เศรษฐกิจอเมริกาส่อชะลอตัว ผลพวงจาก "ทรัมป์" ?
"โดนัลด์ ทรัมป์" ประกาศอย่างอหังการในระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อ 20 มกราคมที่ผ่านมาว่า "ยุคทองของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นนับตั้งแต่บัดนี้"
แต่ถึงตอนนี้ บรรดานักลงทุนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ไม่เพียงไม่สามารถสัมผัสได้ถึง “ยุคทอง” ที่ว่านี้เท่านั้น แต่ยังเกิดความรู้สึกไปในทางตรงกันข้ามอีกด้วย เมื่อตัวเลขทางเศรษฐกิจหลายตัวพากันบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของทรัมป์กำลังเผชิญกับภาวะชะลอตัว เศรษฐกิจของประเทศกำลังเข้าสู่ยุคอ่อนแอ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่การมาถึงของทรัมป์ กับสารพัดนโยบายประหลาดพิกลยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจโดยรวมให้ทรุดตัวลงหนักข้อมากยิ่งขึ้นไปอีก
แน่นอนภายในระยะเวลาสั้น ๆ สภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจย่อมยังไม่ปรากฏให้เห็นเป็นตัวเลขที่ชัดเจน กระนั้นความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาให้เห็นแจ่มชัดอย่างยิ่งในผลสำรวจทางด้านเศรษฐกิจหลายต่อหลายชิ้น
ตัวอย่างเช่น การสำรวจความรู้สึก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งเคยถูกจับตามองจากนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์โดยรวมอย่างมาก พบว่าระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2023 เลยทีเดียว
ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจอีกชิ้น ที่จัดทำแยกเป็นอิสระจากกัน นั่นคือการสำรวจความคาดหวังของผู้บริโภค โดย “คอนเฟอเรนซ์ บอร์ด” ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยทางด้านธุรกิจในสหรัฐอเมริกา โดยผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวโน้มในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือความคาดหวังของผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ดิ่งลงอย่างชัดเจน ลงไปอยู่ในระดับเดียวกับที่แสดงให้เห็นถึงความคาดหวังที่ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะ “ติดลบ” นั่นเอง
ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นด้วยว่า สิ่งที่ประชาชนอเมริกันวิตกกังวลใหญ่หลวงที่สุดก็คือ การที่อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง สืบเนื่องจากความกระหายใคร่อยากที่จะใช้พิกัดอัตราภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ โดยเฉพาะหลังจากที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศจะบังคับใช้การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดาเป็น 25% และเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% ในวันที่ 4 มีนาคมนี้
บางส่วนของความกังวลในใจผู้บริโภคอเมริกัน เริ่มแสดงออกให้เห็นเป็นพฤติกรรมในความเป็นจริงกันบ้างแล้ว ตัวอย่างเช่น ยอดขายในธุรกิจค้าปลีกเดือนมกราคมที่ผ่านมาอ่อนตัวลงอย่างไม่คาดฝัน ยอดรวมของการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนดังกล่าวลดลง 0.5% เมื่อนำไปเทียบกับช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้า ปริมาณการลดลงดังกล่าวถือว่าเป็นการลดลงสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปีเลยทีเดียว
นอกเหนือจากในส่วนของค้าปลีกแล้ว ความกังวลที่ว่านี้ยังแสดงออกให้เห็นได้ในส่วนของตลาดแรงงาน นั่นคือตัวเลขการอ้างสิทธิตามหลักประกันการว่างงานในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มสูงขึ้นเป็น 242,000 คน ซึ่งถือเป็นระดับการว่างงานสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 เป็นต้นมา
ในขณะเดียวกัน บรรดานักลงทุนเองก็เริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกเชิงลบนี้แล้วเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยพุ่งสูงขึ้น ต้อนรับการกลับมารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จากความคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบาย ยกเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ และการยกเว้นการเรียกเก็บภาษี กลับมีดัชนีลดต่ำลงมากถึง 2%ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ที่สำคัญที่สุดก็คือ ธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา หรือเฟด สาขาแอตแลนตา เพิ่งเผยแพร่คาดการณ์แนวโน้มของจีดีพีในช่วงไตรมาสแรกของปีออกมา ชี้ให้เห็นว่าจีดีพีของสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2025 ติดลบมากถึง 1.5% พลิกผันจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ชนิดจากหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้จะโทษทรัมป์เพียงฝ่ายเดียวย่อมไม่ถูกต้องนัก เพราะข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ยังไม่ทันที่นโยบายของผู้นำใหม่จะถูกนำมาบังคับใช้แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้ที่ว่า การสำรวจใด ๆ ดังกล่าวข้างต้นอาจถูกการเมืองเข้าครอบงำ หากผู้ตอบเป็นเดโมแครต อารมณ์ความรู้สึกย่อมหดหู่เป็นธรรมดา เช่นเดียวกับที่ผู้ตอบเป็นผู้สนับสนุนรีพับลิกันย่อมยินดีปรีดา ตรงกันข้ามกับที่เคยรู้สึกเมื่อครั้ง โจ ไบเดน ยังเป็นประธานาธิบดี
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอยู่ในสภาวะ “สูง” ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ ยอดขายบ้านที่กำลังจะปิดการขาย (Pending Home Sales) ในเดือนมกราคมร่วงลงถึงจุดต่ำสุด นับตั้งแต่ปี 2001 อันเป็นปีแรกที่มีการเก็บตัวเลขที่ว่านี้เลยทีเดียว
กระนั้น ผลสำรวจเหล่านี้ก็ยังมีบางส่วนที่แสดงให้เห็นแนวโน้มที่เด่นชัด และสะท้อนนัยสำคัญที่ว่า ยิ่งนานไปความกังวลในใจของนักลงทุนและผู้บริโภคนี้ก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น การที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงออกให้เห็นถึงท่าทีที่พร้อมที่จะใช้กำแพงภาษีเล่นงานไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรหรือฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการยึดมั่นกับหลักการของลัทธิกีดกันทางการค้ามากยิ่งกว่าใคร รวมถึงแม้กระทั่งตัวทรัมป์เองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งครั้งแรก
แนวโน้มดังกล่าวในทรรศนะของ “มอร์แกน สแตนลีย์” จะส่งผลให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทั้งการบริโภคและการผลิตของประเทศ โดยเชื่อว่ามาตรการทางการค้าที่เอาแน่นอนไม่ได้นี้ จะส่งผลให้จีดีพีของสหรัฐอเมริกาหายไปถึง 1% อันเป็นผลมาจากการลดการบริโภคลงของผู้บริโภค พร้อม ๆ กับที่องค์กรธุรกิจก็ชะงักหรือชะลอการลงทุน
ในขณะเดียวกัน ร่างรัฐบัญญัติงบประมาณของทรัมป์ ซึ่งเพิ่งผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ให้ความหวังในทางบวกใด ๆ โดยเฉพาะในส่วนของการลดภาษีที่หลายคนคาดหวัง เนื่องจากมีข้อกำหนดเพียงแต่การยืดเวลาการลดภาษีที่เคยใช้เมื่อปี 2017 มาใช้ โดยไม่มีการขยายฐานให้กว้างขวางขึ้นแต่อย่างใด ทั้งยังส่งผลให้การขาดดุลของสหรัฐยังมหาศาลอยู่ที่ 7% ของจีดีพีต่อไป
แม้แต่แนวโน้มโดยรวมทั่ว ๆ ไปก็ยังส่งผลเชิงลบต่อทรัมป์ เช่น แนวโน้มการออมของผู้บริโภคที่คาดว่าจะกลับมาสูงขึ้น หลังจากกระหน่ำใช้เงินออมในช่วงโควิดหมดไป ซึ่งจะทำให้การบริโภคลดลง ตลาดหลักทรัพย์ที่เคยบูมกำลังจะปรับตัวครั้งใหญ่ ยิ่งส่งผลลบต่อการบริโภคและการลงทุนมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ยังชะงักงัน เพราะอัตราดอกเบี้ยยังสูงอยู่ถึงเกือบ 7% ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 20 ปีอยู่ต่อไป
แนวโน้มเหล่านี้สามารถทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศ เพียงแต่การมาของทรัมป์ทำให้การชะลอตัวเกิดเร็วขึ้นและหนักหน่วงขึ้นเท่านั้นเอง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 4 มีนาคม 2568