ภารกิจคมนาคมครึ่งหลังปี 68… ลุยปลดล็อกทุกเมกะโปรเจ็กต์!!
เปิดปี 2568 มา 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) กระทรวงคมนาคม ต้องเจอกับหลายเหตุการณ์ที่ต้องมีการแก้ไข ปรับเปลี่ยน รวมทั้งเร่งทบทวนความเข้มงวดของกฎระเบียบให้เพิ่มขึ้น
แม้จะมีหลายอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือแม้กระทั่งภัยธรรมชาติเข้ามาทดสอบการทำงานอยู่เรื่อยๆ แต่ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า คมนาคมพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างประชาชน และพร้อมแก้ปัญหารอบด้านเมื่อเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เพื่อให้การเดินทางนั้นปลอดภัย
รวมถึงยังมีอีกหลายโครงการที่กำลังดำเนินการ และพร้อมที่จะพลิกโฉมระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางของประเทศไทย ให้สะดวก ทันสมัย ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไทย และยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชน
ซึ่งเวลาที่เหลืออีก 8 เดือน (พฤษภาคม-ธันวาคม 2568) นายสุริยะและทีมผู้บริหารกระทรวงคมนาคมการันตีว่าประชาชนจะได้เห็นความสำเร็จของหลายโครงการใหญ่ตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้แน่นอน
⦁ถอดบทเรียนรถบัสคว่ำ-เข้มความปลอดภัย
เหตุการณ์สลดรับต้นปี เริ่มจากเหตุรถบัสพลิกคว่ำตกข้างทางบริเวณเขาศาลปู่โทน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก โดยเป็นคณะศึกษาดูงานจากเทศบาลตำบลพรเจริญ จ.บึงกาฬ ซึ่งภายหลังเหตุการณ์นี้ กระทรวงคมนาคม โดย นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ลงดาบเข้มความปลอดภัยเพิ่มขึ้นกับการเดินรถโดยสาร ทั้งของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงเข้มงวดกับการจัดระเบียบพนักงานคนขับรถ
ภายหลังหน่วยงานเข้มกฎระเบียบกว่าเดิม พบว่าจากข้อมูลสถิติรถโดยสารที่เกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 วันที่ 9-16 เมษายน 2568 รวม 8 วัน พบว่ารถโดยสาร บขส.อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ขณะที่รถร่วมฯเกิดอุบัติเหตุ 3 ครั้ง บาดเจ็บ 31 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เริ่มมีสัญญาณบวกมากขึ้น
โดยกระทรวงคมนาคมยังคงกำชับพนักงานรถโดยสารให้ความสำคัญด้านมาตรการความปลอดภัยในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุ
⦁เตรียมความพร้อมรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
ขณะที่นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟฟ้าทุกสาย นายสุริยะ ระบุการดำเนินโครงการ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ยืนยันว่านโยบายดังกล่าวมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องและจะครอบคลุมรถไฟฟ้าทั้ง 8 สายทาง (สายสีแดง สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีน้ำเงิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์) ตามที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้
และพร้อมเปิดให้บริการในอัตราเดียวทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2568 เป็นต้นไป
ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง โดย นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้เตรียมเปิดขั้นตอนลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันสิทธิ ลดภาระค่าเดินทางของประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑล
ในระยะแรกของการดำเนินนโยบาย ผู้ที่จะได้รับสิทธิค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะจำกัดเฉพาะผู้ที่มีบัตรประชาชนไทย 13 หลัก และจะต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ”
คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 เป็นต้นไป โดยกระทรวงคมนาคมยืนยันว่าขั้นตอนการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากและซับซ้อนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
นายพิเชฐระบุขั้นตอนและคุณสมบัติการลงทะเบียน เริ่มแรกจะต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ทางรัฐ” (สามารถดาวน์โหลดทั้งบน iOS และ Android) และระบบการลงทะเบียนสำหรับโครงการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เปิดพร้อมให้ลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่นในช่วงเดือนสิงหาคม 2568
คุณสมบัติแรก ผู้มีสิทธิจะต้องเป็นคนไทย มีบัตรประชาชน 13 หลักเท่านั้น (ไม่รวมชาวต่างชาติ)
หลังลงทะเบียนสำเร็จจะผูกสิทธิเข้ากับบัตรโดยสารแบบ EMV Contactless (บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต) หรือบัตร Rabbit ที่เชื่อมต่อบัญชีไว้แล้ว เพื่อใช้แทนบัตรเดิมในการจ่ายค่าโดยสาร ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ลงทะเบียน หรือเป็นชาวต่างชาติต้องชำระค่าโดยสารตามอัตราปกติ
สำหรับการใช้งานและระบบสนับสนุน หลังลงทะเบียน ผู้โดยสารสามารถแตะบัตร EMV หรือ Rabbit ABT เพื่อจ่ายค่าโดยสารได้ตลอดสายในราคา 20 บาท ไม่เกินวงเงินตลอดการเดินทาง (Flat Fare)
ขณะเดียวกัน นายสุริยะระบุเหตุผลที่ระยะแรกจะต้องใช้วิธีใช้บัตรผ่านทางที่ผูกกับแอพพลิเคชั่นทางรัฐก่อนนั้น เนื่องจากรัฐบาลจะต้องทราบว่าประชาชนจะเดินทางข้ามสายใดบ้าง เพื่อให้ชดเชยรายได้ที่ถูกต้องกับผู้ประกอบการต่อไป
สำหรับการพัฒนาในระยะที่ 2 ภายในปี 2569 กระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะพัฒนาระบบการชำระค่าโดยสารให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยจะเปลี่ยนไปใช้ระบบสแกน QR Code ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารไม่ต้องพกบัตรโดยสารอีกต่อไป ทำให้การเดินทางสะดวกและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนผู้ประกอบการรถไฟฟ้านั้น คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณ ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือจากกองทุนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 16,000 ล้านบาท มาใช้ในการชดเชยรายได้ดังกล่าว ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมพ.ศ. … ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการดำเนินการและคาดว่าจะสามารถประกาศกฎหมายลำดับรองได้ภายในเดือนกันยายน 2568
นายสุริยะระบุถึงความคืบหน้าการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Congestion Charge ซึ่งจะเป็น 1 ในแนวทางการชดเชยรายได้ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาถึงเกณฑ์และเส้นทางในการเรียกเก็บ ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินการเรียกเก็บโดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ให้ข้อมูล
“ผมยืนยันว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะครอบคลุมรถไฟฟ้าทั้ง 8 สายทาง และพร้อมเปิดให้บริการในอัตราเดียวทั่วกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเป็นการช่วยประหยัดค่าเดินทางสูงสุดกว่า 50% เมื่อเทียบกับอัตราเดิม” นายสุริยะกล่าว
⦁พลิกโฉมท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7
ด้านการโดยสารทางน้ำ เป็นอีกเส้นทางที่สะดวก รวดเร็ว แต่อีกมุมก็มีความอันตราย ประชาชนมักกังวลโดยเฉพาะท่าเรือที่ไม่สะอาดและไม่ปลอดภัย
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้รับหน้าที่กำกับดูแลกรมเจ้าท่า (จท.) ยืนยันมุ่งมั่นตั้งใจพลิกโฉมท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยายุคใหม่ จากที่ท่าเรือเก่าและดูไม่ปลอดภัย สู่การเป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” ตามนโยบายพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตลอดจนเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น
ช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 กระทรวงคมนาคมได้เปิดท่าเรืออัจฉริยะ พระราม 7 อย่างเป็นทางการ เป็น 1 ในท่าเรือที่ได้รับการยกระดับให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่เมืองและแหล่งท่องเที่ยว จากความร่วมมือระหว่าง จท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยพื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร มีโป๊ะเทียบเรือขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 12 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกันยังมีเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ ระบบวัดอุณหภูมิเพื่อคัดกรองคนมีไข้ก่อนเข้าพื้นที่ และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จดจำใบหน้า กล้องวงจรปิด ระบบแจ้งเตือนการรับน้ำหนักโป๊ะเทียบเรือ ระบบแสงไฟอัจฉริยะ ทางลาดและห้องน้ำผู้พิการ รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตพลังงานหมุนเวียน ระบบไฟอัจฉริยะที่เปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Charger)
นางมนพรระบุ คาดการณ์ว่าในปี 2570 จะมีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางด้วยระบบสาธารณะทางน้ำเฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน สามารถลดก๊าซเรือนกระจก ประมาณ 280,230 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
ด้าน นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า จท.มีแผนพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 12 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี สาทร ท่าช้าง ท่าเตียน ราชินี พายัพ บางโพ พระราม 5 พระปิ่นเกล้า พระราม 7
ส่วนท่าเรือที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือปากเกร็ด มีความคืบหน้า 68% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 และท่าเรือเกียกกาย (กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง)
นายกริชเพชรยังกล่าวว่า กรมเจ้าท่าได้รับจัดสรรงบประมาณ ปี 2568 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเทเวศร์ และโอเรียนเต็ล และบรรจุในแผนดำเนินการของบประมาณปี 2569 จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือราชวงศ์ สี่พระยา พรานนก ซังฮี้ ท่ารถไฟ วัดตึก วัดสร้อยทอง วัดเขมา เขียวไข่กา พิบูลสงคราม 1 วัดเทพนารี วัดเทพากร และพิบูลสงคราม 2
⦁ไฮสปีดเทรนไทย-จีน เฟส 2 ‘ไทย’คุมทั้งหมด
ด้านความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน หรือไฮสปีดเทรนไทย-จีน หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นไหวที่ประเทศเมียนมาสะเทือนถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ทำให้การควบคุมก่อสร้างจะต้องเข้มงวดมากขึ้นตามมาตรฐานด้านความปลอดภัย
หลายฝ่ายอาจจะจับจ้องไปที่การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ว่าจะมีปัญหาการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงที่ 1 ตามมาหรือไม่ เนื่องจากบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ที่ได้รับสัมปทานร่วมการสร้างตึกของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือ สตง. ที่พังถล่มลงมา ก็ได้ร่วมก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วงที่ 1ด้วยเช่นกัน
นายสุริยะระบุ โครงการรถไฟความเร็วสูงเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว ได้ให้ นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ส่งทีมวิศวกรลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการแล้ว
ผลการทดสอบเหล็กทุกตัวอย่างมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดครบถ้วนในทุกด้าน โดยผ่านการทดสอบค่าทางวิศวกรรมและส่วนประกอบทางเคมีตามข้อกำหนดสำหรับวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างระบบรางอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (JC) ครั้งที่ 32 เกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 (เฟส 2) ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร (กม.) นายสุริยะตัดสินใจให้ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ควบคุมงานการก่อสร้างเอง รวมถึงออกแบบและตรวจแบบเองทั้งหมด
พร้อมทั้งจะใช้วัสดุภายในประเทศเกือบ 100% โดยจะมีการตรวจสอบทั้งระบบอย่างเข้มข้น
⦁จ่อปิดตำนานก่อสร้างพระราม 2
อีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะนายสุริยะมีความตั้งใจมากที่จะต้องทำให้สำเร็จ คือการปิดตำนานถนนรถติด 7 ชั่วโคตร บริเวณถนนพระราม 2 ซึ่งก่อสร้างทางด่วนไม่เสร็จตามกรอบกำหนด และเป็นถนนที่มีการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบ่อย ผลมาจากการก่อสร้างหลายโครงการที่ค้างคามานานกว่า 50 ปี และทำให้การจราจรแถบนั้นติดขัดมาก
ปัจจุบันมีการก่อสร้าง 2 โครงการอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) และอีก 1 โครงการอยู่ในความดูแลของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
เกิดการอุบัติเหตุล่าสุด วันที่ 15 มีนาคม 2568 จากเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง บริเวณหน้าด่านฯดาวคะนอง พื้นที่การก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 ทรุดตัว มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต บริเวณใกล้เคียงซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กรุงเทพฯ เบื้องต้นมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
ทำให้เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่กระทรวงคมนาคมจะต้องดำเนินการปรับปรุง เข้มงวดในเรื่องการก่อสร้าง การวางแผนใหม่ รวมถึงการกำชับหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ดูแลความปลอดภัยเรื่องการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
ล่าสุด ช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ นายสุริยะระบุความคืบหน้าโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ว่า ก่อสร้างคืบหน้าแล้วกว่า 89.02% และได้เปิดใช้บางส่วนแล้วเมื่อเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 (บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว) ระยะทางรวม 24.7 กิโลเมตร
ขณะนี้ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้าเฉลี่ยกว่า 80% ซึ่งในส่วนของงานโยธานั้นจะแล้วเสร็จในปีนี้ และจะเปิดบริการให้ประชาชนสามารถทดลองวิ่งได้ภายในปี 2568
สำหรับความก้าวหน้าของงานระบบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางภายในปี 2571 ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 นั้นสามารถแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดในเส้นทางหลักสู่ภาคใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนให้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วขึ้น
พร้อมกันนี้ นายสุริยะได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิด รวมถึงเน้นย้ำมาตรฐานในการก่อสร้าง การใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการควบคุมการก่อสร้างอย่างเข้มงวด คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทางและเจ้าหน้าที่ก่อสร้างทุกคนเป็นสำคัญ เพื่อให้โครงการนี้บรรลุเป้าหมายก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 อย่างแน่นอน
ด้าน นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง ระบุตามข้อสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะได้ให้กรมทางหลวง (ทล.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ก่อสร้างโครงการในความรับผิดชอบตามมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เป็นไปตามหลักปฏิบัติ ระเบียบ และวิชาการ รวมถึงวัสดุก่อสร้างทุกชิ้นต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานที่ระบุไว้ในสัญญาก่อสร้าง
“ภายหลังเทศกาลสงกรานต์ กรมทางหลวงจะเร่งก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเปิดให้บริการโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 ขนาด 3 ช่องจราจรไป-กลับ เป็นทางเลือกในการเดินทางสู่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอภิรัฐทิ้งท้าย
กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าภารกิจข้างต้นครบถ้วนตามไทม์ไลน์ที่ประกาศหรือไม่ รอติดตาม!!
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 21 เมษายน 2568