ครบรอบ 50 ปี สัมพันธ์ไทย-จีน ย้อนรอยตัวเลขการค้าพาเศรษฐกิจโต
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-จีน จากประเทศมิตรสหายกลายมาเป็นคู่ค้าได้อย่างไร ? ตัวเลขการค้าระหว่างไทย-จีน ประสบความสำเร็จแค่ไหน พร้อมจับตานายกรัฐมนตรีแพทองธารเยือนจีนครั้งแรกมุ่งจัดการ 3 วาระ เศรษฐกิจ ความปลอดภัย และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน
ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยจีนมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตกของจีนมีบันทึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาติไทย และความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับจีน ซึ่งมีการติดต่อทางการค้าระหว่างกัน โดยไทยได้รับเทคโนโลยีเครื่องปั้นดินเผามาจากจีนในช่วงเวลานั้น
หลังจากมีการอพยพของชาวจีนในช่วงสงครามสมัยราชวงศ์หยวน และต้นราชวงศ์หมิง ทำให้ไทยและจีนมีการติดต่อค้าขายกันมาตลอด และมีชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากในไทยมากขึ้น
โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกและสงครามกลางเมืองของจีนช่วงปี 2473 มีชาวจีนจำนวนมากจากมณฑลทางใต้ อาทิ กวางตุ้ง ไห่หนาน ฝูเจี้ยน และกวางสี หลบหนีภัยสงครามและความอดอยากเข้ามาสร้างชีวิตใหม่ในประเทศไทย จึงนับได้ว่าความสัมพันธ์ของไทยและจีนใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน
จากพี่น้องสู่คู่ค้า :
แม้ว่าความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานอาจจะได้รับผลกระทบทางการเมืองโลกในยุคสงครามเย็น ทำให้เลิกติดต่อกันในระยะหนึ่ง แต่ด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปี 2518 ทำให้ความสัมพันธ์เดิมถูกสานต่อและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า การทหาร การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวัฒนธรรม
ทศวรรษให้หลัง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าก็ได้มาเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประกอบกับการที่ผู้นำประเทศไทย อาทิ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เดินทางไปเยือนจีนและเข้าพบเหมา เจ๋อตุง ประธานาธิบดีจีน (2518) และนายเติ้ง เสี่ยวผิงมาเยือนไทย (2521)
รวมถึงผู้นำอีกหลายท่านมาเยือนไทยตลอดช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับผู้นำไทยได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนจีนอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นแรงผลักดันสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือและเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างทั้งสองประเทศให้เพิ่มพูนมากขึ้น
ปี 2531 หลังจากที่จีนได้เริ่มดำเนินโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ความร่วมมือของทั้งสองประเทศก็ได้รับการพัฒนาและขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้านการค้า มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปีแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไว้ที่ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็น 64,223 ล้านเหรียญสหรัฐ
ปี 2553 ความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-จีนเข้มข้นขึ้น จากการบังคับใช้ความตกลงทางการค้าเสรีอาเซียนเมื่อเดือนมกราคม ก่อนที่จะถูกยกระดับขึ้นในปี 2562 ด้วยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน จากการร่วมมือของไทย-ลาว-จีน
และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (EEC) รวมทั้งการมีกลไกคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน นอกจากนี้ ยังมีความตกลงทางการค้าอื่น ๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ความตกลงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีนมีมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน
-ข้อตกลงทางการค้า (2521)
-พิธีสารว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-จีน (2521)
-ข้อตกลงว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน (2528)
-ความตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (2528)
-ความตกลงเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อน (2529)
-ข้อตกลงความร่วมมือด้านวัฒนธรรมไทย-จีน (2544)
-ความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน (2546)
-ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (2546)
-บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ (2546)
-ลดภาษีการค้าครั้งแรก ไทยได้เปรียบ 468 ล้าน
ปี 2546 มีการลงนามความตกลงเร่งลดภาษีสินค้าผักและผลไม้ระหว่างไทย-จีน จากการที่รัฐบาลเห็นถึงศักยภาพด้านการค้าระหว่างกันในสินค้าเกษตร ช่วยลดอุปสรรคด้านภาษีในการค้าสินค้าผักและผลไม้ (สินค้าพิกัดภาษี 07-08) ทำให้มีการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้า 116 รายการ
ผลลัพธ์จากความร่วมมือในครั้งนี้ การค้าสินค้าเกษตรภายใต้พิกัด 07-08 ระหว่างไทยและจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2546-2548 การค้าสินค้าเกษตรไทย-จีนมีมูลค่ารวม 820.12 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.88 ในปี 2547 และร้อยละ 39.81 ในปี 2548 (มกราคม-กันยายน) ทำให้ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าพิกัด 07-08 อันดับ 1 ของจีน สัดส่วนร้อยละ 48
ปี 2547 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรพิกัด 07-08 ไปจีนคิดเป็นมูลค่า 286.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.32 เมื่อเทียบกับปี 2546 และในปี 2548 (มกราคม-ตุลาคม) ไทยส่งออกจีนมูลค่า 299.03 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะเดียวกัน การนำเข้าสินค้าจากจีนในปี 2547 มีมูลค่า 76.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.92 เมื่อเทียบกับปี 2546 และในปี 2548 (มกราคม-กันยายน) ไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 73.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกสินค้า จะเห็นได้ว่าไทยได้เปรียบดุลการค้าถึง 468.26 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไทย-จีน ร่วมค้าผ่าน FTA :
ปี 2548 หลังจากความสำเร็จในข้อตกลงทางการค้าที่ทำร่วมกันใน 2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement) หรือ ACFTA โดยมีสินค้านำร่องมาตั้งแต่ปี 2546 ก่อนจะทยอยลดภาษีของสินค้าที่เหลือเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด มีอัตราภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ จัดออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
(1)สินค้านำร่อง ได้แก่ ผัก ผลไม้ สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์นมและไข่ เป็นต้น ทั้งสองฝ่ายลดภาษีเหลือศูนย์แล้วตั้งแต่ปี 2549 โดยสินค้าที่ไทยได้ประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 400 และสินค้าประมง ซึ่งมีอัตราการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 290
(2)สินค้าอ่อนไหว ที่ทั้งสองฝ่ายต้องการเวลาปรับตัว จึงมีระยะเวลาการลดและยกเลิกภาษีนานกว่าสินค้าปกติ โดยลดอัตราภาษีลงเหลือไม่เกินร้อยละ 20 ในวันที่ 1 มกราคม 2555 และในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะต้องลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น แป้ง ข้าวสาลี น้ำผลไม้ โพลีเอสเตอร์ ยางรถยนต์ รองเท้ากีฬา ของเล่น กระจก ตู้เย็น ตู้แช่ เครื่องรับโทรทัศน์ ไมโครเวฟ แบตเตอรี่
และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น กาแฟ ใบยาสูบ ขนสัตว์ ฝ้าย ปลายข้าว แป้งข้าวเจ้า สับปะรดแปรรูป กระดาษ โพลีเอสเตอร์ กระปุกเกียร์สำหรับยานยนต์ และถุงลมนิรภัย เป็นต้น โดยสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการลดภาษีของจีน เช่น ใบยาสูบ กาแฟ ฝ้าย สับปะรดแปรรูป และโพลีเอสเตอร์
(3)สินค้าอ่อนไหวสูง มีจำนวนรายการสินค้าไม่เกินร้อยละ 40 หรือ 100 รายการของสินค้าอ่อนไหวทั้งหมด (พิกัดศุลกากร 6 หลัก) แล้วแต่ว่าเงื่อนไขใดส่งผลให้มีรายการสินค้าอ่อนไหวสูงน้อยกว่า โดยสามารถคงอัตราภาษีไว้ได้จนถึง 1 มกราคม 2558
หลังจากนั้นต้องลดภาษีมาอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 50 โดยครอบคลุมสินค้าของฝ่ายไทย เช่น สินค้าเกษตร 23 รายการที่มีโควตาภาษี (อาทิ นม ครีม มันฝรั่ง กระเทียม ไหมดิบ) หินอ่อน และสินค้าของฝ่ายจีน เช่น ข้าวโพด ข้าว พืชน้ำมัน น้ำตาล กระดาษ ด้ายใยสังเคราะห์ กระดาษแข็ง
โดยจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าการค้า ส่งออก-น้ำเข้า และการขาดดุลการค้า ดังนี้
ปี 2562
มูลค่าการค้า 79,440 ล้านดอลลาร์
ส่งออก 29,169 ล้านดอลลาร์
นำเข้า 50,270 ล้านดอลลลาร์
ขาดดุลการค้า 21,101 ล้านดอลลาร์
ปี 2563
มูลค่าการค้า 79,613 ล้านดอลลาร์
ส่งออก 29,813 ล้านดอลลาร์
นำเข้า 49,800 ล้านดอลลลาร์
ขาดดุลการค้า 19,967 ล้านดอลลาร์
ปี 2564
มูลค่าการค้า 103,818 ล้านดอลลาร์
ส่งออก 37,265 ล้านดอลลาร์
นำเข้า 66,553 ล้านดอลลลาร์
ขาดดุลการค้า 29,287 ล้านดอลลาร์
ปี 2565
มูลค่าการค้า 105,196 ล้านดอลลาร์
ส่งออก 34,430 ล้านดอลลาร์
นำเข้า 70,766 ล้านดอลลลาร์
ขาดดุลการค้า 36,336 ล้านดอลลาร์
ปี 2566
มูลค่าการค้า 104,964 ล้านดอลลาร์
ส่งออก 34,164 ล้านดอลลาร์
นำเข้า 70,800 ล้านดอลลลาร์
ขาดดุลการค้า 36,635 ล้านดอลลาร์
ปี 2567
มูลค่าการค้า 94,919.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยมีสินค้านำเข้าสินค้าจากจีน 10 อันดับ ได้แก่
เครื่องจักรไฟฟ้า มูลค่า 6,891 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องจักรกล มูลค่า 5,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เคมีภัณฑ์ มูลค่า 4,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน มูลค่า 3,678 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า 3,021 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 2,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินแร่และโลหะอื่น ๆ มูลค่า 2,265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์โลหะ มูลค่า 1,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่า 1,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แผงวงจรไฟฟ้า มูลค่า 1,599 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จับตา 3 วาระ นายกฯเยือนจีน
เป็นเวลาเกือบ 50 ปี สำหรับการเป็นพันธมิตรระหว่างประเทศที่ยาวนานและแน่นแฟ้น รัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ได้มีการสานต่อความสัมพันธ์นี้ โดยมีการนำคณะเยือนจีนในวันนี้-8 กุมภาพันธ์ 2568 ด้วยเป้าหมายในการผลักดันและติดตามความร่วมมือสำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่
ด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ให้เร่งส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะในสาขาแห่งอนาคตที่สำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและดิจิทัล เช่น EV, Semiconductor, Data Centre
ด้านความปลอดภัย และการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยกระดับมาตรการต่าง ๆ โดยไม่ยอมให้ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติใช้ไทยเป็นทางผ่าน โดยเฉพาะแก๊ง Call Center อย่างใกล้ชิด
ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั้ง 2 ประเทศ ให้เร่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความพร้อมต่ออนาคต และให้สนับสนุนการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม Soft Power และรวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับแพนด้ายักษ์คู่ใหม่จากจีน ในฐานะทูตสันถวไมตรี
และการเดินทางครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะหารือกับผู้นำจีน ทั้ง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง, นายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทั้งการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และสังคม ในโอกาสครบรอบปีทองแห่งมิตรภาพไทย-จีน ครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน, สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง, หอการค้าไทย-จีน และสำนักบริการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568