ตลาดอีคอมเมิร์ซโต ไทยเตรียมพร้อมแค่ไหน
ตลาดอีคอมเมิร์ซในSEAโตต่อเนื่อง ไทยเตรียมพร้อมแค่ไหน คาดปี 69 โตกว่า 22% ถือเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ -บริการโลจิสติกส์ของไทย
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยทิศทางพัฒนาการของตลาดค้าปลีกอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia: SEA) ซึ่งเป็นตลาดศักยภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสขยายบริการโลจิสติกส์ให้เติบโตรองรับความต้องการบริโภคที่หลากหลายมากขึ้น จากรายงานการศึกษาของบริษัท McKinsey ระบุว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี 2560 – 2564 มียอดขายเติบโตสูงกว่า 40% ต่อปี โดยเฉพาะการค้าปลีก ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก5% เป็น 20%
และคาดว่าในปี 2569 ตลาดอีคอมเมิร์ซ SEA จะมีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตกว่า 22% เทียบกับปี 2564 จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน SEA เติบโต อย่างก้าวกระโดด เกิดจากการที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนการเข้าตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) โทโกพีเดีย (Tokopedia) ทิกิ (Tiki) และเซนโด (Sendo) ในประเทศต่าง ๆ
โดยมีอัตราการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Penetration Rate) ในประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เฉลี่ยที่30% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เฉลี่ยที่15% ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักด้วยตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แม้จะเป็นตลาดใหญ่ แต่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉพาะในปี 2560 และ 2562 ขณะที่ไทยถือเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซใน SEA ได้พัฒนาขึ้นอีกระดับ ผู้บริโภคมีความคุ้ยเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ แนวโน้มของพฤติกรรมการซื้อสินค้าจึงซับซ้อนมากขึ้น เช่น สินค้าที่ซื้อมีราคาต่อหน่วยสูงขึ้น แสดงถึงความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ราคาไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงขึ้น ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่ซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซมีความหลากหลายขึ้น (จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมความงาม) และ สามารถสั่งซื้อจากหลายช่องทาง
เช่น แพลตฟอร์มตลาดกลาง เว็บไซต์ และโซเชียลคอมเมิร์ซ ฯลฯ ดังนั้น ห่วงโซ่อุปทานของอีคอมเมิร์ซได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ส่วนใหญ่เคยพึ่งพาสินค้านำเข้าจากจีน กลายมาเป็นการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานและการกระจายสินค้าในประเทศและภายในภูมิภาค SEA มากขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ที่จะเตรียมพร้อมรองรับความหลากหลายที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าโลจิสติกส์ในอนาคต ทั้งในเรื่องความน่าเชื่อถือในการให้บริการ ช่องทางการค้า และประเภทผลิตภัณฑ์ โดยสามารถสรุปแนวโน้มของโลจิสติกส์ใน SEA ได้ ดังนี้
(1)B2C (Business-to-Consumer) ในประเทศ มีการขนส่งประเภทผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จึงต้องพัฒนาความสามารถในการให้ บริการโลจิสติกส์เฉพาะทาง (Specialized Logistics Services)
- การจัดการสินค้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ในบ้าน และของตกแต่งบ้าน ที่เติบโตอย่างรวดเร็วใน SEA โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม และไทย คาดว่าในปี 2568 จะมียอดขายรวมกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต้องเพิ่มความความสามารถในห่วงโซ่อุปทานการจัดการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่
- ร้านโชห่วยออนไลน์ (E-Grocery Store) เติบโตอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพสูง แม้ว่าปัจจุบันอัตราการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซกลุ่มนี้มีเพียง 2% ของมูลค่าการใช้จ่ายด้านการค้าปลีก (ประมาณ 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่ารวม 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐใน SEA) แต่คาดว่าในปี 2568 ยอดขายอีคอมเมิร์ซโชห่วยจะสูงถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการพัฒนาระบบการชำระเงินออนไลน์ และระบบโลจิสติกส์ที่มีการขนส่งระยะสุดท้าย (Last-mile Delivery) แบบเร่งด่วน
- โลจิสติกส์สำหรับการส่งคืนสินค้า อัตราการคืนสินค้าอีคอมเมิร์ซใน SEA เฉลี่ยคิดเป็น 15-20% โดยเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นกลุ่มสินค้าที่ส่งคืนบ่อยที่สุด รวมถึงการส่งมอบที่ไม่สำเร็จคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น โดยพบบ่อยในการส่งแบบเก็บเงินปลายทาง (Cash On Delivery) ทั้งนี้ มาตรการคืนสินค้ามีผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น (ผลสำรวจของบริษัท McKinsey พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 83% จะซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 30 หากมีกระบวนการส่งกลับที่ราบรื่น) จึงมีการคาดการณ์ว่าในปี 2569 มูลค่าตลาดโลจิสติกส์สำหรับการส่งคืนสินค้าใน SEA จะสูงถึง 21.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
การค้าข้ามแดนในรูปแบบ B2B2C และบริการแบบครบวงจร (Fulfillment) รูปแบบการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน (Cross Border E-Commerce) จะพัฒนาเป็นรูปแบบ B2B2C (Business-to-Business-to-Consumer) ซึ่งมีความได้เปรียบในความรวดเร็วของการจัดส่ง จากคลังสินค้าในประเทศและผู้ซื้อ ที่ใช้เวลาเพียง 3-5 วัน (ขณะที่ B2C ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 วันในการจัดส่งสินค้าทางทะเล) เป็นโอกาสของตัวแทนผู้ให้บริการ โลจิสติกส์ (3rd Party Logistics Service Provider) แบบครบวงจร ตั้งแต่การดำเนินพิธีการทางศุลกากร คลังสินค้า การจัดการคำสั่งซื้อ การจัดส่ง การวิเคราะห์ข้อมูลตลาดเชิงลึก รวมทั้งบริการหลังการขายที่จะมีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้น เป็นต้น
แม้ว่าตลาดโลจิสติกส์ในประเทศไทยจะมีการแข่งขันสูง ทั้งด้านราคาและการให้บริการที่รวดเร็ว แต่ยังมีช่องว่างทางการตลาดจากโอกาสของอีคอมเมิร์ซไทยที่จะเติบโตกว่าเท่าตัวในปี 2569 (ข้อมูล Euromonitor คาดการณ์มูลค่าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของไทยจากมูลค่า 4.24 แสนล้านบาทในปี 2565 เพิ่มเป็น 9.06 แสนล้านบาทในปี 2569) ซึ่งสถิติในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีนิติบุคคลเปิดกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 1,459 ราย เพิ่มขึ้น 9.04% จากปีก่อน และจนถึงปัจจุบันมีการลงทุนสะสมรวม 50,713.41 ล้านบาท (สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นไทย 58.6% และต่างชาติ 41.4 %จากสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และอื่น ๆ ตามลำดับ)
นอกจากนี้ การที่อีคอมเมิร์ซในภูมิภาค SEA เติบโตขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคซับซ้อนมากขึ้น และไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาค ถือเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย ในการนี้ ภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนจึงต้องเตรียมพร้อมในหลายด้าน ไม่ว่า การเร่งพัฒนาและส่งเสริม การประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์และกิจกรรมโลจิสติกส์ต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการไทยในการทำตลาดออนไลน์ และระบบการจัดการโลจิสติกส์ และ การกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ในการเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการ และการส่งเสริมความร่วมมือ และการจับคู่ ทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศและข้ามแดนกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดภูมิภาคต่อไป
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 30 มกราคม 2566