เปิดแผนบริหารจัดการพลังงาน ลด "PM2.5" มุ่งสู่ประเทศสีเขียว
"กระทรวงพลังงาน" ได้เร่งแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) โดยมีหัวเรือใหญ่คือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นผู้เร่งจัดทำแผนเสนอกระทรวงพลังงาน
เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัญหาที่มาจากปัจจัยหลายส่วนหากเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ หลัก ๆ มาจากภาคขนส่งโดยเฉพาะการใช้รถยนต์บนท้องถนนที่มีการปล่อยมลพิษออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่จะมาจากปัญหาการเผาทิ้งสิ่งของที่ชาวไร่ชาวนาไม่ต้องการและกลายเป็นปัญหาควันพวยพุ่งอยู่ในอากาศ
นายพิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เพื่อแก้ปัญหา PM2.5 ในหลายมิติ ประกอบด้วย A : Application ผ่าน Sensor for all ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ร่วมกับ คณะวิศว จุฬาฯ รายงาน ทำนาย และเชื่อมโยงวิเคราะห์ข้อมูล PM2.5 พร้อมให้ประชาชน download ใน app store รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลคุณภาพอากาศจากการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าอีกด้วย ทำให้สร้างความมั่นใจ และสามารถติดตามข้อมูลประสิทธิภาพของระบบบำบัดมลพิษอากาศ รวมถึง PM2.5 ได้อย่างทันท่วงที
B : BCG economic
โมเดล ที่ประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ยกตัวอย่างเช่น Biomass / Biogas ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ช่วยลดการเผาไหม้แบบ open burn ลด PM2.5 โดยตรง รวมถึงการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ อาทิ แสงแดด ลม และ Hydrofloating solar นั้น จะส่งผลต่อการลดการเผาไหม้เชื่อเพลิงฟอสซิล ซึ่งส่งผลต่อการลดลงของ PM2.5 ด้วย
C : CN in Energy
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว (Extream weather) ส่งผลต่อโดมความดันอากาศที่ปกคลุมและลดการกระจายตัวของ PM2.5 และมลพิษอากาศประเภทอื่น ๆ ดังนั้น การที่ประเทศไทยประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนใน ปี 2050 รวมถึงภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องนั้น ส่งกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกกว่า 70-80% นั้นจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างยั่งยืน ดังนั้น สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในแผนพลังงานชาติ รวมถึงการพัฒนาระบบการเผาไหม้และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) จะเป็นกลไกที่สำคัญมากๆ ในภาคพลังงานของประเทศ
D : Demand side management
การรณรงค์ลด และหรือการบริโภคพลังงานอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการทราบแล้วเปลี่ยน ในทุกภาคส่วนนั้น (ครัวเรือน 25% และ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรม 75% ของการใช้ไฟฟ้า) นับเป็นการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งส่งผลต่อการเกิดฝุ่น PM2.5 อันเนื่องมาจากการผลิตพลังงาน รวมถึง ยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงราคาแพง (LNG) ที่ราคาสูงมากๆ และเป็นต้นเหตุสำคัญต่อการเพิ่มสูงขึ้นของค่า Ft ในช่วงที่ผ่านมา
E : EV ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
ที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นตามแผน 30@30 ของ กระทรวงพลังงานนั้น จะเป็นการลดการปล่อยปล่อย PM2.5 และ ก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งโดยตรง อย่างมีผลกระทบสูงมากๆ ยกตัวอย่างเช่น การเปลี่ยน EV ใน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการลงทุน EV ที่เติบโตอย่างมาก ในประเทศไทย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายของแผนพลังงานชาติที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ภารกิจตามแนวทาง 4D1E คือ Decarbonization: การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation: การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification: การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า
ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ ได้รวมทั้ง 5 แผนพลังงานไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2566 นี้
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขที่ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปีละประมาณ 350 ล้านตัน ถือว่าสูงเป็นอันดับต้นของโลก โดยภาคที่ต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญคือ ภาคพลังงาน ภาคครัวเรือน และภาคขนส่ง เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนรวมกันปีละราว 250 ล้านตัน
ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยเพิ่มพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างสมดุลที่มาจากพลังงาน ลม ชีวมวล และแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องปรับเป้าหมายการทำแผนใหม่ ดังนั้น สนพ. จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนสำคัญ ประกอบด้วย
1)ด้านไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน (RE) ไม่น้อยกว่า 50% ให้สอดคล้องแนวโน้มต้นทุน RE ที่ต่ำลง โดยพิจารณาต้นทุนของระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ร่วมด้วย และไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวสูงขึ้น
2)ด้านก๊าซธรรมชาติ จะเน้นการเปิดเสรีและการจัดหาเพื่อสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานประเทศ และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Regional LNG Hub
3)ด้านน้ำมัน ต้องปรับแผนพลังงานภาคขนส่ง และพิจารณาการบริหารการเปลี่ยนผ่าน สร้างความสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการลดค่า PM2.5 ได้มากที่สุด
4)ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนทุกภาคมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นขึ้น
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566