จับตาเรื่องสำคัญจากการไปเยือนฮานอยของสีจิ้นผิง ‘จีน’ต้องการมีบทบาทใน "แผนแร่แรร์เอิร์ธเวียดนาม-สหรัฐฯ"
พวกผู้รู้ชาวจีนแสดงความคิดเห็นว่า เวียดนามไม่ควรที่จะส่งออกแร่แรร์เอิร์ธ ไปนอกประเทศโดยตรง อันเป็นสิ่งที่สหรัฐฯมุ่งหวัง หากแต่ควรส่งไปแปรรูปที่จีนเสียก่อน
ภายหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสร็จสิ้นทริปเยือนกรุงฮานอยเมื่อตอนต้นสัปดาห์นี้ ฝ่ายจีนได้อ้างตัวเองว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของเวียดนามสำหรับการจับมือเป็นหุ้นส่วนกันทางการค้าและการทูตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บางทีอาจจะเป็นเช่นนั้นก็ได้ ทว่าเรื่องนี้ยังจะต้องมีการพิสูจน์ยืนยันจากความเป็นจริงให้กระจ่างชัดเจน เวียดนามจะส่งออกผลผลิตแร่แรร์เอิร์ธ (rare earths) ที่ตนเองขุดได้ไปนอกประเทศโดยตรง อย่างที่สหรัฐฯคาดหวัง หรือว่าจะส่งไปแปรรูปแร่ในประเทศจีนเสียก่อน? นี่เป็นสิ่งที่พวกผู้รู้ชาวจีนต้องการที่จะทราบกัน พวกเขายังต้องการทราบด้วยว่าฮานอยจะตกลงให้วอชิงตันเช่าท่าเรือทางทหารสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งกองทัพอเมริกันเคยใช้ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามหรือไม่
เมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ที่ผ่านมา จีนกับเวียดนามในลงนามในความตกลงต่างๆ รวม 36 ฉบับ [1] ซึ่งครอบคลุมทั้งโครงการตามแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI), ความร่วมมือกันในด้านการพัฒนา, เศรษฐกิจดิจิตอล, การพัฒนาสีเขียว, การคมนาคมขนส่ง, การตรวจสอบและการกักกันโรค, กิจการกลาโหมและการบังคับใช้กฎหมาย, และความร่วมมือกันทางทะเล แต่ทางสื่อของเวียดนามรายงานด้วยว่า ปักกิ่งกับฮานอยประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุความตกลงฉบับอื่นๆ ใน 6 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งก็รวมถึงเรื่องการทำเหมืองโลหะและเหมืองแร่แรร์เอิร์ธด้วย
ระหว่างที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนกรุงฮานอยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาก็ได้ลงนามในความตกลงหลายฉบับกับเวียดนาม รวมทั้งด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเรื่องแร่แรร์เอิร์ธ เขาแถลงว่าสนับสนุนส่งเสริมให้สหรัฐฯเข้าไปลงทุน [2] ในด้านการสำรวจขุดค้นสินแร่แรร์เอิร์ธในเวียดนาม –ซึ่งอยู่ในอันดับ 3 [3] ของโลกในเรื่องปริมาณแร่แรร์เอิร์ธที่น่าจะสามารถขุดค้นขึ้นมาได้— ทั้งนี้ก็เพื่อต้านทานจีนที่มีฐานะเป็นเจ้าครอบงำเหนือแร่ชนิดนี้ยิ่งกว่าใครๆ ในโลก
แร่แรร์เอิร์ธ
ผู้รู้ชาวจีนบางรายกล่าวว่า จีนจะเพิ่มทวีการค้าและการลงทุนกับเวียดนาม ตราบใดที่ฮานอยยังคงสืบต่อประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีกับปักกิ่งเอาไว้ พวกเขาบอกว่าหากเวียดนามจะใช้การลงทุนของสหรัฐฯเพื่อสำรวจขุดค้นแหล่งแร่แรร์เอิร์ธสำรองของตนแล้ว ฮานอยก็สมควรพิจารณาเรื่องการจัดส่งแร่ที่ขุดได้ไปแปรรูปในประเทศจีน
ตามข้อมูลของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (US Geological Survey) เวียดนามมีปริมาณแร่แรร์เอิร์ธสำรองอยู่ที่ 22 ล้านเมตริกตัน [4] เปรียบเทียบกับจีนซึ่งมีอยู่ราว 44 ล้านเมตริกตัน
สินแร่แรร์เอิร์ธในเวียดนามส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้ถูกแตะต้อง สืบเนื่องจากราคาที่ต่ำซึ่งเป็นผลจากการกำหนดขึ้นมาของประเทศจีน ที่มีฐานะเป็นซัปพลายเออร์แร่แรร์เอิร์ธรายใหญ่ที่สุดในโลกตามข้อมูลตัวเลขปีที่แล้ว
สัปดาห์นี้ ปักกิ่งแถลงว่าพร้อมที่จะเสนอเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่เวียดนามเพื่อใช้สร้างทางรถไฟระหว่างเมืองคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอิ๋ว์นหนาน (ยูนนาน) ของจีน กับเมืองไหฝ่อง (ไฮฟอง) เมืองท่าสำคัญของเวียดนาม โดยที่ทางรถไฟสายนี้จะตัดผ่านดินแดนใจกลางแหล่งแร่แรร์เอิร์ธของเวียดนามด้วย
“ถ้าเวียดนามขอให้จีนสร้างทางรถไฟเข้าไปในดินแดนของตน มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องก่อตั้งความเป็นหุ้นส่วนด้านแรร์เอิร์ธขึ้นมา” คอลัมนิสต์ที่ตั้งฐานอยู่ในมณฑลซานซีผู้หนึ่งกล่าวในบทความที่นำออกเผยแพร่วันศุกร์ (16 ธ.ค.) [5] “มันย่อมเป็นเรื่องขวยเขินน่าอึดอัดใจถ้าหากจีนสร้างทางรถไฟให้ขณะที่สหรัฐฯเป็นผู้ขุดแร่นี้ในเวียดนาม”
เขากล่าวว่า หากมีการก่อสร้างทางรถไฟข้ามแดนจีน-เวียดนามตามที่มีการเสนอขึ้นมานี้ มันก็จะทำให้ยากลำบากมากขึ้นสำหรับเวียดนามและสหรัฐฯที่จะก่อตั้งความเป็นหุ้นส่วนกันในด้านแรร์เอิร์ธ เขามองว่าแม้กระทั่งในกรณีที่สหรัฐฯลงมือทำเหมืองขึ้นมาจริงๆ แร่แรร์เอิร์ธที่ขุดออกมาได้ก็จะต้องส่งไปยังจีนเพื่อการแปรรูปอยู่นั่นเอง
“สหรัฐฯเสนอที่จะช่วยเหลือเวียดนามในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของพวกเขา ในความพยายามที่จะได้รับแรร์เอิร์ธซึ่งเวียดนามขุดขึ้นมาได้ ทว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกันระหว่างเวียดนามกับจีนเท่านั้นเอง” หวง ซวน (Huang Xuan) นักเขียนซึ่งตั้งฐานอยู่ที่มณฑลเฮยหลงเจียงกล่าวเอาไว้เช่นนี้ในบทความชิ้นหนึ่ง [6] โดยพูดย้ำต่อไปด้วยว่า จีนมีความชำนาญในเรื่องการแปรรูปแรร์เอิร์ธ
คนนอก
นักเขียนหญิงผู้นี้ยังกล่าวยกย่องชมเชยเรื่องที่เวียดนามกำลังประคับประคองสายสัมพันธ์ฉันมิตรที่มีอยู่กับจีน ตัวอย่างเช่น ด้วยการนำเข้าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ขั้นกลางหลายอย่างหลายประเภทจากจีน, ปฏิเสธไม่กล่าวประณามรัสเซียในกรณีสงครามยูเครน รวมทั้งแสดงความสนับสนุนปาเลสไตน์ เธอยังบอกว่าการที่เวียดนามกับจีนเห็นพ้องต้องกันที่จะรักษาเสถียรภาพในทะลจีนใต้เอาไว้นั้น คือการเติมเต็มผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายประเทศ
ระหว่างการเยือนเวียดนามคราวนี้ สี จิ้นผิง ได้บอกกับประธานาธิบดีหวอ วัน เถือง ของเวียดนาม [7] เมื่อวันพุธ (13 ธ.ค.) ว่า ทั้งจีนและเวียดนามต่างควร “ตื่นตัวและต่อต้านคัดค้านความพยายามใดๆ ก็ตามที่จะสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นในเอเชียแปซิฟิก”
กระทรวงการต่างประเทศจีนนั้น ได้เคยกล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ [8] ว่า สหรัฐฯและนาโต้คือ “คนนอก” ที่กำลังพยายามสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้นมาในเอเชียแปซิฟิก โดยที่แดนมังกรได้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯและฟิลิปปินส์สำหรับการกระชับความผูกพันทางการทหารของพวกเขาให้เข้มแข็งมากขึ้นอีก หลังจากประธานาธิบดีบองบอง มาร์กอส ก้าวขึ้นครองตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2020
“เราต้องยอมรับว่าการสร้างวงล้อมที่สหรัฐฯพยายามดำเนินการอยู่ในทะเลจีนใต้ กำลังเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และก่อให้เกิดความเสี่ยงตลอดจนภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่อประเทศจีน” นักเขียนผู้หนึ่งที่ใช้นามปากกาว่า “เจิ้นเจียง” (Zhenjiang) กล่าวเช่นนี้ในบทความซึ่งออกเผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (15 ธ.ค.) [9]
“โชคดีที่จีนก็มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่แสนยานุภาพทางทหารของตนในภูมิภาคแถบนี้ตลอดช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา” เขากล่าว “ถ้าหากสหรัฐฯต้องการที่จะรวบรวมเหล่าพันธมิตรของตนเพื่อสร้างความยุ่งเหยิงวุ่นวายขึ้นตรงบริเวณหน้าประตูของจีนแล้ว สหรัฐฯก็จำเป็นต้องคำนึงถึงอานุภาพทางนาวีและทางอากาศของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนด้วย”
เขาบอกว่าสหรัฐฯนั้นมีความต้องการอย่างแน่นอนที่จะสร้างฐานทัพเรือขึ้นมาใหม่ในอ่าวกามรัญ (Cam Ranh Bay) ของเวียดนาม ซึ่งเคยเป็นท่าเรือทางทหารแห่งสำคัญของอเมริกันในช่วงสงครามเย็น เขากล่าวว่าหากเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมาจริงๆ กองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็จะต้องประจำการใช้งานเครื่องบินขับไล่แบบ เจ-20 ตลอดจนยิงขีปนาวุธทิ้งตัวแบบต่อสู้เรือ (anti-ship ballistic missiles) แบบ “ตงเฟิง-21ดี” (Dongfeng-21D) เพื่อลงโทษพวกก่อความยุ่งเหยิงวุ่นวายด้วย
“ความสำคัญครั้งประวัติศาสตร์”, “หลักหมายใหม่”
แต่ขอให้เราหวนกลับไปยังพวกถ้อยคำนึกฝันจินตนาการเท่ๆ ที่หยิบยกมาให้ดูเป็นชื่อหัวข้อย่อยข้างบนนี้ ทั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงเอาไว้ในวันศุกร์ (15 ธ.ค.) ว่า การไปเยือนเวียดนามของ สี ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคมคราวนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นเครื่องหมายของการเข้าสู่หลักหมายใหม่ในความสัมพันธ์ทวิภาคของประเทศทั้งสอง
แน่นอนทีเดียว ทางกระทรวงต้องการพูดเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยทัศนะที่มองย้อนกลับไปถึงตอนที่ ไบเดน พบปะหารือกับเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เหวียน ฝู จ่อง ในกรุงฮานอยเมื่อวันที่ 10 กันยายน ซึ่งทั้งสองคนได้เห็นพ้องต้องกัน [10] ที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับเวียดนามให้ขึ้นสู่ “ความเป็นหุ้นส่วนกันทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” (Comprehensive Strategic Partnership) เพื่อวัตถุประสงค์ในการบรรลุ “สันติภาพ, ความร่วมมือกัน, และการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
เหมา หนิง โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน บอก [11] ว่า ฝ่ายเวียดนามแสดงความสนับสนุนอย่างหนักแน่นและจะเข้าร่วมอย่างแข็งขันในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง, แผนการริเริ่มด้านการพัฒนาระดับโลก (Global Development Initiative), แผนการริเริ่มด้านความมั่นคงระดับโลก (Global Security Initiative) และแผนการริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (Global Civilization Initiative) ตามข้อเสนอของ สี
“ฝ่ายเวียดนามเน้นย้ำว่า จีนเป็นเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่สามารถสร้างคุณูปการให้แก่เรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ทั้งหมดของการดำเนินการทางการทูตของฝ่ายเวียดนาม และความสัมพันธ์กับจีนที่เติบโตขยายตัวขึ้นไปเรื่อยๆ คือเรื่องสำคัญลำดับต้นที่สุดและเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์สำหรับเวียดนาม ซึ่งจะไม่ถูกก่อกวนหรือถูกบ่อนทำลายโดยกลุ่มพลังจากภายนอกใดๆ ทั้งสิ้น” เหมา กล่าว “นี่เป็นการวางรากฐานทางการเมืองที่หนักแน่นมั่นคงสำหรับการสร้างประชาคมจีน-เวียดนามชนิดที่มีอนาคตร่วมกัน (China-Vietnam community with a shared future) ขึ้นมา”
ขณะที่ ห่วง เล ทู (Huong Le Thu) รองผู้อำนวยการโปรแกรมเอเชียของกลุ่มคลังสมอง อินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) กล่าว [12] ในการให้สัมภาษณ์แก่สื่อ ยูไนเต็ด เดลี่ นิวส์ (United Daily News) ของไต้หวันว่า ทริปเดินทางไปเวียดนามของ สี มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกกล่าวแก่ประชาชนจีนแผ่นดินใหญ่และโลกตะวันตกว่า ปักกิ่งยังคงมีอิทธิพลที่แข็งแรงต่อเหล่าประเทศเพื่อนบ้านของตน
“พวกผู้นำเวียดนามจวบจนถึงเวลานี้ยังคงสามารถบริหารจัดการกับความสัมพันธ์ที่ประเทศตนมีอยู่กับสหรัฐฯและกับจีนได้ดีทีเดียว” เธอกล่าว “พวกเขาเข้าใจดีถึงความท้าทายและโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาของการแข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจยักษ์ใหญ่เหล่านี้ รวมทั้งวิธีการในการใช้ประโยชน์จากฐานะทางยุทธศาสตร์ของเวียดนาม”
เธอมองว่าคำถามก็คือฮานอยยังจะสามารถประคับประคองสถานการณ์เช่นนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน เธอบอกว่าพวกผู้นำเวียดนามจำเป็นที่จะต้องรับมือกับสหรัฐฯและกับจีนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากทั้งคู่ต่างเคยสู้รบทำสงครามกับเวียดามมาแล้วในอดีต
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 17 ธันวาคม 2566