รับมือเศรษฐกิจจีน 2567
การที่ประเทศจีน ประกาศตัวเลข GDP growth ของปี 2023 ว่าขยายตัว 5.2% สร้างความมั่นใจให้กับทั่วโลกว่าถึงแม้จะเจอกับปัญหาในประเทศหลายอย่าง แต่ก็ยังสามารถเติบโตได้ ดีกว่าเป้าหมาย 5% เล็กน้อย ซึ่งมีการประกาศชัดว่ามีความท้าทายที่จะเติบโตต่อไป โดยตอนนี้ ประเทศจีนใช้ 3 แนวทางในการเติบโต คือ
1)การพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ
2)การส่งออก และ
3)พัฒนาเรื่อง technology R&D innovation ซึ่งในปี 2024 นี้ยังมีปัญหาในประเทศที่ประเทศจีนต้องเจอ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีส่วนจะกระทบมายังประเทศไทย”
หอการค้าไทย คาดการว่าการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในปี 2567 นี้ มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เล็กน้อย ตามกำลังซื้อของจีนที่ยังคงอ่อนแรงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่ยังอยู่ในช่วงของการปรับตัว ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวนาน 2 - 3 ปี จนกว่าจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ทำให้การส่งออกของไทยไปจีนมีภาวะชะลอตัวใกล้เคียงกับปีก่อน โดยเฉพาะประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น เหล็กและโลหะ รวมถึงสินค้าการเกษตรอย่างแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวในตลาดจีนได้ เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ยางพารา รวมถึงผลไม้ไทยที่นิยมากในหมู่ชาวจีน โดยเฉพาะทุเรียนไทย สะท้อนให้เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกในช่วง ม.ค - พ.ย. ปีที่ผ่านมา พบว่าจีนครองส่วนแบ่งตลาด 97% และมีมูลค่าการส่งออก 1.34 แสนล้าน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 37% ซึ่งในปี 2567 นี้
หอการค้าไทยจะทำงานร่วมกับรัฐบาลในการเร่งผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนเมื่อปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) รวมทั้งสิ้น 1,191,875.30 ล้านบาท ส่วนการส่งออกผ่านแดนไปจีนมีมูลค่ารวม 199,495 ล้านบาท หรือ ขยายตัว 40.73%
นอกจากนี้ ความท้าทายของจีนด้าน Geopolitics กับ สหรัฐอเมริกา และยุโรป อาจทำให้จีนหาช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าช่วงที่ผ่านมาสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งถูกส่งเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนไทยมีความกังวลสินค้าราคาถูกที่ไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาแข่งขันด้านราคาในตลาดไทย
ทำให้ภาคการผลิตและการค้าของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จึงขอฝากให้ภาครัฐเข้มงวดในการตรวจจับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานโดยผ่านกลไกจากทั้ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และกรมศุลกากร โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค และควรต้องมีการสนับสนุนผู้ส่งออก อำนวยความสะดวกให้พิธีการศุลกากรมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้นด้วย
“ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังคงพยายามผลักดันการบริโภคภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งอัตราการว่างงานที่สูงและปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์”
แม้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศจีนจะอยู่ในช่วงชะลอตัว แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก เป็นกำลังซื้อเบอร์ 1 ของโลก และยังเป็นตลาดส่งออกหลักอันดับ 2 ของไทย ซึ่งหากสามารถขยายการส่งออกไปจีนได้เพิ่มเพียง 1% ก็ถือว่าจะสร้างมูลค่าได้มหาศาล และในอนาคตไทยยังจะได้ใช้ประโยชน์จากรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบการขนส่งระบบราง ให้สามารถขนส่งสินค้าและผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายช่องทางการส่งออกสินค้าของไทยเชื่อมไปสู่ตลาดโลก ดังนั้น จีนจะยังเป็นตลาดที่มีความสำคัญมากต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว ท่ามกลางความท้าทายของเศรษฐกิจโลก โดยทางการจีนเองยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจภายในประเทศปีนี้ จะเติบโตตามศักยภาพได้ที่ 5% และสามารถฟื้นตัวเต็มศักยภาพต่อไปได้
นอกจากการพึ่งพาการส่งออกจากจีนแล้ว ไทยเองจำเป็นต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีโอกาสเติบโตสูง ซึ่งหอการค้าไทยได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อวางแนวทางในการรักษาฐานตลาดเดิมอย่างสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ควบคู่ไปกับการเดินหน้ารุกตลาดเป้าหมายใหม่ที่มีศักยภาพสูง เช่น ซาอุดิอาระเบีย เวียดนาม และอินเดีย เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยและลดการพึ่งพาตลาดจีนในภาวะที่เศรษฐกิจภายในยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยสินค้าส่งออกหลายประเภทของไทยยังมีโอกาสขยายตลาดได้ เช่น อาหารและผลไม้ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ หอการค้า ฯ ประเมินว่าภาพรวมการส่งออกปี 2566 ที่ผ่านมาน่าจะติดลบ 2 - 3% แต่ในปี 2567 ภาพรวมจะกลับมาขยายตัวได้ 2 - 3%
ที่มา ฝ่ายนโยบายยุทธศาสตร์ หอการค้าไทย
วันที่ 24 มกราคม 2567