ส่องตลาดอีคอมเมิร์ซเอเชียโอกาสธุรกิจบริการ-โลจิสติกส์ไทย
ตลาดอีคอมเมิร์ซภูมิภาคเอเชียยังแรงไม่หยุด คาดปี2569 ตลาดอีคอมเมิร์ซ SEA จะมีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านดอลลาร์ โตกว่า 22 % สนค.แนะไทยเตรียมความพร้อมภาคโลจิสติกส์ของไทยรับการขยายตัวตลาดอีคอมเมิร์ซเอเชีย
ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ซื้อขายผ่านหน้าร้านมาซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา การค้าผ่านออนไลน์พุ่งแตะระดับแสนดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดวิถีชีวิตแบบ New Normal ที่ผู้คนหันมาซื้อขายของออนไลน์กันมากขึ้น ทำให้” อีคอมเมิร์ซ” กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจ "ดาวรุ่ง" ในยุควิกฤติการณ์โควิด-19
โดยไทยมีการทำแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของชาติ เพื่อขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ล่าสุดคณะกรรมการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เคาะแผนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของชาติ ระยะที่ 2 (ปี 2566-2570) ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 (ปี 2564-2565) โดยตั้งเป้ามูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศให้มีมูลค่า 7.1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 และยังได้ตั้งเป้าสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ค้าขายผ่านตลาดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้อยู่ที่ 20 % ภายในปี 2570 เพื่อให้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเติบโตทั้งภายในและระหว่างประเทศ
“พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์” ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยข้อมูลตลาดการค้าปลีกอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia: ) ว่า จากรายงานการศึกษาของบริษัท McKinsey ระบุว่า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างปี 2560 – 2564 มียอดขายเติบโตสูงกว่า 40 % ต่อปี โดยเฉพาะการค้าปลีก ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 5 % เป็น 20% และคาดว่าในปี 2569 ตลาดอีคอมเมิร์ซ SEA จะมีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือเติบโตกว่า 22 % เทียบกับปี 2564
“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซใน SEA เติบโต อย่างก้าวกระโดด เกิดจากการที่ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนการเข้าตลาดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น ลาซาด้า (Lazada) ช้อปปี้ (Shopee) โทโกพีเดีย (Tokopedia) ทิกิ (Tiki) และเซนโด (Sendo) ในประเทศต่าง ๆ” พูนพงษ์ ระบุ
สำหรับอัตราการเข้าถึงอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce Penetration Rate) พบว่า ในประเทศอินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เฉลี่ยที่ 30% รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เฉลี่ยที่ 15 % ซึ่งอินโดนีเซียเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักด้วยตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย และเวียดนาม แม้จะเป็นตลาดใหญ่ แต่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเฉพาะในปี 2560 และ 2562 ขณะที่ไทยถือเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทย ข้อมูล Euromonitor ได้คาดการณ์มูลค่าค้าปลีกอีคอมเมิร์ซของไทยจากมูลค่า 4.24 แสนล้านบาทในปี 2565 และเพิ่มเป็น 9.06 แสนล้านบาทในปี 2569 ซึ่งสถิติในปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีนิติบุคคลเปิดกิจการขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต 1,459 ราย เพิ่มขึ้น 9.04% จากปีก่อน และจนถึงปัจจุบันมีการลงทุนสะสมรวม 50,713.41 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุนแบ่งเป็นไทย 58.6 % และต่างชาติ 41.4% จากสิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และอื่น ๆ
สนค.ยังประเมินว่า การที่อีคอมเมิร์ซในภูมิภาค SEA เติบโตขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคซับซ้อนมากขึ้น และไทยเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของภูมิภาค ถือเป็นโอกาสดีต่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมในหลายด้าน อาทิ การเร่งพัฒนาและส่งเสริม การประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลความเคลื่อนไหวของผลิตภัณฑ์และกิจกรรมโลจิสติกส์ต่างๆ การพัฒนาองค์ความรู้ของผู้ประกอบการไทยในการทำตลาดออนไลน์ และระบบการจัดการโลจิสติกส์
รวมทั้งการกำหนดนโยบายหรือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งสำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ การส่งเสริมความร่วมมือ และการจับคู่ ทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซในประเทศและข้ามแดนกับผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ฯลฯ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดภูมิภาคต่อไป ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยขยายตัวได้มากขึ้นด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566