ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พฤศจิกายนโต 4 เดือนต่อเนื่อง บนความกังวลสงคราม-เศรษฐกิจโลกถดถอย
ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พฤศจิกายนโต 4 เดือนต่อเนื่อง บนความกังวลสงคราม-เศรษฐกิจโลกถดถอย หวั่นกระทบกำลังซื้อ
เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศจำนวน 2,242 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 60.9 ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนตุลาคม 2566 ที่ อยู่ระดับ 60.2 โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และถือว่าดัชนีปรับตัวสูงสุดในรอบ 45 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน เดือนพฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ 44.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 44.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 68.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 68.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 55.1 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 54.5 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 57.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 57.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 69.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับตุลาคม ที่อยู่ในระดับ 69.2
ทั้งนี้ การที่ดัชนีฯ ทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาล และรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ ผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคต หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้ปรับตัวลดลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-30 พฤศจิกายน 2566 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 54.3 ลดลงจากระดับ 55.4 ในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ส่วนดัชนีฯ ปัจจุบัน อยู่ที่ 52.4 ลดลงจากระดับ 53.8 ในเดือนตุลาคม 2566 และดัชนีฯ ในอนาคต อยู่ที่ 56.2 ลดลงจากระดับ 57.0 ในเดือนตุลาคม 2566
ทั้งนี้ จากดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักธุรกิจมีความกังวล อาทิ มติของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 2.5% ต่อปี ได้ปรับลดการคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2566 ลงอยู่ที่ 2.4% และปี 2567 อยู่ที่ 3.2% หากรวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จะอยู่ที่ 3.8% ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามในอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ที่อาจยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อราคาน้ามันและพลังงานโลกให้ขยับสูงขึ้น รวมถึงการส่งออกติดลบต่อเนื่อง 3 ไตรมาส และความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว
สำหรับข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อาทิ มาตรการส่งเสริมความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศโดยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประชาชน มาตรการดูแลต้นทุนของภาคธุรกิจให้มีความเสถียรภาพและไม่กระทบกับภาคธุรกิจ ส่งเสริมสินค้าส่งออกของไทยให้เปิดตลาดต่างประเทศให้มีความเชื่อมั่นกับผลิตภัณฑ์ของไทย ดูแลบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อกการเกษตร และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม เพื่อรองรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุลเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 7 ธันวาคม 2566