขอให้รัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนมีรายได้เพิ่ม”นางณัฐธีรากล่าว
นางณัฐธีรากล่าวว่า อย่างไรก็ตามมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในปี 2568 น่าจะมีการขยายตัวได้มากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้านมาก ถ้าหากภาครัฐมีการนำจุดแข็งต่างๆออกมาขับเคลื่อน จะทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศแข็งแรง เช่น เรื่องของการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาหาร ภาคการผลิต และธุรกิจเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีความแข็งแรงอยู่แล้ว โดยทางเซ็นทรัลเองมีแผนจะร่วมช่วยผลักดันด้วยในการจำหน่ายสินค้าแบรนด์ไทยและสินค้าของเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตไปกับประเทศไทยและเซ็นทรัลด้วย ถ้าภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนหลายภาคส่วนจะยิ่งผลักดันเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 มกราคม 2568