การสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพ จากบทเรียนผู้นำระดับโลก
สตาร์ตอัพยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่ ประเทศที่สามารถพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่งมักก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกไม่ยากนัก การศึกษาความสำเร็จของระบบนิเวศสตาร์ตอัพชั้นนำของโลก แสดงให้เห็นว่าการผสมผสานของการสนับสนุนจากรัฐบาล เครือข่ายเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการเข้าถึงบุคลากรที่มีความสามารถ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของสตาร์ตอัพ
โดยระบบนิเวศสตาร์ตอัพชั้นนำของโลกที่น่าสนใจ ประกอบไปด้วย
(1)สิงคโปร์ :
รัฐบาลของสิงคโปร์ส่งเสริมนวัตกรรมอย่างจริงจัง ทั้งการให้เงินทุน การให้คำปรึกษา และทรัพยากรสำหรับผู้ประกอบการ กฎระเบียบทางธุรกิจที่เป็นมิตร สิทธิประโยชน์ทางภาษี สิงคโปร์เป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัพมากกว่า 4,500 รายสร้างมูลค่ารวมมากกว่า 4.9 ล้านล้านบาท และสร้างแผนการลงทุน 5 ปี มูลค่าราว 25,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม AI หน่วยงานของรัฐมีบทบาทในการดึงดูดบุคลากรระดับโลก โดยมีการมอบทุนและสิ่งจูงใจเพื่อสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการ อีกทั้ง กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่ง และตลาดการเงินที่มีการควบคุมอย่างดี ช่วยให้สตาร์ตอัพมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเติบโต
(2)อินโดนีเซีย :
ระบบนิเวศสตาร์ตอัพของอินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็ว มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2022 มีมูลค่าราว 2.6 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 4.4 ล้านล้านบาท ภายในปี 2025 มีสตาร์ตอัพมากกว่า 2,600 บริษัท รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกโครงการเชิงกลยุทธ์เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพจำนวนมาก ส่งเสริมการใช้ระบบอัตโนมัติและ AI ในอุตสาหกรรมต่างๆ มีบริษัทร่วมทุนระดับโลก เช่น Sequoia Capital และ SoftBank ได้ลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในสตาร์ตอัพของอินโดนีเซีย ทำให้เกิดการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วน
(3)จีน :
จีนมีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นมากกว่า 244 บริษัท เป็นศูนย์กลางของสตาร์ตอัพที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมีมูลค่ามากกว่า 242 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 40% ของ GDP ระบบนิเวศสตาร์ตอัพของจีนได้รับประโยชน์จากตลาดภายในประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน รัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมนวัตกรรมผ่านกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และนโยบายสนับสนุนด้าน AI เซมิคอนดักเตอร์ และการวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep tech) และยังได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากสถาบันวิจัยที่แข็งแกร่ง และบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมาก
(4)อินเดีย :
ในปี 2024 อินเดียมีสตาร์ตอัพมากกว่า 125,000 ราย มีระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก ดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทร่วมทุนได้มากกว่า 4.7 ล้านล้านบาท มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นมากกว่า 110 บริษัท มูลค่ารวมกันกว่า 11.9 ล้านล้านบาท การเติบโตนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะและเร่งการเติบโตมากกว่า 1,400 แห่ง รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักลงทุนรายย่อยและบริษัทร่วมทุนที่เน้นให้การสนับสนุนในระยะเริ่มแรก (Seed stage) อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติอินเดีย มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ตอัพโดยมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 2,600 แห่ง ในปี 2024
(5)เยอรมนี :
เยอรมนีมีสตาร์ตอัพมากกว่า 30,000 บริษัท ผลิตยูนิคอร์นมากกว่า 50 บริษัท มูลค่ารวมกันกว่า 8.6 ล้านล้านบาท เป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในสตาร์ตอัพ โดย 25% ของเงินทุนทั้งหมดมาจากนักลงทุนต่างชาติ รัฐบาลลงทุนราว 38.6 พันล้านบาท ในสตาร์ตอัพระยะเริ่มต้น (Early stage) และมีเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะและเร่งการเติบโตมากกว่า 400 แห่ง ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม Climate-tech และส่งเสริมการพัฒนา AI โดยงบประมาณมากกว่า 176.2 พันล้านบาท มีบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วย AI มากกว่า 300 แห่ง
(6)สหรัฐอเมริกา :
ซิลิคอนแวลลีย์เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ในปี 2024 สหรัฐเป็นที่ตั้งของสตาร์ตอัพมากกว่า 80,000 ราย และยูนิคอร์นกว่า 700 ราย ซึ่งมีมูลค่ารวมกันมากกว่า 102.3 ล้านล้านบาท ระบบนิเวศสตาร์ตอัพของสหรัฐได้รับประโยชน์จากบุคลากรที่มีทักษะสูง โดยมีบัณฑิตด้าน STEM มากกว่า 4.5 ล้านคนเข้าสู่ตลาดแรงงานทุกปี อีกทั้ง ตลาดการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ของสตาร์ตอัพมีความเคลื่อนไหวสูง โดยในปี 2023 บริษัทสตาร์ตอัพมากกว่า 1,000 รายถูกซื้อกิจการจากบริษัทขนาดใหญ่ รวมมูลค่ากว่า 5 ล้านล้านบาท
การสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพจากบทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากประเทศชั้นนำ
การถอดบทเรียนจากประเทศตัวอย่างที่กล่าวไป ประเทศไทยเองก็มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นหนึ่งในประเทศที่น่าดึงดูดและเป็นมิตรกับสตาร์ตอัพมากที่สุดในโลกได้เช่นกัน โดยเสาหลักสำคัญสามประการสำหรับการสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัพที่มีประสิทธิภาพและเติบโต มีดังนี้
1)การสนับสนุนจากรัฐบาลที่เข้มแข็งและการลงทุนในนวัตกรรม
ดำเนินนโยบายที่ลดอุปสรรคทางกฎหมาย เสนอสิทธิประโยชน์ทางการเงิน ดึงดูดผู้ประกอบการจากต่างประเทศ การจัดตั้งกองทุนการลงทุนภาครัฐสำหรับสตาร์ตอัพ ช่วยให้มีเงินทุนสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับธุรกิจใหม่ๆ การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อผลักดันนวัตกรรม เช่น AI บล็อกเชน หรือเทคโนโลยีสีเขียว จะทำให้ประเทศไทยยังคงสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
2)การเข้าถึงเงินทุนและการพัฒนาตลาดร่วมทุนที่มีพลวัต
สร้างการกระตุ้นให้บริษัทร่วมทุนและนักลงทุนรายย่อยเข้ามามีบทบาทในตลาดการระดมทุนของสตาร์ตอัพ มาตรการลดหย่อภาษีสำหรับนักลงทุนรายย่อยเพื่อกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจระยะเริ่มต้น (Early stage) และการดึงดูดเงินทุนทั้งในและต่างประเทศ จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยลดความเสี่ยงของการลงทุนในสตาร์ตอัพและเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ การพัฒนาของตลาดหลักทรัพย์สำหรับสตาร์ตอัพจะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินทุนจากสาธารณะได้
3)การพัฒนาทักษะและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับนวัตกรรม
เพิ่มการลงทุนในด้านการศึกษา STEM การฝึกอบรมทักษะดิจิทัล เสริมสร้างศูนย์นวัตกรรมที่นำโดยมหาวิทยาลัยเพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยกับการเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมความร่วมมือที่แน่นแฟ้นระหว่างภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา เพื่อให้แน่ใจว่าไทยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น AI ฟินเทค ไบโอเทค และการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและแข่งขันในระดับโลกได้ โอกาสของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพระดับโลก
หากประเทศไทยเรียนรู้จากประเทศผู้นำด้านสตาร์ตอัพระดับโลก สร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมนวัตกรรม ดึงดูดการลงทุน นโยบายภาครัฐที่เข้มแข็ง ระบบร่วมทุนที่มีโครงสร้างที่ดี และการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ จะเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางสตาร์ตอัพที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างมั่นคงในเวทีโลก
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 มีนาคม 2568