FTA สร้างแต้มต่อสินค้าไทย ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้า 80% ในปี 70
สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันและเป็นแต้มต่อให้กับการส่งออกของไทยในปี 2568 นี้ ที่ตั้งเป้าไว้โต 2-3% ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA ที่บังคับใช้แล้วทั้งหมด 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9) จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง นอกจากนี้ ฉบับที่ 15 ได้ลงนามอย่างไม่เป็นทางการ FTA ไทย-ศรีลังกา แล้ว รอให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม 2568 นี้
“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ถึงแผนการเปิดเจรจา FTA ของไทย และความคืบหน้าการอัพเกรดข้อตกลงต่าง ๆ ในปี 2568
ลุยกรอบ FTA ใหม่อีกหลายประเทศ :
กรมมีเป้าหมายและเดินหน้าการเจรจาความตกลง FTA ในหลายกรอบกับประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู), FTA ไทย-เกาหลีใต้, FTA ไทย-ภูฏาน, FTA ไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) นอกจากนี้ ยังมีการเจรจา FTA ในกรอบอาเซียน-แคนาดา ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่ตั้งเป้าจะสรุปให้ได้ในปี 2568
ส่วนความตกลงสินค้าของอาเซียน (ATIGA) อยู่ระหว่างดำเนินการ ขณะที่กรอบเจรจาที่ยกระดับสำเร็จแล้วคือ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อยู่ระหว่างการเข้าที่ประชุมรัฐสภาและให้สัตยาบันกับประเทศสมาชิก ส่วนกรอบอื่น เช่น FTA อาเซียน-จีน ยังคงความคืบหน้าและมีเป้าหมายที่ต้องการลงนามและให้สัตยาบันในเร็ว ๆ นี้
สำหรับ FTA อาเซียน-อินเดีย อยู่ระหว่างการพูดคุย, FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ กำลังอัพเกรดความคืบหน้า แต่ระหว่างนี้กรมมีเป้าหมายที่จะเดินหน้า FTA ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างสองประเทศ โดยได้เริ่มต้นพูดคุยกันเมื่อเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เจรจาไปแล้วสองรอบ และรอบล่าสุดคือเมื่อเดือนกันยายน 2567 ที่เกาหลีใต้ เบื้องต้นทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ในภายในปี 2568
“FTA ไทย-เกาหลีใต้ รอบที่สามคาดว่าในเร็ว ๆ นี้ เพื่อยกระดับกฎเกณฑ์ให้มีความทันสมัย ถ้าเป็นสินค้า บริการก็จะอัพจากกรอบเดิมที่ทำในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเหลือส่วนต่างประมาณ 10% สิ่งที่อยากได้คือเรื่องของการส่งออกสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ตั้งเป้าที่สรุปให้ได้ในปลายปี 2568 ซึ่งปีนี้เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคด้วย คาดว่าในกลางปีจะมีข้อสรุปให้เห็น”
FTA ไทย-ศรีลังกาเริ่มใช้ 1 มี.ค. :
ขณะที่การเจรจา FTA ไทย-ศรีลังกา ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นความตกลงซึ่งครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้า บริการ และลงทุน รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน ปัจจุบันไทยและศรีลังกาอยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าหมายอย่างไม่เป็นทางการให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2568 นี้
“ไทยเหลือการออกประกาศและรอฝั่งศรีลังกาให้ดำเนินการภายในให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ประกาศพร้อมกัน เนื่องจากศรีลังกามีการเปลี่ยนรัฐบาล”
FTA ไทย-อียูยังเจรจาต่อไป :
ส่วน FTA ไทย-อียู เริ่มเดินหน้าตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 มีการเจรจามาแล้ว 4 ครั้ง ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 มีความคืบหน้าเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ก็ยังมีหลายประเด็นที่เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในส่วนของการเปิดเจรจาสินค้า ตลาดสินค้าบริการ การลงทุน ความยั่งยืน รวมถึงมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้าง ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญไทยยังไม่เปิดให้กับประเทศคู่เจรจา เบื้องต้นอียูต้องการให้สามารถเข้ามาประมูลจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศได้ ซึ่งจะมีรายละเอียดเยอะ จำเป็นจะต้องหารืออย่างรอบคอบ
ส่วนการเปิดโอกาสให้ตลาดสินค้าไทย เช่น สินค้าแชมเปี้ยน สินค้าเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งการคุยต้องครอบคลุมในทุกเซ็กเตอร์ โดยการเจรจาครั้งที่ 5 อียูจะเป็นเจ้าภาพ การเจรจาส่วนใหญ่ยังเป็นในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสอยู่ ยังตอบไม่ได้ว่าจะสรุปได้เมื่อไร เพราะหากดูจากหลายประเทศที่มีการเจรจา เช่น อินโดนีเซียใช้ระยะเวลา 8 ปี หรือบางประเทศ 10 ปี ประเทศที่ยังเจรจาอยู่ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ทุกประเทศต่างต้องการให้ได้ข้อสรุปในการเจรจาโดยเร็ว ส่วนประเทศที่มีการเจรจาเสร็จแล้ว เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม
เป้าเพิ่มมูลค่าการค้าโต 80% :
ประเทศไทยมี FTA กับ 18 ประเทศคู่ค้าสำคัญ เมื่อดูสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นหนึ่งในสามของโลก และมีประชากรรวมกันกว่า 3,700 ล้านคน หรือ 47% ของประชากรทั้งโลก โดยเมื่อดูการค้าและการส่งออกของไทยกับ 18 ประเทที่มี FTA และมีสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าและการส่งออกของไทยกับโลก โดยตัวเลขในปี 2566 การค้ารวมของไทยกับประเทศ FTA ชะลอตัวจากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ
โดยการค้ารวมของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 343,906 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 60% ของการค้ารวมของไทย แบ่งเป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอรวม 167,545 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 59% ของการส่งออกรวมของไทย และการนำเข้าอยู่ที่ 176,361 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 61% ของการนำเข้ารวมของไทย
“ไทยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้ากับประเทศที่มี FTA ด้วย 80% ในปี 2570 หากไทยมีข้อตกลง EFTA บังคับใช้ ก็คาดว่ามูลค่าการค้ารวมจะเพิ่ม 1.72% หากสามารถเปิดเจรจาอียูได้จะทำให้มูลค่าเพิ่มขึ้นอีก 7% จึงเป็นเป้าหมายที่ไทยอยากเปิดเจรจาข้อตกลงด้วย”
อย่างไรก็ดี กรมก็จะพยายามให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเห็นถึงความสำคัญในการเข้าใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบเอฟทีเอต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นแต้มต่อสำคัญในการเดินหน้าผลักดันการส่งออก เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันหลายประเทศมีมาตรการต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมจะเดินหน้าจัดกิจกรรมอบรมทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการในการเข้ามาใช้สิทธิเอฟทีเอ
ซึ่งกรมร่วมมือกับสภาเกษตรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรต่าง ๆ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และยังคงมีโครงการให้ความรู้ผู้ประกอบการ แล้วอาจจะพาคณะเพื่อไปดูโอกาสในการส่งออก เป้าหมายกระจายทั่วทุกภูมิภาค และดูสินค้าดาวรุ่งที่จะใช้สิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น เช่น กาแฟ ปีที่แล้วให้ความสำคัญผู้ประกอบการนม
คุยกับสหรัฐแบบไม่มี FTA :
สำหรับการเปิดเจรจาการค้ากับสหรัฐ ด้วยจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ต้องการที่จะเปิดเจรจาเอฟทีเอ ดังนั้น การสร้างสัมพันธ์และพยายามรักษาระดับการค้า เป็นเรื่องที่กรมให้ความสำคัญ และพร้อมเดินหน้า พยายามดูความต้องการสินค้าที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ และเปิดเวทีในระดับนโยบาย เพื่อให้มีการพบปะพูดคุยเจรจาการค้า การลงทุน เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์และเอื้ออำนวยความสะดวกระหว่างกัน ซึ่งเป็นการเข้าไปคุยอย่างไม่ใช่ข้อตกลงอะไรที่เป็นการผูกมัด
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 17 มกราคม 2568