เอกชน-นักวิชาการ ชำแหละปัจจัยเสี่ยง เขย่าเศรษฐกิจไทยปี 68
ปี 2568 เป็นปีที่หลายภาคส่วน กังวลว่าจะเจอปัจจัยลบรอบด้านอีกปี และอาจหนักหน่วงกว่าเดิมโดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชนของรัฐบาลที่อาจล่าช้า ไม่ตรงจุด
ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” ประมวลความเห็นของภาคเอกชน และนักวิชาการ ที่สะท้อนถึงความกังวลอย่างตรงไปตรงมา
5 ปัจจัยรั้งเศรษฐกิจไทย :
นายพงศ์เทพ เทพบางจาก รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี กล่าวว่า มี 5 เรื่องที่จะมีผลเขย่าความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทย หากรัฐไม่เข้ามาแก้ปัญหาโดยเร่งด่วนที่สุดได้แก่
(1)การเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจทุกระดับทั้งภาคประชาชนและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงระดับเกือบร้อยละ 90 ต่อจีดีพี หากปล่อยให้เป็นแบบที่ผ่านมา ซึ่งต่อให้รัฐอัดฉีดเงินเข้าไป 100 ประชาชนจะเหลือใช้ในระบบเพียง 10 อีก 90 ตกไปอยู่ที่สถาบันการเงิน ซึ่งไม่กล้าปล่อยกู้ออกมาเพิ่มเติม จึงไม่ทำให้เกิดการหมุนเวียนพอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
ขณะฝั่งผู้ประกอบการต้องเผชิญปัญหาเพิ่ม ซึ่งนอกจากกำลังซื้อของประชาชนและเงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงแล้ว ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้านำเข้า โดยเฉพาะจากจีนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน ทั้งในลักษณะออฟไลน์และออนไลน์
“การค้าแบบออนไลน์ ถ้ารัฐบาลไทยไม่มีวิธีรับมือที่ดี จะยิ่งทำให้เงินจากการค้าขายแบบนี้ไม่ได้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจไทย แต่จะถูกส่งต่อไปต่างประเทศโดยตรงทันทีที่ซื้อขายสินค้ากัน”
(2)ผลกระทบจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน น่ากังวลหากรัฐบาลไทยรับมือได้ไม่ดี เพราะมีทั้งด้านที่เป็นบวกและลบในเรื่องเดียวกันไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง หรือด้านการค้าขาย ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้นำไทยและผู้กำกับดูแลนโยบายคือ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญแล้วผลลัพธ์จะดีเอง
(3)ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพัฒนาการศึกษา ที่ควรเน้นเชิงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลทุกชุดรู้ดีว่าต้องรีบทำ แต่ไม่มีใครอยากทำ เพราะผลลัพธ์ของเรื่องนี้กว่าจะสำเร็จอายุของรัฐบาลก็อาจสิ้นสุดไปแล้วส่งผลให้คะแนนความสามารถด้านการศึกษาของไทยเกือบรั้งท้ายในภูมิภาค
“ดูเหมือนว่าวัฏจักร โง่-จน-เจ็บ กำลังวนเวียนกลับมาหลอกหลอนอีกหลังจากหายไปหลายสิบปี”
(4)หลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่สั่นคลอนมากขึ้น ๆ จนทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทั้งในการบังคับใช้กฎหมายและการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม หากไม่รีบแก้ไขจะเกิดความไม่สงบสุขในสังคมและส่งผลต่อเศรษฐกิจ
(5)การทุจริตคอรัปชั่น หลายคนเคยสรุปไว้ว่าเป็นต้นตอของหลาย ๆ ปัญหา สถานการณ์เรื่องนี้ดูไม่ดีนัก อันดับของประเทศไทยในประเด็นนี้ยังอยู่ในลำดับที่เกินกว่า 100 จาก 180 ประเทศ ยิ่งปี 2566 เทียบปี 2565 กลับยิ่งแย่ลงไปอีก ต้องยอมรับว่าคอรัปชั่น เป็นตัวฉุดรั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจเช่นกัน
สถานะฐานผลิตยังน่าห่วง :
นายพงศ์เทพ ยังประเมินภาพรวมฐานการผลิตไทยว่า ในการผลิตอุปสรรคต่อฐานการผลิตที่สำคัญคือต้นทุนผลิตหลายอย่างของไทยในวันนี้ อย่าว่าแต่ไทยสู้จีนไม่ได้ หลายประเทศทั่วโลกก็สู้จีนไม่ได้ เพียงแต่ว่านโยบายในการรับมือแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ของไทยอาจมีวิธีการรับมือที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ การใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรหลายโรงงานจึงเริ่มลดน้อยถอยลง เมื่อผลิตน้อยต้นทุนต่อหน่วยก็สูงขึ้นแข่งขันไม่ได้ หลายโรงงานปิดตัวบ้าง ย้ายฐานการผลิตบ้าง
ฉะนั้นเราต้องมาทบทวนกันใหม่ภาครัฐต้องกล้าใช้มาตรการเหมือนอย่างหลายประเทศใช้ปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องพัฒนาตัวเองด้วยเช่นกัน ถ้าไม่ทำทั้งสองด้านอุตสาหกรรมการผลิตของไทยก็คงไม่สามารถฟื้นกลับมาได้
สหรัฐขึ้นภาษี-จุดชนวนเทรดวอร์รอบใหม่ :
ด้าน นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย กล่าวว่า เรื่องที่จะมีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจไทยคือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ คือ การเตรียมปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทุกประเทศ เฉพาะกับประเทศจีนที่จะเพิ่มภาษีนำเข้าสูงถึง 60% อาจเป็นการจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้า รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกในรอบใหม่
ในส่วนของประเทศไทย สหรัฐอาจขึ้นภาษีนำเข้าในช่วง 10-20% ทั้งนี้รัฐบาลไทยควรเตรียมการเจรจากับทางสหรัฐ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย ซึ่งปัจจุบันสินค้ากลุ่มหลักที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐ อยู่ในกลุ่มนํ้ามันปิโตรเลียม แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์ต่าง ๆ รวมถึงรายการอื่น ๆ ที่ไทยจะสามารถนำเข้าจากสหรัฐฯได้ในอนาคต
ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและยูเครนยังยืดเยื้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและเสถียรภาพของตลาดการเงินโลก ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์เป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลโดยตรงกับต้นทุนการผลิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน หรือ ต้นทุนการขนส่งสินค้า วัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องนำมาใช้ในการผลิต ไทยอาจต้องรับมือในการเตรียมหาแหล่ง Supply ทางเลือกในหลายภูมิภาคของประเทศมาทดแทนในการผลิตสินค้าต่างๆ
ห่วงภัยคุกคามทางไซเบอร์รุนแรงขึ้น :
นอกจากนี้ความเสี่ยงจากระบบดิจิทัลก็สำคัญ เพราะการรวมศูนย์ของบริการและเทคโนโลยีในมือของผู้ให้บริการรายใหญ่ ทำให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบและภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่รุนแรงขึ้น ความเสี่ยงจากระบบดิจิทัลทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้จาก ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในปี 2567 มีสถิติการรับแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์สูงถึง 5.7 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 65,000 ล้านบาท รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับมาตรการต่าง ๆ ที่จะป้องกันภัยคุกคามจากทางไซเบอร์
สินค้าจีนทะลักโลก :
ส่วนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีน ที่ยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับโครงสร้างจากการพึ่งพาการผลิตเพื่อส่งออก ไปสู่การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนยังคงไม่ฟื้นตัว การคาดการณ์ GDP ของจีนในปี 2025 ถูกปรับลดจาก 4.5% เหลือเพียง 4% อีกทั้งยังถูกแรงกดดันจากสหรัฐในการขึ้นภาษีกับสินค้าที่มาจากจีนในอัตราที่สูง
ส่งผลให้จีนยังคงต้องระบายสินค้าไปยังตลาดประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งรวมถึงไทยด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่ไม่มีมาตรฐาน รัฐควรเตรียมการ และมีมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าก่อนที่จะมีการจำหน่ายในประเทศไทย โดยตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น
2 แสนล้านกระตุ้นดีมานด์ :
สอดคล้องกับที่ ศาสตราจารย์ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระ ที่แสดงความเป็นห่วงว่า ความล่าช้าในการแก้ปัญหาด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลจะกลายเป็นปัญหาในการบริหารจัดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่ทันเวลา ไม่ถูกทาง และไม่เหมาะสม โดยส่วนตัวเห็นด้วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างดีมานด์ เพียงแต่ควรกระตุ้นในปริมาณเงินที่เหมาะสม ใช้งบประมาณ 2 แสนล้านบาทก็น่าจะเพียงพอ โดยให้มีเงื่อนไขต้องเสริมสร้างทักษะแรงงานเข้าไปด้วย
นอกจากนี้รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เวลานี้การให้ใบอนุญาตของภาครัฐมีหลายกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขาย-ลงทุน เช่นเดียวกับสินค้าคุณภาพตํ่าไม่ว่าจากจีนหรือจากประเทศใดก็ตามก็ต้องนำเครื่องมือที่มีออกมารับมืออย่างจริงจัง ทันเวลา ตรงเป้าหมาย ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
“เวลานี้ภาพใหญ่สะท้อนชัดเจนว่าเศรษฐกิจไม่ดีเลย โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ตกตํ่ามาก ฐานการผลิตมีปิดกิจการ ลดคน ลดกำลังการผลิต ภาพรวมเวลานี้น่าจะจัดอยู่ในแดนน่าเป็นห่วงถ้าไม่รีบรับมือหรือเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้าน”
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 16 มกราคม 2568