"เทรดวอร์" รอบใหม่กระทบ 23 อุตสาหกรรม กกร.ชงรัฐสกัดสินค้าจีนทะลักไทย
KEYPOINTS
* สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มขึ้น "ทรัมป์" ใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก-แคนาดา-จีน และจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตร
* กกร. เผยกลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แล้วรวม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยปีนี้จะกระทบเป็น 30 กลุ่ม
* เอกชนกังวลว่าสินค้าจีนจะไหล่บ่ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้นแม้กระทรวงอุตฯ จะให้ความสำคัญกับการสกัดสินค้าไม่ได้มาตรการเต็มที่ แต่ต้องบูรณาการร่วมกับอีกหลายหน่ายงาน
* สิ่งสำคัญคือรัฐบาลไทยจะต้องทำคือ ตั้งวอร์รูมที่มีทั้งรัฐและเอกชนเป็น “ทีมไทยแลนด์” และจ้างล็อบบี่ยิสต์เก่ง เพราะเป็นกลไกที่สำคัญ
สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแล้วหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดาและจีน ท่ามกลางการตอบโต้คืน โดยเฉพาะจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตร
![](https://tvfa.or.th/webimages/2025026193619.png)
ในขณะที่รัฐบาลไทยมีแผนที่จะเจรจาสหรัฐที่มีแนวโน้มขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย 10% หลังจากไทยได้ดุลการค้าสหรัฐต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบอีกด้านมาจากการประเมินแนวโน้มสินค้าของสหรัฐ
การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 5 ก.พ.2568 ได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีการประเมินถึงกรณีที่สินค้าจีนถูกสหรัฐกีดกัน และทำให้จีนหันมาส่งออกไปประเทศอื่นมากขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธานการประชุม กกร.กล่าวว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้วและกระจก เครื่องสำอาง รวม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยปีนี้จะกระทบเพิ่มเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรม
รายงานข่าวระบุว่า กกร.และกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมผลกระทบจากการนำเข้า ผลกระทบต่อการผลิตและผลกระทบต่อชั่วโมงทำงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ
กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก :
มีผลกระทบจากการนำเข้าต่อผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งผลกระทบการผลิตต่อโลหะขั้นมูลฐาน และผลกระทบชั่วโมงทำงานต่อผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์
กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ :
มีผลกระทบจากการนำเข้าต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่มีผลกระทบการผลิตต่อการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน
กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม :
มีผลกระทบจากการนำเข้าต่อข้าวและผลิตภัณฑ์จากแป้ง, ผักและผลไม้, นมและผลิตภัณฑ์นม, กาแฟ ชา และเครื่องเทศ, ขนมหวานและช็อกโกแลต รวมทั้งมีผลกระทบการผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ธัญพืช
นอกจากนี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสหกรรมอลูมิเนียม, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และหัตถกรรมสร้างสรรค์
อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์จากหนัง, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
หวั่นผลกระทบทางอ้อมสินค้า“จีน”ทะลัก :
\
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความกังวลผลกระทบทางอ้อมเพราะจีนคือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกและได้ดุลการค้าสหรัฐตลอด โดยปี 2566 สหรัฐมีมาตรการกีดกันเข้มข้นจึงลดสัดส่วนการส่งออกไปถึง 20% จากเดิมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไหล่บ่าของสินค้าจีนมาในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสกัดสินค้าไม่ได้มาตรการเต็มที่ แต่ยอมรับว่ามีหลายงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบูรณาการร่วมกัน
เปิด 6 แนวทางเตรียมรับผลกระทบ :
นายเกรียงไกร กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่ทำให้การค้าโลกได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐอาจไหลทะลักกลับมาที่ไทยและประเทศคู่ค้าของไทย ทำให้แข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น
ดังนั้น กกร.จึงเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ดังนี้
1)การเจรจาระดับรัฐเพื่อป้องกันและบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐรวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน
2)การสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐ
3)การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน
4)การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping :AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้า และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522
เข้ม Freezone ป้องกันสินค้าทะลัก :
5)การควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้าและวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ
6)การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการ เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทยไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ
แนะเร่งจ้างล็อบบี้ยิสต์เจรจาสหรัฐ :
ขณะที่ผลกระทบทางตรงที่สหรัฐอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย นายเกรียงไกร กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์หารือกับสหรัฐ ถือเป็นนโยบายเชิงลึกถือว่าแอคทีฟ เพราะทรัมป์มีความชัดเจนเรื่องการแลกเปลี่ยน “หมูไปไก่มา”ซึ่งไทยได้ดุลการค้าอยู่ที่อันดับที่ 11 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2562 จากระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นปี 2567 กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงอยู่ในข่ายที่โดนจับตา
ดังนั้น สิ่งสำคัญคือรัฐบาลไทยจะต้องเร่งคุยเพื่อต่อรอง ซึ่งเอกชนเสนอรัฐบาล 2 เรื่อง คือ
1)ตั้งวอร์รูมที่มีทั้งรัฐและเอกชนเป็น “ทีมไทยแลนด์” ซึ่ง กกร.ส่งหนังสือถึง น.ส.แพทอง ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อตั้งรับผลกระทบเพราะเอกชนมีข้อมูล
2)เสนอจ้างล็อบบี่ยิสต์เก่ง เพราะเป็นกลไกที่สำคัญ ทุกประเทศจ้างหมดอย่าช้าเพื่อไม่ให้โดนประเทศอื่นแย่งคนเก่งไปและไทยจะได้ล็อบบี้ยิสต์เทียร์ 2 หรือเทียร์ 3
ดังนั้น กรณีนี้ที่ประกาศขึ้นภาษีประเทศอื่นอาจเป็นประโยชน์ต่อไทย เพราะเม็กซิโกส่งออกสหรัฐ 77% เมื่อโดนขึ้นภาษีสินค้าจะแพงขึ้น ทำให้สินค้าจากเอเชียรวมถึงไทยมีโอกาสแข่งขันในสหรัฐในช่วงสั้น
สำหรับประเด็นที่ภาครัฐให้เพิ่มการนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐ1 ล้านตัน คิดเป็นเงินไทยราว 7,000 ล้านบาท ถือว่าไม่าก ซึ่งยังมีกากถั่วเหลืองและพืชเกษตรอื่นๆ อีก ซึ่งเท่าที่ดูสหรัฐอยากขายอาวุธและเครื่องบินที่เป็นสินค้าของสหรัฐที่ต้องคุยแลกเปลี่ยนด้วย
กกร.หวังนายกฯ เจรจาจีน :
ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเจรจากับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เข้าใจว่าการเดินทางไปคือการไปพัฒนาความสัมพันธ์ แต่ก็หวังว่านายกรัฐมนตรี จะหยิบเรื่องเศรษฐกิจมาหารือ เพราะเป็นคู่ค้าสำคัญกันมานาน
รวมทั้งอาจจะยกประเด็นการย้ายฐานการผลิตของโรงงานจีนให้มาอยู่ในไทยโดยใช้วิธีร่วมธุรกิจเป็นพันธมิตร โดยให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งไม่ถือเป็นนอมินีเพื่อลดการถูกจับตาจากสหรัฐได้
“เอกชนยังยืนยันให้ตั้งวอร์รูมเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ” นายเกรียงไกร กล่าว
“รัฐบาล”ตั้งทีมเกาะติดสินค้าทะลัก :
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหารคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการในการรับมือต่อไป รวมทั้งจับตาการตัวเลขสินค้านำเข้าจากต่างประเทศว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
โดยเฉพาะสินค้าจีนที่มีแนวโน้มว่าจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้นจากสงครามการค้าครั้งใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่ได้ทำให้เกิดสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามาในทันที แต่อยู่ที่ความต้องการสินค้าในประเทศด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากรจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบจัดเก็บจากแพลตฟอร์มโดยตรงที่มีการขายสินค้านำเข้าในไทย โดยตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 220 ล้านบาทต่อเดือน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568