ทรัมป์ 2.0: จากสงครามการค้าสู่การล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ
วิกฤติและความท้าทายที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2567 ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความปั่นป่วนของระเบียบโลก แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบอบประชาธิปไตยที่สามารถยืนหยัดท่ามกลางพายุร้ายได้อย่างน่าประหลาดใจ
ในขณะที่สงครามยังคงลุกไหม้ในหลายภูมิภาค ทั้งในกาซา เลบานอน ยูเครน และที่นองเลือดที่สุดคือในซูดาน อีกทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติก็สร้างความเสียหายอย่างหนัก แต่เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้กลับชี้ให้เห็นว่าประชาธิปไตยยังคงมีความแข็งแกร่ง
การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นใน 76 ประเทศ ครอบคลุมประชากรกว่าครึ่งโลก เป็นบทพิสูจน์สำคัญ แม้บางประเทศจะจัดการเลือกตั้งเพียงเพื่อเป็นฉากหน้า แต่หลายประเทศก็แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาธิปไตยที่แท้จริง
อย่างกรณีของอังกฤษที่ประชาชนตัดสินใจเปลี่ยนรัฐบาลหลังจากที่พรรคอนุรักษนิยมได้อยู่ในตำแหน่งถึง 14 ปีและมีนายกรัฐมนตรีถึง 5 คน หรือในอินเดียที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่งสัญญาณชัดเจนว่าต้องการให้นายกรัฐมนตรีโมดีลดความเข้มข้นของนโยบายชาตินิยมฮินดูและหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการกลับแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนที่ชัดเจน
จีนต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลมาจากการบริหารประเทศแบบรวมศูนย์ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ขณะที่รัสเซียต้องสูญเสียทรัพยากรมหาศาลไปกับสงครามในยูเครน และอิหร่านก็ไม่สามารถสนับสนุนพันธมิตรในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 ประชาธิปไตย รวมถึงอำนาจอธิปไตยของหลายประเทศทั่วโลก อาจถูกท้าทาย หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 เตรียมกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในวันที่ 20 ม.ค.นี้ พร้อมส่งสัญญาณนโยบายต่างประเทศที่ไร้ขีดจำกัด
สะท้อนผ่านการแถลงข่าวล่าสุดที่มาร์-อา-ลาโก ที่ประกาศความต้องการผนวกดินแดนและขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ทรัมป์ได้ยกระดับนโยบายกดดันประเทศคู่ค้าจาก “สงครามการค้า” ในสมัยแรกสู่แนวคิด “การล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ” (Economic colonization) ที่ชัดเจนมากขึ้น
โดยใช้เครื่องมือทั้งทางเศรษฐกิจผ่านการขึ้นภาษี (Tariff) รวมถึงเครื่องมืออื่น ๆ เช่นทางการทหาร ผ่านการขู่ใช้กำลังทหารยึดคลองปานามา การเรียกร้องผนวกกรีนแลนด์และแคนาดา รวมถึงการบีบให้พันธมิตร NATO เพิ่มงบประมาณกลาโหมเป็น 5% ของ GDP จากปัจจุบันที่ 3%
แม้ข้อเรียกร้องเหล่านี้หลายข้อจะดูเป็นไปได้ยาก แต่การที่ผู้นำประเทศต่างๆ ต้องออกมาตอบโต้แสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการกำหนดวาระการเมืองระหว่างประเทศได้ตามต้องการ
ในด้านการเมืองภายใน สภาคองเกรสเพิ่งผ่านวิกฤติการปิดทำการของรัฐบาล (Government Shutdown) ในช่วงปลายปีมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ยังมีความท้าทายรออยู่ในปี 2568 โดยเฉพาะประเด็นเพดานหนี้ที่จะกลับมาบังคับใช้วันที่ 2 ม.ค. และการต่ออายุงบประมาณชั่วคราวในวันที่ 14 มี.ค.
ขณะที่ในช่วงกลาง-ปลายปี 2568 จะเป็นช่วงที่มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังอาจหมดลง (X-date) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐต้องเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะก่อนที่จะถึงวันนั้น รวมถึงต้องมีการเจรจาเรื่องการต่ออายุมาตรการลดภาษีของทรัมป์ที่จะหมดอายุในสิ้นปี 2568
ผู้เขียนมองว่า ภาคการคลังสหรัฐเผชิญความท้าทายในอนาคตจากการเมืองที่ยุ่งเหยิง ทั้งจาก
(1) การขาดดุลงบประมาณ ซึ่งปัจจุบันขาดดุลเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี (6.8% GDP) ซึ่งการเพิ่มเพดานหนี้ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์อาจไม่เพียงพอถึงการเลือกตั้งกลางเทอมปี 2569
(2) การขยายมาตรการลดภาษีปี 2560 ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของทรัมป์ และต้องการการสนับสนุนจากทั้งสองพรรค ทำให้อาจขัดแย้งกับเป้าหมายการลดงบประมาณ
(3) ความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกัน โดยกลุ่มอนุรักษนิยมทางการคลังต้องการลดงบประมาณ ขณะที่ทรัมป์สัญญาจะปกป้อง Medicare และ Social Security
ทั้งนี้ แม้พรรครีพับลิกันจะได้ครองที่นั่งทั้ง 3 บ้าน (ประธานาธิบดี สภาสูง และสภาล่าง) แต่เสียงข้างมากในสภาล่างที่บางเบาอาจทำให้ผ่านกฎหมายยาก ทำให้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากพรรคเดโมแครต และอาจเป็นชนวนทำให้ความขัดแย้งภายในพรรครีพับลิกันรุนแรงขึ้น
ในส่วนข้อเสนอของทรัมป์ที่จะยึดกรีนแลนด์นั้น น่าสนใจทั้งในแนวคิดและในเชิงกลยุทธ์
โดยกรีนแลนด์มีความสนใจในเชิงยุทธศาสตร์ 3 ประการ
(1)กรีนแลนด์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันภัยคุกคามทางทหารจากรัสเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวป้องกัน “กรีนแลนด์-ไอซ์แลนด์-สหราชอาณาจักร” ที่ควบคุมเส้นทางเดินเรือในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สหรัฐมองความสำคัญของกรีนแลนด์ ในฐานะพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ทางทหาร โดยมีฐานปฏิบัติการ “ฐานอวกาศพิทัฟฟิก” (Pituffik Space Base) บนชายฝั่งเหนือของกรีนแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากวงกลมอาร์กติก 750 ไมล์
เป็นที่ตั้งของระบบเรดาร์เตือนภัยล่วงหน้าที่ทันสมัย สามารถติดตามเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ของรัสเซียได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีท่าเรือน้ำลึกและรันเวย์ขนาด 10,000 ฟุต
(2)กรีนแลนด์อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่า โดยเฉพาะแร่หายากทั้งชนิดหนักและเบา เช่น นีโอดิเมียมและดิสโพรเซียม ซึ่งสำคัญต่อการผลิตคอมพิวเตอร์และพลังงานสะอาด รวมถึงมีแหล่งแร่ทองคำ เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี โดยแหล่งแร่ใกล้เมืองนาร์ซัคทางตอนใต้อาจมีปริมาณถึง 10 ล้านตัน
ไม่น่าแปลกใจที่จีนก็พยายามเข้ามาทำข้อตกลงด้านเหมืองแร่และความมั่นคงกับกรีนแลนด์เช่นกัน
(3)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้พื้นที่กว้างใหญ่ของกรีนแลนด์อุ่นขึ้น เปิดโอกาสทางการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ รวมถึงช่องทางการค้าผ่านทะเลอาร์ติกในอนาคต แม้ปัจจุบัน 80% ของพื้นที่จะปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งและอุณหภูมิในฤดูหนาวต่ำกว่า -15 องศาฟาเรนไฮต์ แต่สภาพอากาศอาจเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายในกลางศตวรรษนี้
ดังนั้น ทั้งในเหตุผลด้านยุทธศาสตร์และด้านเศรษฐกิจ จึงทำให้ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจอสังหาฯ สนใจ อย่างไรก็ตาม การใช้กลยุทธ์บีบบังคับผ่านการเตรียมขึ้นภาษีกับเดนมาร์กที่เป็นผู้ครองดินแดนนี้ และไม่ปฏิเสธการใช้กำลังทหาร
บ่งชี้ว่าทรัมป์อาจสามารถดึงวาระด้านการเมืองระหว่างประเทศ ถอยกลับจากยุคการตั้งกำแพงภาษีไปสู่ยุคล่าอาณานิคมได้
ในยุคทรัมป์ 2.0 ไม่มีอะไรแน่นอน แต่ที่แน่นอนคือ ความปั่นป่วนด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองโลกจะมีมากขึ้น ท่านผู้อ่านรัดเข็มขัดแล้วหรือยัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 มกราคม 2568