"ทรัมป์" จุดไฟ เทรดวอร์ลามโลก สหรัฐเอาแน่ขึ้นภาษี จี้ไทยตั้งทีมต่อรอง
โลกระทึก "ทรัมป์" ผู้นำใหม่สหรัฐ นักวิชาการชี้เอาแน่ขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% และสินค้าจากประเทศอื่น 10-20% จับตาลามเป็นสงครามการค้าโลก ไทย-เทศฟัดเดือดสินค้าจีน บิ๊กสภาอุตฯแนะรัฐตั้งทีมเจรจาต่อรองสหรัฐ หลังเกินดุลการค้าลำดับ 9 เสี่ยงถูกตอบโต้
วันที่ 20 มกราคม 2568 “โดนัลด์ ทรัมป์” จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ทุกสายตาทั่วโลกจดจ้อง จะเกิดอะไรกับโลกใบนี้นับจากนี้บ้าง เพราะก่อนหน้านี้ทั้งช่วงการหาเสียง และหลังชนะการเลือกตั้ง ทรัมป์ประกาศแนวนโยบาย และคำขู่ออกมามากมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบกับโลกในหลากหลายมิติ เฉพาะอย่างยิ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลก
โดยทรัมป์ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะขึ้นภาษีสินค้าจีน 60-100% และสินค้าจากประเทศอื่น 10-20% เพื่อลดการขาดดุลการค้า และยังขู่ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าจากกลุ่ม BRICS 100% หากยกเลิกเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการค้าขาย ด้านสิ่งแวดล้อมจะลดกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐ และจะยกเลิกเป้าหมายของไบเดน ที่สนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และให้คำมั่นที่จะเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิล โดยจะสั่งการให้เจาะน้ำมันเพิ่ม แทนการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
เอาแน่ตั้งกำแพงภาษีนำเข้า :
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในด้านการค้ามั่นใจว่าทรัมป์จะทำสงครามการค้ากับจีนในรอบใหม่อย่างแน่นอน โดยการเก็บภาษีสินค้าจีนเพิ่ม 60-100% จะเกิดขึ้นจริง ด้วยเหตุผล เพราะ
(1)ทรัมป์มีนโยบายในการลดการขาดดุลการค้ากับจีน และลดการพึ่งพาสินค้าจากจีนชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาสหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมากที่สุด และเป็นปัญหาทางการค้าที่เรื้อรังมานาน และเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี โดยเพิ่มจาก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 เป็น 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 และคาดในปี 2567 ล่าสุด สหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้ากับจีนในระดับ 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นเดิม
(2)ทรัมป์ต้องการลดบทบาทจีนในการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม BRICS ที่มีจีนและรัสเซีย เป็นหัวขบวนหลัก โดย BRICS (ที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกแล้ว) ต้องการลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินของโลกอย่างชัดเจน
ส่วนความเป็นไปได้ที่สหรัฐในยุคทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้าไทย และสินค้าจากทั่วโลกที่ส่งไปสหรัฐ 10-20% ก็มีความเป็นไปได้แน่นอน เพราะ 1.ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับทุกประเทศทั่วโลก ในส่วนไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ปี 2567 อยู่ที่ระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์ และในปี 2567 ก็ยังอยู่ระดับสูง(ม.ค.-พ.ย. 2567 ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ 32,287 ล้านดอลลาร์) และคาดว่าจากนโยบายทรัมป์เก็บภาษี 10-20% จะทำให้ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ 2.ทรัมป์ต้องการลดบทบาทจีนในอาเซียนและไทย โดยต้องการให้ไทยเปิดตลาดสินค้าสหรัฐฯ ในไทยมากขึ้น
ฉากทัศน์การค้า-ลงทุน ไทยมีได้-เสีย :
สำหรับฉากทัศน์ผลกระทบไทย-จีน และไทย-สหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ ในมิติด้านการค้าไทย-จีน ด้านผลบวก ไทยมีโอกาสพัฒนาสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐในตลาดจีน และผลลบ ไทยจะส่งออกจีนได้ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวและจีนส่งออกสินค้าเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น ด้านการค้าไทย-สหรัฐ ผลบวก สินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรแปรรูปมีโอกาสส่งไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐ ส่วนผลลบ สหรัฐหันไปซื้อสินค้าเวียดนามที่ถูกกว่าแทนสินค้าไทยมากขึ้น
มิติด้านการลงทุน ผลบวก จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่วนผลลบ SMEs ไทยจะปิดตัวมากขึ้นจากทุนจีนที่เข้ามา ส่วนกับสหรัฐ ผลบวก สหรัฐจะเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อทดแทนการลงทุนในจีน ผลลบ เวียดนามและอินโดนีเซียเป็นคู่แข่งไทยในการดึงทุนสหรัฐ
SMEs ส่อปิดตัวเพิ่มเร่งหาตลาดใหม่ :
“เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจจีนจะปรับตัวลดลง จากนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ อันเนื่องมาจากการเก็บภาษี สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยและตลาดโลกมากขึ้นกว่า เดิม จะเกิดสงครามราคาระหว่างสินค้าไทยและสินค้าประเทศอื่นกับสินค้าจีน โอกาสที่ SMEs ของไทยปิดตัวลงจะมีมากขึ้น และการว่างงานจะเพิ่มขึ้น”
สำหรับข้อเสนอภาครัฐ-เอกชนไทย ในการรับมือยุคทรัมป์ 2.0 มีดังนี้
(1)เร่งหาตลาดอื่นชดเชยสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของทรัมป์
(2)หาโอกาสนำสินค้าไทยไปทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐ
(3)หาหุ้นส่วนสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อทดแทนการลงทุนจีนในไทย
(4)เจรจาสหรัฐเรื่องความร่วมมือมาตรฐานสินค้าเพื่อเปิดโอกาสการพัฒนาสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ และ
(5)บริหารปรับลดต้นทุนในการผลิตของสินค้าไทยที่ส่งไปขายสหรัฐฯ เพื่อชดเชยในส่วนที่ถูกเก็บภาษีทรัมป์
โลกชะงักหากทำตามพูดน่ากลัว :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทุกคนกำลังใจจดใจจ่อกับการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของโดนัลด์ ทรัมป์อย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม รวมถึงนโยบายหรือมาตรการที่ทรัมป์จะดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ตามที่ได้หาเสียงไว้ว่าจะทำได้จริง หรือเข้มข้นแค่ไหน อย่างไรก็ดีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของทรัมป์ มองว่าจะมีการขึ้นภาษีแน่ แต่จะขึ้นด้วยวิธีไหน อย่างไร ช้าหรือเร็ว เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะสิ่งที่ทรัมป์ได้พูดไว้มีผลทางจิตวิทยาคนทั้งโลกชะงักหมด ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย
“เวลานี้แม้แต่ประเทศพันธมิตรของสหรัฐคือยุโรป(ที่อาจถูกขึ้นภาษีสินค้าด้วย) ทูตยุโรปในไทยก็มีการพูดคุยกันกับผม ต่างคนก็คาดเดาไม่ถูกว่าทรัมป์มาแล้วจะทำตามที่พูดไว้หรือเปล่า กี่ส่วน จะทำร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือทำแค่บางกลุ่มบางเรื่อง แต่หากทำเหมือนกับที่พูดไว้ทุกอย่างก็น่ากลัว เพราะจะส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกอย่างแน่นอน ตรงนี้คือสิ่งที่ทุกคนกังวล”
ไทยเสี่ยงเกินดุลการค้าอันดับ 9 :
อย่างไรก็ดีมีหลายอย่างที่ทรัมป์ประกาศและย้อนแย้งกับข้อเท็จจริง เช่นจะขึ้นภาษีสินค้าจีน และสินค้าจากประเทศต่าง ๆ ในขณะที่สหรัฐยังไม่สามารถผลิตสินค้านั้นได้ ซึ่งการขึ้นกำแพงภาษีจะส่งผลให้สินค้าในสหรัฐแพงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ซึ่งเวลานี้เงินเฟ้อของสหรัฐยังสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2% เวลานี้อยู่ที่ 2.7-2.8% อาจจะสูงขึ้นเป็น 3% ดอกเบี้ยก็จะลดไม่ได้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมีมหาศาล ทั้งที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในครั้งนี้ คือการประกาศจะเข้ามาบริหารจัดการในเรื่องเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ซึ่งต้องติดตามว่าปัญหาเหล่านี้ทรัมป์จะแก้อย่างไร
ประธาน ส.อ.ท.ยังได้แสดงความกังวลกรณีไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐในลำดับที่ 12 ในปี 2566 แต่ล่าสุดในปี 2567 เลื่อนขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 9 ของประเทศที่ได้ดุลหรือเกินดุลการค้าสหรัฐ ซึ่งหมายถึงไทยได้ดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าที่ทรัมป์จะจับตาดูเป็นพิเศษ และอาจถูกใช้มาตรการตอบโต้เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อไทย
“โดนัลด์ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ และเป็นนักเจรจาต่อรอง และจะใช้การเจรจาแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี หรือเจรจาระหว่างประเทศต่อประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบ “หมูไปไก่มา” ในเรื่องนี้เราจะต้องเป็นนักต่อรองที่เก่ง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องร่วมมือกัน เช่น การหานักการตลาด หรือผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดไปล็อบบี้ หรือตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง”
ทุนจีนทะลักไทยผลดีอสังหาฯ :
ด้าน นายสุรเชษฐ กองชีพ หน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟิลด์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า กลุ่มคนจีนที่เข้ามาในประเทศไทยในปี 2568 ที่จะเข้ามาลงทุนหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย มีความเป็นไปได้ที่จะมากกว่าในปีที่ผ่านมา ทั้งตลาดคอนโดมิเนียม บ้านแนวราบทั้งในตลาดเช่าและซื้อขาย จากหลาย ๆ ปัจจัยทั้งในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นไปในทิศทางที่ดี
อย่างไรก็ดีจากนโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่มีผลต่อการส่งออกสินค้า และเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้นักลงทุนจีนได้เข้ามาในไทยมากขึ้น ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังทราบผลว่าทรัมป์จะได้เป็นผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ ประเมินว่า จะส่งผลดีต่ออสังหาริมทรัพย์ไทย
จับตาทรัมป์เร่งนโยบายคริปโต :
วอชิงตัน โพสต์ รายงาน คาดว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เตรียมออกคำสั่งบริหารเกี่ยวกับนโยบายคริปโตในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง โดยคำสั่งบริหารที่จะออกมานั้นมุ่งเน้นไปที่กฎระเบียบด้านคริปโตและปกป้องนักลงทุนคริปโตจาก “ระบบราชการที่ล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพในวอชิงตัน”
หนึ่งในคำสั่งสำคัญที่คาดว่าจะออกมาคือ “การจัดตั้งกองทุนสำรองบิตคอยน์เชิงยุทธศาสตร์” โดยสถาบันนโยบาย
บิตคอยน์ได้ร่างคำสั่งให้บิตคอยน์เป็นสินทรัพย์สำรองเชิงกลยุทธ์ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีการยกเลิกนโยบายบัญชีคริปโตที่มีข้อถกเถียง ซึ่งกำหนดให้ธนาคารที่ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัลต้องนับเป็นหนี้สินในงบดุลของธนาคาร รวมถึงแก้ไขปัญหาการปิดกั้นบริการธนาคาร
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 17 มกราคม 2568