"สนั่น" เปิดตัว "พจน์" ว่าที่ประธานหอการค้าคนที่ 26
"สนั่น" ดัน "พจน์ อร่ามวัฒนานนท์" รับไม้ต่อประธานหอการค้าฯคนที่ 26 ให้การทำงานไร้รอยต่อ พร้อมดัน 5 โปรเจ็กต์ใหญ่ กระตุ้นจีพีดีให้โตได้ 3 %
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 57 ประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2567 โดยการประชุมครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งก่อน เมื่อ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เหลือวาระอีก 1 ปี
ธรรมเนียมปฏิบัติของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะมีการประกาศแคนดิเดทที่จะเสนอตัวเป็นประธานคนใหม่ล่วงหน้า 1 ปี เพื่อให้คนมีการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นประธาน
การประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งนี้ นายสนั่น จึงได้เสนอชื่อ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 1 ซึ่งหมายความว่าจะเป็นผู้ถูกเสนอชื่อในการประชุมใหญ่ในปี 2568 ให้เป็นประธานคนที่ 26
นายสนั่น กล่าวว่า หอการค้ามีประเพณีที่จะให้แคนดิเดทได้มีการเวลาเตรียมตัวประมาณ 1 ปี เพื่อให้การทำงานของหอการค้ามีความต่อเนื่อง โดยหอการค้าต่างประเทศที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แสดงความเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีเพราะจะได้ไม่มีอะไรเซอร์ไพรซ์
“คุณพจน์ จะมาทำงานต่อจากผมในปีหน้า ถือเป็น successor หรือผู้สืบทอดต่อจากผม” นายสนั่น กล่าว
นอกจากนี้ การทำงานของหอการค้าไทยในช่วง 91 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าองค์กรแห่งนี้มีวัฒนธรรมและสร้างรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นจากรุ่นสู่รุ่นอย่างไร้รอยต่อ
สำหรับการทำงานในวาระที่เหลือ 1 ปี นับจากนี้ ได้มองความท้าทายที่หลากหลาย โดยจะมีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจให้โตไม่ต่ำกว่า 3% แม้เป็นเรื่องที่ท้าทายและหลายโจทย์ยังต้องช่วยกันแก้ไข โดยหอการค้าไทยมีแผนที่จะขับเคลื่อน Flag ship Project ร่วมกับรัฐบาล เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตได้ถึง 3% ซึ่งเป็นภารกิจอีก 1 ปีที่เหลือของคณะกรรมการชุดที่ 25 ที่จะขับเคลื่อนให้สำเร็จ 5 เรื่อง ประกอบด้วย
(1)การยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลัก ได้แก่ แพร่ ลําปาง ราชบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง นครพนม ศรีสะเกษ นครสวรรค์ จันทบุรี และกาญจนบุรี โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตจากภายในประเทศ ผ่านการกระจายความเจริญให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการรับฟังข้อหอการค้าและเห็นชอบกับแนวทางดังกล่าว โดยได้จัดตั้งคณะทำงานการขับเคลื่อนการยกระดับเมือง และมอบหมายให้ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุรเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
รวมทั้งมีหอการค้าไทยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เริ่มลงพื้นที่ Kick off จังหวัดนครพนมเป็นโมเดลต้นแบบในการริเริ่มโครงการเมื่อวันที่ 5 เม.ย.2567 และมีแผนเปิดตัวให้ครบทั้ง 9 จังหวัดที่เหลือภายในปีนี้
(2)ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจำเป็นต้องอาศัยศักยภาพของเอสเอ็มอี ที่มีมากสุดของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีบางส่วนเพิ่งเริ่มฟื้นตัว แต่ปัญหาหลักของเอสเอ็มอีไทย คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่ยังยากลำบาก
ส่วนนี้หอการค้าไทยจะเข้ามาช่วยหารือกับภาครัฐและสถาบันการเงิน ผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น พร้อมส่งเสริม Digital Transformation นำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ
(3)การให้ข้อแสนอแนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุดภายใต้ระยะเวลา 5 เดือน จะช่วยให้เม็ดเงินกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ หอการค้าไทยมีข้อสังเกตใน 3 ประเด็นใหญ่ คือ การดำเนินการของ Digital Wallet ที่จะเลื่อนไปเป็นไตรมาสที่ 4 มองว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าไป ซึ่งหากเป็นไปได้อยากจะให้มีเร่งจัดสรรงบประมาณปี 2567 โดยจัดสรรให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เดือดร้อนก่อนแล้วค่อยให้กลุ่มที่เดือดร้อนน้อยที่เหลือในระยะต่อไป ก็จะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าการรอไตรมาส 4
ส่วนการจัดทำ Appication ใหม่ (Super App) ส่วนนี้เคยเสนการใช้ App เป๋าตัง เพราะประชาชนคุ้นเคย ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าเข้าถึงประชาชนได้ และทำได้เร็ว หากนำ super app มาใช้จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับประชาชน และอาจจะเกิดความล่าช้า เพราะต้องไปทั้งเขียนและทดสอบระบบใหม่ และร้านค้าที่ใช้ลงทะเบียน ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาส และมีมาตรการจูงใจให้ร้านค้าที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ได้เข้ามาเป็นทางเลือกให้ประชาชน ก็จะทำให้โครงการนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม โครงการ Digital Wallet จะประสบผลสำเร็จและมีความสัมฤทธิ์ผลมาก ได้อยู่ที่ดำเนินการได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี
(4)การผลักดันบทบาทไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ หอการค้าไทยเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่สมัครสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ ซึ่งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าเป็นสมาชิก OECD คือ การยกระดับมาตรฐานประเทศไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้นในหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การค้า และความโปร่งใส ตลอดจนยกระดับในด้านกฎหมาย
สำหรับการยกระดับการค้าระหว่างประเทศ หอการค้าไทยวางเป้าหมายส่งเสริมการค้ากับประเทศยุทธศาสตร์หลัก Strategic Countries 6 ประเทศ ที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ จีน สหรัฐ เวียดนาม อินเดียและญี่ปุ่น
(5)การใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับ Technology Provider และ Technology Companies ที่ผ่านมาหอการค้าฯ พยายามผลักดันหน่วยงานราชการร่วมกับ กพร. ในการจัดทำ E-Government ในแต่ละหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดต้นทุนประชาชนและผู้ประกอบการในการติดต่อส่วนราชการ และงบประมาณภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใส
นายพจน์ กล่าวว่า การค้าและการลงทุนของไทยยังมีทิศทางที่สดใส แต่ควรมีการอัพเกรดการลงทุนของผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนไปแล้ว 40-50 ปี เพราะองค์ความรู้ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้การลงทุนที่สร้างมูลค่าสูงอยู่ในมือต่างประเทศ รวมทั้งกติกาโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตามให้ทัน
นอกจากนี้การแก้ไขกฎหมายที่มีการพิจารณาด้วยมุมมองทางการเมืองอาจทำให้ขัดต่อกติกาโลก โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.ประมง ที่อยู่ในการพิจารณาวาระ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับสัญญาจากสหภาพยุโรป (EU) ว่าจะทำให้ไทยถูกพิจารณาใบเหลือหรือแดง จากการทำประมงที่ผิดกฎหมายและไร้การควบคุม (IUU)
“ภาคเอกชนได้เสนอรัฐบาลและหารือกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อหาทางรอมชอม เพราะการเก็บค่าธรรมเนียมนำเข้าส่งออกที่ระบุในร่างกฎหมายอาจทำให้ไทยโดยมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTB)”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 22 เมษายน 2567