ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค ธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.9 ดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติด
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 57.9 ดีขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติด เหตุผู้บริโภคเชื่อมั่นขึ้น หวังรัฐเร่งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องกันในช่วง 3 เดือน ซึ่งจะเห็นได้จากพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในเทศกาลต่าง ๆ ที่ผ่านมา
ทั้งเทศกาลลอยกระทง เทศกาลปีใหม่ และวันเด็ก ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะค่อย ๆ กลับมาดีขึ้น จึงส่งผลให้ความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจเริ่มกลับมา
อย่างไรก็ดี หอการค้ายังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 จะยังเติบโต เนื่องจากยังมีปัจจัยกระทบ ทั้งความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ภายใต้นโยบายประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐ, ผลกระทบจากกรณีรัสเซียถูกแซงก์ชั่นจากสหรัฐ ความเชื่อมั่นในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.-สิ้นเดือน ก.พ.นี้ รวมทั้งเงิน 10,000 บาทให้กับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ดังนั้น ไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 เป็นตัวชี้เศรษฐกิจปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งหอการค้าคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ราว 3%
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือน ธ.ค. 67 จำนวนตัวอย่าง 2,244 ตัวอย่าง พบว่าอยู่ที่ 57.9 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 10 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมอยู่ที่ 51.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 55.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 67.0 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
สำหรับปัจจัยบวกที่มีผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้น ได้แก่
(1)คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25%
(2)รัฐบาลดำเนินมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทั้งการช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บาท, แจกเงินหมื่นให้ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมทั้งมาตรการ Easy E-Receipt และมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย”
(3)จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวขึ้น
ขณะที่ปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบ อาทิ ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของด้านภูมิศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ รวมไปถึงค่าเงินบาทที่มีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย
อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในอนาคตได้ หากรัฐบาลขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่อง และไม่มีปัจจัยเสี่ยงใด ๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 14 มกราคม 2568