ASEAN 2025 ภายใต้การนำของมาเลเซีย | ASEAN Insight
จับตา ASEAN 2025 ภายใต้การนำของมาเลเซีย ยังคงเผชิญปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องร่วมกันแก้ไข ทั้งข้อพิพาททะเลจีนใต้ เสถียรภาพในเมียนมา และประเด็นเศรษฐกิจ-ความมั่นคงในภูมิภาค
ปี 2025 ครบรอบ 10 ปี การก่อตั้ง ASEAN Community ณ วันนี้การเดินทางของอาเซียนมาถึงปลายของ “ASEAN Community Vision 2025: Forging Ahead Together” แม้ยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นทางการว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อาเซียนประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในหมุดหมายใดบ้าง แต่ปีที่ผ่านมาที่ประชุมอาเซียนได้มีมติที่จะร่าง “ASEAN Community Vision 2045: Resilient, Innovative, Dynamic, and People-Centred ASEAN” ซึ่งจะเริ่มต้นนับหนึ่งของวิสัยทัศน์ใหม่ภายใต้การนำของมาเลเซียในปี 2568
การสลับหมุนเวียนตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นโอกาสสำคัญที่แต่ละประเทศจะแสดงบทบาทในภูมิภาคผ่านนโยบายต่างประเทศควบคู่ไปกับวาระภายในประเทศ ในปีนี้ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้สื่อสารไปยังชาวมาเลเซียผ่านสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า
“สถานการณ์ที่ซับซ้อนของโลกในปัจจุบันทำให้อาเซียนต้องกำหนดบทบาทและทิศทางใหม่ เป็นความรับผิดชอบครั้งสำคัญของมาเลเซียในการกระชับอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการลดช่องว่างแก้ปัญหาให้ผู้ยากไร้และคนชายขอบ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญรุ่งเรืองในอาเซียนเป็นไปอย่างเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ก่อนจะก้าวเข้าไประดับภูมิภาคและตลาดต่างประเทศได้ มาเลเซียต้องมีการจัดการภายในที่ดี มีธรรมาภิบาล และขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป เพื่อให้มาเลเซียเป็นชาติอธิปไตยที่มีเอกราชและเชื่อถือได้”
ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศแถลงให้คำมั่นว่า “จะนำพาอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่สันติ มีเสถียรภาพ และมั่งคั่ง มุ่งเสริมสร้างความเป็นแกนกลางของอาเซียน ความเชื่อมั่นระหว่างสมาชิก ผ่านการทูตและเจตจำนงที่ดี เพื่อยกระดับการค้าและการลงทุนระหว่างกันในอาเซียน” ภายใต้แนวคิดหลัก (Theme) “ครอบคลุมและยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) โดยเป็นที่คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีประเด็นท้าทายบทบาทประธานอาเซียนที่น่าจับตามอง ดังนี้
การบริหารจัดการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับประเทศนอกภูมิภาค ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอันวาร์ อิบราฮิม ปรับทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการรักษาดุลแห่งอำนาจทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มีความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นในฐานะประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าการค้าสูงสุดของมาเลเซีย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนโดยตรงจากจีนในภาคการขนส่งและพลังงาน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนจากจีนในด้านพลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการยกระดับกลไกอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าจากมาเลเซียไปจีน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ประเทศในอาเซียนจะมีบทบาทในตลาดโลกมากขึ้นจากการเข้าร่วมกับกลุ่ม BRICS เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตลาดใหม่ซึ่งไม่มีขั้วอำนาจฝั่งตะวันตกอยู่ด้วย โดยอินโดนีเซียได้เข้าเป็นสมาชิก (Full member) ขณะที่มาเลเซียและไทยได้เข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการ
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลใหม่ของสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งยังไม่มีทิศทางนโยบายที่แน่ชัดต่อบทบาทในอาเซียน รวมถึง CPTPP ยิ่งไปกว่านั้นคือ การรับมือกับมาตรการทางการค้ารูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้น จึงสร้างความท้าทายถึงการรักษาสมดุลในการจัดการความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคท่ามกลางท่าทีที่แตกต่างกันของสมาชิกอาเซียน
กรณีทะเลจีนใต้ เป็นปัญหาคลาสสิกของอาเซียน เนื่องจากมีบทบาทของประเทศมหาอำนาจนอกภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้อง มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ จึงเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ต้องอาศัยการรักษาผลประโยชน์ของภูมิภาคและความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ในการคลี่คลายปัญหา
เสถียรภาพในเมียนมา ส่งผลกระทบต่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ประกอบกับเส้นทางการนำเข้า-ส่งออกสินค้าบางจุดยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ต่อห่วงโซ่อุปทานอาเซียนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หลายปีที่ผ่านมานานาประเทศพยายามใช้กระบวนการเจรจาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ
ประเด็นเศรษฐกิจและความมั่นคงรูปแบบใหม่ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ หรือผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งหลายกรณีเกิดผลกระทบข้ามพรมแดน
ปี 2025 จึงเป็นปีที่อาเซียนกำลังก้าวไปสู่หมุดหมายใหม่ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลาล้วนเป็นโจทย์ท้าทายต่อบทบาทของประธานอาเซียนในการสร้างเอกภาพระหว่างสมาชิกและก้าวต่อไปด้วยกันอย่างมั่นคง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 15 มกราคม 2568