โพล์หอการค้า เผย ปีใหม่ 67 ปีใหม่ 67 คึกคัก คาดเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท
หอการค้าเผย เงินสะพัดปีใหม่ 105,924.21 ล้านบาท ขยายตัว 2.8%สูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากช่วงที่เกิดโควิด-19 ขณะที่เศรษฐกิจปี 66 คนไทยมองเศรษฐกิจไม่สดใส
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “พฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ปี 67” ว่า ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่สำรวจระหว่างวันที่ 10 – 16 ธ.ค. 2566 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศไทยจำนวน 1,258 ตัวอย่าง พบว่าประเมินว่า การใช้จ่ายมีมูลค่า 105,924.21 ล้านบาท ขยายตัว 2.8%สูงสุดในรอบ 4 ปี นับจากช่วงที่เกิดโควิด-19 แยกเป็นกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ เลี้ยงสังสรรค์ 12,543.02 ล้านบาท, ทำบุญ 9,109.48 ล้านบาท, อุปโภคบริโภค 19,418.56 ล้านบาท, สินค้าคงทน 4,951.96 ล้านบาท และสินค้าฟุ่มเฟือย 1,723.97 ล้านบาท 2. ไปเที่ยว ได้แก่ ในประเทศ 54,074.31 ล้านบาท และต่างประเทศ 4,104.56 ล้านบาท
ทั้งนี้ การใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวในปี 67 สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 6,023.83 บาทต่อคน ลดลงจากปี 66 ที่ 10,262.07 บาทต่อคน ส่วนการท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 35,573.53 บาต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่ 27,168.75 บาทต่อคน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สำหรับการสำรวจการขยายของภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยในปี 2566 ส่วนใหญ่ 50% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.1-2.5% รองลงมา 28.8% คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 1.51-2% ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังไม่สดใสและยังฟื้นตัวได้ไม่ชัดเจน ขณะที่ปี 2567 ส่วนใหญ่ 56.4% คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5-3% และ 31.6% คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำกว่า 2.5%
“แม้การส่งออกจะเริ่มกลับมาบวก การท่องเที่ยวดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น แต่ไม่สามารถพลิกทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้โดดเด่น ส่งผลให้ประชาชนมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งมองคนละแบบกับนักวิชาการที่คาดการณ์ไว้เฉลี่ย 3.1-3.5% ขณะที่รัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ในความรู้สึกของประชาชนยังไม่เชื่อแบบนั้น”นายธนวรรธน์กล่าว
ส่วนมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบประชาชนส่วนใหญ่ 62.5% แก้ปัญหาได้ปานกลางและ 30.6% แก้ปัญหาได้น้อย เนื่องจากจำนวนประชาชนที่ลงทะเบียนมีสัดส่วนที่น้อย เพราะสถิติปี 2560 มีการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีคนเป็นหนี้นอกระบบได้ลงทะเบียนไว้เฉลี่ย 1 ล้านคน วงเงินเกือบแสนล้านบาท ขณะที่สภาพัฒน์ฯ ทำข้อมูลตัวเลขที่เท่าระบบปี 2564 อยู่ที่ 85,000 ล้านบาท ปัจจุบันประชาชนลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบอยู่ที่หลักแสน แต่มูลค่าหนี้อยู่ที่หลักพันล้าน ดังนั้น ต้องดูว่าปัญหาหมด หรือคนยังไม่ลงทะเบียน
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากผลการสำรวจจะเห็นว่าประชาชนกังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ทำธุรกิจเป็นห่วงเรื่องของการเป็นหนี้และผลกระทบเรื่องอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มุมมองดอกเบี้ยปี 2567 หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยในรอบการประชุมถัดไป เมื่อแนวโน้มเป็นในลักษณะนี้ในส่วนของการดำเนินนโยบายของประเทศไทยที่เงินเฟ้อไม่ได้มีปัญหาแต่คนจะห่วงเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
“ถ้าดอกเบี้ยเป็นในช่วงขาขึ้นจะซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อยทั้งค่าครองชีพและการผ่อนชำระต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 21 ธันวาคม 2566