พาณิชย์ ปลื้ม ตัวเลขเศรษฐกิจการค้าปี 67 สร้างสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
KEY POINTS
* การส่งออก ปี 67 มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.4% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,548,759 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
* จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) มีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2.69% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์
* ปี 67 ต่างชาติลงทุนไทย 954 ราย นำเงินเข้า 2.28 แสนล้าน ญี่ปุ่นครองแชมป์
* การค้าชายแดน-ผ่านแดนปี 67 มูลค่า 1,815,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
* ยอดส่งออกข้าวไทยปี 67ปริมารณ 9.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% นำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 225,656 ล้านบาเฉียด 10 ล้านตัน ปริมาณสูงที่สุดในรอบ 6 ปี
กระทรวงพาณิชย์ ได้สรุปภาพรวม"เศรษฐกิจการค้า"การลงทุน ตลอดทั้งปี 2567
โดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานตัวเลขการส่งออก ตลอดทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) ว่า การส่งออก มีมูลค่า 300,529.5 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.4% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 1-2% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,548,759 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ การนำเข้า มูลค่า 306,809.8 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 6.3% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,896,480 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 6,280.4 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 347,721 ล้านบาท
ส่วนปี 2568 ตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 2-3% มูลค่า 306,504 -309,545 ล้านดอลลาร์ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงในระดับปัจจุบัน แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงไทยมากขึ้น และการเร่งส่งเสริมการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเชื่อมโยงเข้ากับสินค้าส่งออกเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้เป็นที่จดจำในระดับโลก
ในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รายงานสถิติการการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ ทั้งปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) มีจำนวน 87,596 ราย เพิ่มขึ้น 2.69% ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ ตั้งแต่มีการจดทะเบียนมา
มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ได้แรงหนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุนภาครัฐ มีทุนจดทะเบียน 285,745 ล้านบาท ลดลง 49.20% เพราะปี 2566 มีบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1 แสนล้านบาท 2 ราย คือ การควบรวมทรูกับดีแทค และการแปรสภาพบิ๊กซี โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร
โดยตลอดทั้งปี 2567 มีนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ที่มีทุนจดทะเบียนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 15 ราย ทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 45,558 ล้านบาท เช่น ธุรกิจ Data Center รับเหมาก่อสร้างอาคาร ค้าส่งและค้าปลีก และโรงพยาบาล เป็นต้น
สำหรับปี 2568 กรมได้คาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจใหม่อยู่ที่ 90,000-95,000 ราย เพิ่มขึ้น 2-4% โดยมีปัจจัยบวกจากการเติบโตเศรษฐกิจในปี 2568 ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้ที่ 2.3-3.3% เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.0% การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว
การจัดกิจกรรมและเทศกาลสำคัญภายในประเทศ การขยายตัวของการลงทุน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น การส่งออกสินค้ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามสภาวะเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตสร์ ความไม่แน่นอนของนโยบายทรัมป์ 2.0
ด้านจำนวนต่างชาติลงทุนในไทย โดยในปี 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 954 ราย เพิ่มขึ้น 43% เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 228,106 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% และจ้างงานคนไทย 5,040 คน
ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ญี่ปุ่น 254 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 121,190 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจขายอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น โดยในปี 2567 ญี่ปุ่น เป็นนักลงทุน ที่เข้ามาลงทุนในไทยสูงสุด และยังมีมูลค่าการลงทุนสูงสุดด้วย
ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุน 301 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปี 2567 เพิ่มขึ้น 124% มูลค่าการลงทุน 56,490 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 46%
โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 103 ราย ลงทุน 20,593 ล้านบาท จีน 72 ราย ลงทุน 12,107 ล้านบาท ฮ่องกง 20 ราย ลงทุน 5,698 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 106 ราย ลงทุน 18,092 ล้านบาท ส่วนธุรกิจที่ลงทุนในพื้นที่ EEC เช่น ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม (อุตสาหกรรมยานยนต์) ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน ธุรกิจบริการชุบแข็ง และธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เป็นต้น
ด้านกรมการค้าต่างประเทศ ได้รายงานภาพรวมการค้าชายแดนและผ่านแดนปี 67 มีมูลค่า 1,815,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% ถือเป็นปีทองของการค้า และยังเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 4% ต่อปี
โดยในจำนวนนี้ แยกเป็นการส่งออก 1,048,479 ล้านบาท เพิ่ม 6.9% และการนำเข้า 767,188 ล้านบาท เพิ่ม 5.1% โดยไทยได้ดุลการค้า 281,291 ล้านบาท สำหรับในปี 2568 ตั้งเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าเป็น 1.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%
ขณะที่ตัวเลขการส่งออกข้าวไทย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย กรมการค้าต่างประเทศได้สรุปตัวเลขส่งออกข้าวไทย ปี 67 ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 9.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 13% นำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 225,656 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% หรือประมาณ 6,434 ล้านดอลลาร์ โดยปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปี 2567 สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 9 ล้านตัน และเป็นปริมาณส่งออกข้าวไทยที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2561
อันเป็นผลมาจากความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อรองรับกับความต้องการบริโภค ชดเชยผลผลิตที่ลดลง บรรเทาผลกระทบจากเงินเฟ้อด้านอาหาร และเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศผู้ซื้อ และอินเดียมีมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ค.2566 ต่อเนื่องถึงเดือน ต.ค.2567 ส่งผลให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวขาวจากอินเดียพิจารณานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับข้าวที่ไทยส่งออกได้มากที่สุด คือ ข้าวขาวปริมาณ 5.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 23% คิดเป็น 60% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิไทย 1.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 3.57% ข้าวนึ่ง 1.27 ล้านตัน ลดลง 7.97% ข้าวหอมไทย 0.63 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 21.15% ข้าวเหนียว 0.30 ล้านตัน และข้าวกล้อง 0.02 ล้านตัน
ทั้งนี้ ไทยยังสามารถส่งออกข้าวไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปีก่อนในเกือบทุกภูมิภาคส่วนเป้าการส่งออกในปี 68 โดยกรมและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้คาดการณ์ร่วมกันว่าการส่งออกข้าวไทยในปี 2568 จะมีประมาณ 7.5 ล้านตัน
ทั้งหมดนี้คือภาพรวมทั้งปีของตัวเลขเศรษฐกิจทางการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเห็นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 67 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี ถือว่า ปีนี้เป็นปีทองการค้าของไทยอีกปีหนึ่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2568