หอค้า-อินเด็กซ์ จับมือจัด 4 แฟร์ใหญ่ เปิดทางเอสเอ็มอีไทย เจาะกัมพูชา-ซาอุฯ
เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศกัมพูชา และประเทศซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กำลังลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐาน และกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปในทั้ง 2 ประเทศเพิ่มต่อเนื่อง
จึงเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและเอสเอ็มอี มีโอกาสเข้าไปขยายตลาดใน 2 ประเทศ ผ่านการส่งออกและการเข้าไปร่วมมือด้านลงทุน ดังนั้นหอการค้าไทย ร่วมกับบริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ผู้สร้างสรรค์ธุรกิจเทรดแฟร์และเอ็กซ์ซิบิชั่นระดับนานาชาติ จัดงานแสดงสินค้าใหญ่ รวม 4 งานในปี 2567 ภายใต้ชื่อ International Mega Fair 2024 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย สำหรับกัมพูชา สองประเทศมุ่งเพิ่มปริมาณการค้าให้บรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2568
สำหรับซาอุดีอาระเบีย ภาคเอกชนสองประเทศเห็นพ้องเป้าหมายร่วมกันด้านการส่งเสริมการค้า อาทิ วัสดุก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้อง อาหารและเครื่องดื่ม ท่องเที่ยวและบริการ พลังงาน เพาะปลูกต้นไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องครัวและอุปกรณ์ ปุ๋ย ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยตั้งเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตขึ้น 20% และตั้งเป้าเชิญชวนนักท่องเที่ยวซาอุฯ เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มเป็น 4 แสนราย ในปี 2567 จากปีก่อน 2.8 แสนราย ซึ่งนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง สามารถสร้างรายได้ให้กับไทยได้จำนวนมาก
“เชื่อว่าการจัดงานแสดงสินค้าทั้งในกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะเป็นเวทีที่จะช่วยยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากขึ้น เป็นโอกาสเชื่อมโยงทางการค้าระหว่าง ผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ผู้จัดจำหน่าย การเจรจาจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลไทย ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคอาเซียนและตะวันออกกลาง อย่างกรุงริยาด ขยายตัวสูง หอการค้าได้เสนอให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีทูตพาณิชย์ดูแลโดยตรงด้วย” นายสนั่น กล่าว
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดงานแสดงสินค้าและบริการของไทยระดับอาเซียนในปีนี้ เป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการของประเทศไทย ซึ่งงานมหกรรม International Mega Fair 2024 เราได้รับการสนับสนุนการจัดงานอย่างต่อเนื่องจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านการส่งออกและขยายตลาด ขับเคลื่อนอสเอ็มอีไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับงาน International Mega Fair ปีนี้ ได้รวบรวมการแสดงสินค้าจำนวน 4 งาน ประกอบด้วย Cambodia Architect & D?cor 2024, Cambodia Foodplus Expo 2024, และ Cambodia Health & Beauty Expo 2024 จัดวันที่ 2-4 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการเกาะเพชร (Diamond Island Convention and Exhibition Center) กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และ งาน International Mega Fair 2024 – Riyadh จัดวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติริยาด (Riyadh International Convention & Exhibition Center) กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่ามูลค่าความสำเร็จจากการจัด International Mega Fair 2024 สูงถึง 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทเล็งเห็นการการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างมีนัยยะ โดยการเติบโตของจีดีพีกัมพูชา ปี 2566 ขยายตัว 5.1% และปี 2567 ขายตัวถึง 6.3% มีแผนโครงการขนาดใหญ่ปี 2567 อาทิ โครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ Techo Takhmao International Airport คาดเสร็จปี 2568 และท่าอากาศยานเพิ่งเปิดใหม่ในเสียมราฐ Siem Reap Angkor International Airport เป็นต้น
สภาเพื่อการพัฒนากัมพูชา (CDC) ระบุปี 2566 ได้อนุมัติโครงการใหม่ 247 โครงการ และมีโครงการขยายการผลิต 21 โครงการ โดย 71 โครงการลงทุนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีเงินลงทุนเกือบ 4.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และสร้างงานมากกว่า 300,000 ตำแหน่ง ส่วนซาอุดีอาระเบีย จีดีพีสูงขึ้นจาก 0.03% ปี 2566 เป็น 4.4% ปี 2567 อันดับ 17 ของโลก หรือ 2.246 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ จำนวนประชากร 570 ล้านคนในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งในอนาคตซาอุดีอาระเบียมีโอกาสได้เป็นศูนย์กลางกิจกรรมระดับนานาชาติมากมาย อาทิ เป็นเจ้าภาพ World Expo 2030 และ FIFA World Cup 2034 เป็นต้น ส่งผลให้กรุงริยาด วางแผนโครงการและนโยบายเพื่อพัฒนาครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีเป้าหมายให้แล้วเสร็จปี 2573 กว่า 4,700 โครงการ มูลค่า 1 ล้านล้านบาท รวมถึงเพิ่มจำนวนของธุรกิจโรงแรม ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในปี 2573
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า “ในปี 2567 สสว. ตั้งเป้าหมายดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ผ่านแพลตฟอร์มระบบการให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (BDS) (https://bds.sme.go.th) ภายใต้มาตรการ SME ปัง…ตังได้คืน ปีที่ 3
โดยปัจจุบัน BDS มีผู้ให้บริการทางธุรกิจซึ่งเป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จำนวน 100 หน่วยงาน และได้ขึ้นทะเบียนบริการในด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ด้านการตลาดทั้งในและต่างประเทศ แล้วกว่า 400 บริการ และมีผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกเว็บไซต์ 27,000 ราย/User มีผู้ประกอบการ SME ซึ่งได้ยืนยันตัวตนและเตรียมยื่นการให้ความช่วยเหลืออุดหนุนแล้วกว่า 4,500 ราย และมีผู้ประกอบการที่ได้เข้ารับบริการเสร็จสิ้นแล้วกว่า 1,800 ราย ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งนอกจาก BDS จะเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการในการพัฒนาธุรกิจจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศแล้ว สสว. ยังให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายให้การพัฒนาธุรกิจแบบให้เปล่า (Grant) และเป็นแบบร่วมจ่าย (Co-payment) รายละ 500,000 บาท โดยในแต่ละปี สสว. จะให้การอุดหนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ต่อปี ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และใช้สิทธิ์ได้ปีละ 2 ครั้ง สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลาง (M) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี
ภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 50% หรือไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ประกอบการขนาดย่อม (S) ภาคการผลิตรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% หรือไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) รายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนร่วมจ่าย 80% ไม่เกิน 50,000 บาท
สสว. เชื่อมั่นว่าการจัดงาน International Mega Fair ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา และกรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะเป็นเวทีสำคัญที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้ได้พัฒนาช่องทางการจำหน่าย และพัฒนาสู่ตลาดต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการสู่สากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยจากผลงานในปีที่ผ่านมา มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน ได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดไปที่ซาอุฯ โดยภายในระยะเวลาการรับสมัครเพียง 2 เดือน มีผู้ประกอบการมากกว่า 30 ราย ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมมาตรการ BDS สร้างมูลค่าการค้ากว่า 270 ล้านบาท
“นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สสว. จึงจะปรับปรุงระบบ BDS เพื่อลดขั้นตอนการใช้บริการ อนุมัติได้รวดเร็วขึ้น ปรับการให้บริการโดยการเชื่อมโยงข้อมูลจากฐานข้อมูล SME One ID ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดกลุ่มผู้ประกอบการได้รวดเร็วขึ้น และลดปริมาณเอกสารแนบที่ใช้ในการสมัครให้น้อยลง” นายวีระพงศ์ กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 4 เมษายน 2567