2023 เริ่มต้นดีแต่ต้องลุ้นตอนกลางปี
ปี 2023 หมดไปกว่า 10% แล้ว โดยในเดือนมกราคมนี้สรุปได้ว่าการลงทุนให้ผลตอบแทนที่ดีเกินคาด ส่วนหนึ่งเพราะจีนเร่งเปิดเศรษฐกิจ (และยกเลิกความกลัวโควิด-19) ลงอย่างกะทันหัน ทำให้ได้กำไรกันถ้วนหน้าในเดือนมกราคม
กล่าวคือ
1. S&P 500 ปรับขึ้น 6.6%
2. Dow Jones Industrial Average ปรับขึ้น 2.9%
3. Nasdaq ปรับขึ้น 11.5%
4. Shanghai composite ปรับขึ้น 6.3%
5. Hang Seng ปรับขึ้น 8.4%
6. Bloomberg Global Bond Index ปรับขึ้น 3.7%
ดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับขึ้นในเดือนมกราคม แต่ปรับขึ้นก่อนหน้า กล่าวคือหากนับจาก 20 ธันวาคม 2022 ถึงปลายเดือนมกราคม หุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.7%
นักลงทุนคงจะจำได้ว่าเมื่อต้นปี 2022 นั้น นักวิเคราะห์ทุกค่ายคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพียง 1.25% ถึง 1.75% จึงประเมินว่าการลงทุนจะให้ผลตอบแทนเป็นบวก (แต่ไม่มาก) ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาดแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
มาถึงปีนี้เสียงส่วนใหญ่ก็คาดการณ์ในเชิงบวกว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงอย่างมากและเศรษฐกิจสหรัฐกับเศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (หรือเกือบถดถอย) แต่ก็จะไม่ย่ำแย่มากนัก (Shallow recession)
และที่สำคัญคือธนาคารกลางสหรัฐจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยตอนปลายไตรมาส 3 ของปีนี้ เพราะจะสามารถปราบเงินเฟ้อได้สำเร็จ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นไปที่ 4.75% ในต้นเดือนกุมภาพันธ์นั้นจะขึ้นไปไม่เกิน 5.25% ในเดือนพฤษภาคมและลดลงเหลือ 4.5% ในปลายปี 2023
ผมมีความเห็นว่าปัจจัยสำคัญในการให้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในปี 2023 คือประมาณกลางปีนี้คือ ตลาดจะยังต้องเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในไตรมาส 3 ของปีนี้
โดยตลาดมั่นใจมากว่าเมื่อเศรษฐกิจภาคการผลิตชะลอตัวลง เงินเฟ้อก็จะต้องลดลงตามอย่างรวดเร็วด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาพลังงานก็กำลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เงินเฟ้ออาจลดลงได้ไม่ง่ายนัก เห็นได้จากตัวเลขภาคบริการที่สหรัฐที่ยังดูร้อนแรงอยู่ไม่น้อย (services PMI ในเดือนมกราคมปรับเพิ่มขึ้นเป็น 55.2 จาก 49.2 ในเดือนธันวาคม)
และที่สำคัญคือตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือนมกราคมที่สูงเกินคาดถึง 517,000 ตำแหน่ง (ตลาดคาดการณ์ที่ 187,000 ตำแหน่ง)
นอกจากนั้นอัตราการว่างงานก็ยังลดลงเหลือ 3.4% (ต่ำที่สุดในรอบ 52 ปี) โดยรายได้ต่อ 1 ชั่วโมงก็ยังเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับมกราคม 2022
(ปัจจุบันที่สหรัฐก็ยังมีความต้องการคนงาน 11 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่มีคนว่างงานทั้งหมด 5.7 ล้านคน แม้จะเห็นการพาดหัวข่าวว่าบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐกำลังเร่งปลดคนงาน)
ตัวเลขการจ้างงานนั้นบางคนมองว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อน “อดีต” (backward looking) กล่าวคือเมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่จริงๆ บริษัทจึงจะยอมเริ่มปลดคนงาน ดังนั้น จะไม่สามารถบอกแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตได้รวดเร็วเท่ากับตัวเลขภาคการผลิต
แต่สำหรับผมนั้นการจ้างงานและการปรับขึ้นของเงินเดือนเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อให้สูงอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้เงินเฟ้อฝังราก (entrenched)
ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐก็คิดในทำนองเดียวกัน จึงมักกล่าวถึงความตึงตัวของตลาดแรงงานสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคบริการ (ประเทศไทยก็มีปัญหาคล้ายกันในเชิงของการขาดแคลนแรงงานในภาคบริการด้านการท่องเที่ยว)
ราคาพลังงานนั้นอาจมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ แต่ในความเป็นจริงนั้นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานคิดเป็นสัดส่วนเพียง 8-10% ของจีดีพีสหรัฐ (ช่วง COVID-19 ระบาดเหลือเพียง 4.8% ของจีดีพี)
และสำหรับกลุ่ม OECD โดยรวมนั้น พลังงานคิดเป็นสัดส่วนสูงขึ้นมากในปี 2022 ที่ 17.5% ของจีดีพี (จากประมาณ 12-14% ของจีดีพีในอดีต) แต่สัดส่วนดังกล่าวก็ยังต่ำมากเมื่อเทียบกับความสำคัญของภาคแรงงาน
กล่าวคือ ในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศสและอังกฤษนั้น ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของจีดีพี
แปลว่าตราบใดที่เงินเดือนยังปรับตัวเพิ่มขึ้นปีละ 4-5% อัตราเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วน่าจะลดลงจากระดับ 4% ได้ไม่ง่ายนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ใช้แรงงานมีความไม่พอใจอย่างมากที่เงินเดือนปรับขึ้นเชื่องช้ากว่าเงินเฟ้ออย่างมาก ทำให้เห็นการประท้วงหยุดงานกันอย่างกว้างขวางในยุโรป
ซึ่งสิ่งที่ธนาคารกลางเกรงกลัวมากที่สุดคือ การที่เงินเฟ้อค้างอยู่ที่ระดับสูงอย่างยืดเยื้อ (เพราะภาคบริการที่เป็นส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจยังร้อนแรงอยู่) ทำให้แรงงานประสบความสำเร็จในการเรียกร้องการขึ้นค่าจ้าง เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น
ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ภาคแรงงานจึงจะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก กล่าวคือเกิดวังวนของการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตามด้วยเงินเฟ้อและตามด้วยการขึ้นของค่าจ้างหรือ wage-price spiral และภาวะ stagflation คล้ายคลึงกับปี 1974-1979
บางคนคงจะมองว่าการนำเอายุคสมัยนี้มาเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้วน่าจะไม่ถูกต้องเพราะโลกเปลี่ยนไปมาก แต่หากหันมาดูสภาวการณ์ปัจจุบันกับยุคทศวรรษ 70 ก็จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงไม่น้อย เช่น
1).สงครามยูเครนที่ดูจะรุนแรงยิ่งขึ้น (จากเดือนมีนาคมเป็นต้นไป) ซึ่งจะสร้างความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจและคงจะส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาสินค้าและความเสี่ยงโดยรวม
2).ความไม่ลงรอยกันระหว่างจีนกับสหรัฐที่ไม่แตกต่างจากสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต แต่อาจส่งผลรุนแรงกว่าในอดีตอย่างมาก
เพราะจีนมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตของโลกและเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก แต่กำลังถูกกีดกันและแบ่งแยกออกจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในส่วนของเทคโนโลยีด้าน Semiconductor
(เรื่องนี้จะต้องขยายความอีกมาก แต่สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของ Semiconductor ผมแนะนำให้อ่าน “Chip Wars” เขียนโดย Chris Miller)
นอกจากนั้นแล้วผมมีความเห็นว่าปัจจัยที่จะสามารถกระทบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในปีนี้คือ
* การเจรจาระหว่างพรรครีพลับลิกันที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกับฝ่ายบริหารที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อขยายเพดานหนี้สาธารณะภายในกลางปีนี้
* ผลการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยว่าจะ “ถูกใจ” นักลงทุน (ทั้งไทยและเทศ) หรือไม่
* การหดตัวของการส่งออกของไทยจะรุนแรงมากน้อยเพียงใดในไตรมาส 2 (ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงตามฤดูกาล) และหากส่งผลให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก ก็เสี่ยงที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้มากจากระดับปัจจุบัน
*
นอกจากนั้นแล้วก็ต้องติดตามดูด้วยว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้เงิน เฟ้อกลับเข้ากรอบนโยบายได้ภายในปลายปีนี้ โดยปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้จริงหรือไม่
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566