บีโอไอ ถกกลุ่มยานยนต์ เล็งคลอดมาตรการใหม่ ดึงค่ายรถยนต์ใช้ชิ้นส่วนในไทย
บีโอไอ หารือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เล็งจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทของไทยมากขึ้น หวังช่วยเอสเอ็มอี กระตุ้นจ้างงาน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ กำลังหารือร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มีการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตโดยบริษัทของไทย หรือโครงการสนับสนุน Thai Content เพื่อช่วยผู้ผลิตในประเทศไทยให้ขายและผลิตสินค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทในระดับเอสเอ็มอี
ขณะเดียวกันเพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (Global Supply Chain) บีโอไอได้สนับสนุนผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยหลายด้าน ได้แก่ การจัดให้มีการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการต่างประเทศ จัดหาผู้ผลิตชิ้นส่วน (Sourcing Service) และสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมไทยร่วมงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมนานาชาติ รวมทั้งจัดกิจกรรมการพัฒนาเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Industrial Linkage Activity) จัดสัมมนาให้ความรู้เพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
รวมทั้งจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต (SUBCON THAILAND) SUBCON THAILAND 2024 โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนร่วมออกงานกว่า 160 บริษัท ภายในงานมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 7,060 คู่ สร้างมูลค่าการซื้อขายได้ประมาณ 22,500 ล้านบาทซึ่งบีโอไอจะมีการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
ส่วนประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่าอยากให้บีโอไอเข้ามาช่วยดูเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน จะต้องมีเงื่อนไขให้ต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และการผลิตในประเทศนั้น ยอมรับว่า บีโอไอให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในการสนับสนุนให้นักลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยใช้ Local Content เพื่อส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศ
สำหรับการออกแบบนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่กำหนดให้ใช้ Local Content บีโอไอได้นำมาใช้ในหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้ง EV 3 และ EV 3.5 ที่กำหนดให้มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 30% รวมทั้งในการผลิตรถยนต์ไฮบริดทั้งรถยนต์ Hybrid (HEV) และ Mild Hybrid (MHEV) ที่มีมาตรการส่งเสริมก็ต้องมีการเงื่อนไขการผลิตและประกอบชิ้นส่วนสำคัญในไทยตามเงื่อนไขที่กำหนด
ขณะที่แนวความคิดการสนับสนุนให้สำนักงานใหญ่ (Headquarter) ของบริษัทข้ามชาติไปตั้งในต่างจังหวัดนั้น เห็นว่าเรื่องนี้จะต้องพิจารณาทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ อีกส่วนหนึ่งคือความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำธุรกิจ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ต้องมีความพร้อม ซึ่งทั้งสองสิ่งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 16 มกราคม 2568