ผลสำรวจ ผู้ผลิตสหรัฐส่วนใหญ่คาดว่า อาจมีการเลิกจ้างในเวียดนาม จากภาษีทรัมป์
หอการค้าสหรัฐ (AmCham) ในเวียดนามสำรวจบริษัทมากกว่า 100 แห่ง ปรากฏว่าผู้ผลิตเกือบ 2 ใน 3 คาดการณ์ว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงาน หากประธานาธิบดีทรัมป์ใช้มาตรการภาษีกับเวียดนาม
รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ผลสำรวจของหอการค้าสหรัฐ (AmCham) ในเวียดนามระบุว่า ผู้ผลิตสหรัฐส่วนใหญ่อาจถูกบีบให้เลิกจ้างพนักงาน หากรัฐบาลทรัมป์ใช้มาตรการภาษีต่อเวียดนามที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออก
หอการค้าสหรัฐสำรวจในศูนย์กลางธุรกิจของเวียดนามอย่างนครโฮจิมินห์และดานัง ระหว่างวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอนุมัติมาตรการภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ไปแล้ว และได้ประกาศจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้ หรือต่างตอบแทน (reprocical tariffs) สำหรับประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐ และมาตรการภาษีเฉพาะกลุ่มสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ และยา
AmCham กล่าวว่า ในบรรดาผู้ผลิตเกือบ 2 ใน 3 คาดว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงาน โดยตั้งข้อสังเกตว่าเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวลดลงเหลือไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนบริษัททั้งหมด ทั้งนี้ ผลสำรวจจัดทำขึ้นตามข้อมูลจากบริษัทที่เป็นสมาชิก AmCham ในเวียดนามกว่า 100 ราย ซึ่งรวมถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น อินเทล (Intel) และไนกี้ (Nike)
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานขนาดใหญ่ของบริษัทข้ามชาติสหรัฐได้ประโยชน์จากการลงทุนครั้งใหญ่ของผู้ผลิตที่ย้ายฐานจากจีน หลังจากที่ทรัมป์ใช้ภาษีศุลกากรกับจีนเมื่อปี 2018 ในช่วงดำรงตำแหน่งวาระแรก
จากข้อมูลของรัฐบาลเวียดนามที่อัพเดตเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2025 ระบุว่าการลงทุนจากต่างประเทศมูลค่า 5 แสนล้านดอลลาร์ของประเทศ (ราว 16.7 ล้านล้านบาท) มากกว่า 60% อยู่ในภาคการผลิต
ที่ปรึกษาการลงทุนที่มีประสบการณ์ยาวนานในเวียดนาม ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ทุกคนต่างคาดหวังว่าจะมีปัญหา แต่ไม่คิดว่าทรัมป์จะขู่ใช้ภาษีศุลกากรแบบตอบแทนมาก่อน เนื่องจากเป็นมาตรการที่แปลกประหลาดอย่างมาก
นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า เวียดนามอาจกลายเป็นเป้าหมายของภาษีใหม่เนื่องจากมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐจำนวนมาก ถือเป็นอันดับ 4 ในบรรดาหุ้นส่วนการค้าของสหรัฐ และอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป) เนื่องจากเวียดนามเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกชิปรายใหญ่ไปยังสหรัฐ
นอกจากนี้ การสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 81% แสดงความกังวลเกี่ยวกับภาษีศุลกากรที่อาจเกิดขึ้น โดยเปอร์เซ็นต์เพิ่มขึ้นเป็น 92% ในกลุ่มผู้ผลิต และธุรกิจหลายแห่งกลัวว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและบีบให้ต้องพิจารณาทบทวนการดำเนินการใหม่ โดยระบุว่าผู้ผลิตร้อยละ 94 คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบ
และ 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังพิจารณาเลือกตลาดอื่นนอกตลาดสหรัฐ ซึ่งตลาดสหรัฐมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับเวียดนามในขณะนี้ “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้บริษัทต่าง ๆ เปลี่ยนไปส่งออกตลาดอื่น หรือปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการพึ่งพาสหรัฐ” AmCham กล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568