ภารกิจทิ้งทวน "สนั่น อังอุบลกุล" ความหวังผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
หลังการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง "ประธานกรรมการ" คนที่ 25 ของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา “นายสนั่น อังอุบลกุล” ได้เดินหน้าผลักดันนโยบาย Connect the Dots เป็นนโยบายหลักในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
โดยชู “หอการค้าไทย” เป็น “ศูนย์กลาง” ทำหน้าที่ประสานเชื่อมโยงการทำงานของเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อมุ่งยกระดับเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และตลอดสมัยแรก หรือช่วง 2 ปีแรกของการทำงาน “หอการค้าไทย” ได้แสดงบทบาทดังกล่าวอย่างโดดเด่น และมีส่วนให้คำแนะนำ พร้อมข้อเสนอแนะเรื่องต่างๆ ให้กับรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
จวบจนสมัยที่ 2 ของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะครบวาระปี 2568 ที่จะถึงนี้ “นายสนั่น” ได้ต่อยอดความสำเร็จของแนวนโยบายเดิม ด้วยแนวคิด “Connect-Competitive-Sustainable” ที่จะมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs) และประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายที่หลากหลาย
โดยมีนโยบายที่เป็น “เรือธง” ที่จะเร่งดำเนินการร่วมกับรัฐบาล เพื่อให้ประสบความสำเร็จก่อนครบวาระ และส่งไม้ต่อให้กับ “นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการ คนที่ 1 ผู้ที่เป็น Successor หรือผู้ที่ถูกวางตัวให้เป็นประธานกรรมการ คนที่ 26
“นโยบายเรือธง” ดังกล่าวมีอะไรบ้าง และจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเติบโตได้เต็มศักยภาพหรือไม่ “นายสนั่น” มีคำตอบ
เสนอ 4 แนวทางรับมือ 4 ท้าทาย
นายสนั่นเล่าเท้าความให้ฟังว่า “ตลอดช่วง 3 ปีของการรับตำแหน่ง เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย ซึ่ง “หอการค้าไทย” ในฐานะผู้นำภาคเอกชน ได้มีส่วนร่วมในการดึงทุกภาคส่วนมาช่วยกันแก้ปัญหา แม้วันนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้เต็มศักยภาพ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตเฉลี่ยได้เพียง 1.9% ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา”
“หอการค้าไทย” จึงเสนอ 4 แนวทางรับมือกับ 4 ความท้าทายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ ดังเช่นอดีตที่เติบโตได้ราวปีละ 4-5%
แนวทางแรก คือ การวาง Position หรือท่าทีที่เป็นกลางของไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ใหม่ๆ เข้ามา เพราะปัญหา Geopolitical Challenge หรือภูมิรัฐศาสตร์ ที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก และมีการสู้รบกัน ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย-ยูเครน, อิสราเอล-ฮามาส และอิหร่าน-อิสราเอลนั้น กดดันให้ราคาน้ำมัน ค่าขนส่งสินค้า และราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกสูงขึ้น รวมถึงความขัดแย้งของจีนกับสหรัฐฯ ทำให้เกิดสงครามการค้า เกิดการถอนการลงทุนออกจากจีน และหาฐานการผลิตใหม่ๆ
“ความเป็นกลางของไทยจะเป็นโอกาสดึงดูด FDI ใหม่ๆ เข้ามา เปลี่ยนอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เราเก่ง แต่เป็นสินค้าที่โลกเริ่มไม่ต้องการ ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), เกษตรแม่นยำที่ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลต้องวางนโยบายอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยด้วย (Ease of Doing Business)”
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ อาจเป็นโอกาสทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างโดดเด่น “หอการค้าไทย” จึงชูแนวทาง Trade &Travel ที่จะส่งเสริมการค้าขาย และการท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน มั่นใจว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าไทยได้ถึง 35 ล้านคนตามเป้าหมาย
ขณะที่แนวทางที่สอง ต้องเพิ่มทักษะแรงงาน โดยมีคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีอย่างน้อย 10% ของประชากรประเทศ หรือราว 5 ล้านคน จากปัจจุบัน แรงงานไทยที่มีทักษะด้านนี้มีเพียง 1% เพื่อรับมือความท้าทายด้านเทคโนโลยี หรือ Technology Challenge ที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น
แนวทางต่อมา คือ รัฐบาลต้องเร่งดึงดูดคนเก่งเข้ามาทำงานและมาอยู่ในประเทศ ผ่านการจัดทำ Talent Immigration Policy โดยการให้สัญชาติกับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพ หรือ Golden Visa ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนแรงงานที่ขาดแคลนจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ หรือ Population Challenge และได้คนเก่งมาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทย
โดยในช่วงที่ผ่านมา “หอการค้าไทย” ก็ได้ร่วมสร้าง “นักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่” (YEC) ล่าสุดมีถึงกว่า 7,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของท้องถิ่น และของประเทศ
และ แนวทางสุดท้าย การให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนาองค์การอย่างยั่งยืนทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change Challenge ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน หากไทยปรับตัวช้า ผู้ประกอบการอาจต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ
“รัฐบาลต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนปรับตัวให้ทันตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพ สร้างมาตรฐานให้ SMEs ซึ่งทั้ง 4 ความท้าทายนี้ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”
ขับเคลื่อน 5 ภารกิจดัน GDP โต 3% :
ขณะที่ภารกิจหลักในปีนี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายก่อนครบวาระการดำรงตำแหน่งในปี 2568 “หอการค้าไทย” ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกับรัฐบาล ซึ่งนายสนั่นให้ข้อมูลว่า Flag Ship Project ที่ต้องเร่งขับเคลื่อนให้สำเร็จ มีทั้งหมด 5 เรื่อง ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้กลับมาโตได้ถึง 3% ประกอบด้วย
เรื่องแรก คือ การเร่งยกระดับ 10 จังหวัดสู่เมืองหลัก ได้แก่ แพร่ ลำปาง ราชบุรี นครศรีธรรมราช ตรัง นครพนม ศรีสะเกษ นครสวรรค์ จันทบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นแนวคิดริเริ่มที่หอการค้าไทย ร่วมกับภาคธุรกิจผลักดันจังหวัดใหม่ๆ โดยมีเป้าหมายสร้างการเติบโตจากภายในประเทศ ด้วยการกระจายความเจริญให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น
“เรามองว่า แม้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยแล้ว แต่ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ หรือเมืองหลักของการท่องเที่ยว ยังไม่กระจายไปเมืองรอง ทำให้เศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยวเติบโต แต่เศรษฐกิจเมืองรองยังไม่ฟื้นเท่าที่ควร เราต้องการให้เมืองรองเติบโตไปด้วยกัน เป็นการกระจายความเจริญให้กับท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการยกระดับ 10 เมืองรองสู่เมืองหลัก”
โดยมี 3 แนวทางการทำงาน คือ 1.ปลดล็อกการสร้างศักยภาพของแต่ละเมือง 2.สร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น ระบบสาธารณูปโภค ทั้งน้ำประปา ไฟฟ้า เครือข่ายอินเตอร์เน็ต และ 3.ช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ด้วยการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้ทั่วถึง เพิ่มรายได้ให้ SMEs
ทั้งนี้ “หอการค้าไทย” นำเสนอแนวทางนี้ต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และได้สั่งตั้งคณะทำงานการขับเคลื่อนการยกระดับเมือง โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯเป็นประธาน มีหอการค้าไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นคณะทำงาน ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย.67 ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม เป็นที่แรก และจะใช้เป็นโมเดลต้นแบบของโครงการนี้ ตั้งเป้าหมายจะเปิดตัว 9 จังหวัดที่เหลือภายในปีนี้
“แต่ละจังหวัดจะนำเสนอโครงการพัฒนาจังหวัด มาที่คณะทำงาน ตามแนวทางที่แต่ละจังหวัดมีศักยภาพ เพื่อนำไปสู่การส่งเสริม และพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น บางจังหวัดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หรือมีเทศกาลต่างๆที่จะต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ระดับประเทศ ระดับโลก หรือบางจังหวัดมีอาหารขึ้นชื่อ ตอนนี้ก็กำลังคุยกันว่า จะทำครัวของจังหวัดเป็นครัวของโลก”
เรื่องที่สอง คือ การยกระดับ SMEs ส่งเสริมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะมองว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้รวดเร็ว ต้องอาศัยศักยภาพของ SMEs ที่มีมากสุดของประเทศ แต่ปัจจุบัน SMEs ยังอ่อนแอ “หอการค้าไทย” จึงจะช่วยหารือกับภาครัฐและสถาบันการเงิน ให้ช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ SMEs เข้าถึง แหล่งทุนได้มากขึ้น
พร้อมกับส่งเสริม Digital Transformation หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินธุรกิจ, จัดทำโครงการสร้างต้นแบบ SMEs ภาคเกษตรสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืน นำร่องที่กลุ่มเกษตรและอาหาร, หารือ Food Valley Netherland ยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตร เพิ่มรายได้
รวมถึงในโอกาสที่นายกฯจะเดินทางเยือนอิตาลีช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้ “หอการค้าไทย” มีแผนจะหารือกับหอการค้าอิตาลี และลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานของอิตาลี เพื่อยกระดับ SMEs ไทยในการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะผ้าไหมไทย
เงินดิจิทัลแจกช้าเศรษฐกิจโตช้า :
สำหรับเรื่องที่สาม นายสนั่นบอกว่า เป็นข้อเสนอแนะต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเสนอให้เร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ให้รวดเร็วและมากที่สุดภายในเวลา 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2567 เพื่อให้เม็ดเงินกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง
ขณะที่การเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ตที่จะเริ่มแจกในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มองว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช้าไป หากเป็นไปได้ รัฐควรจัดสรรงบปี 2567 ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบางก่อน จากนั้นค่อยให้กลุ่มที่เดือดร้อนน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากกว่ารอถึงไตรมาส 4
พร้อมกับเสนอให้ใช้แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” แทนซุปเปอร์แอปฯ เพราะประชาชนคุ้นเคยแล้ว หากใช้ซุปเปอร์แอปฯ อาจเกิดความยุ่งยาก และล่าช้า เพราะต้องเขียนและทดสอบระบบใหม่ รวมถึงอยากให้รัฐมีมาตรการจูงใจให้ร้านค้าที่ยังไม่เข้าระบบภาษี ได้เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับประชาชน เพราะร้านค้าเหล่านี้ยังกลัวเรื่องการเสียภาษี ซึ่งจะทำให้โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
“การแจกเงินดิจิทัล จะประสบผลสำเร็จได้มากเพียงใดอยู่ที่ดำเนินการได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะการใช้เงินจะหมุนเวียนเร็วและหลายรอบ นอกจากนี้ รัฐควรให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนผู้ประกอบการ และประชาชน เสริมด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว”
ส่วนเรื่องที่สี่ คือ การผลักดันบทบาทไทยสู่เวทีระดับนานาชาติ โดย “หอการค้าไทย” เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสมัครเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจการพัฒนา (OECD) เพราะจะช่วยยกระดับมาตรฐานประเทศให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า ความโปร่งใส และกฎหมาย
โดยในส่วนของภาคเอกชน “หอการค้าไทย” ได้วางเป้าหมายส่งเสริมการค้ากับประเทศยุทธศาสตร์หลัก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน สหรัฐฯ เวียดนาม อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย และญี่ปุ่น โดยจะร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า ลดอุปสรรคด้านต่างๆ และอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ “หอการค้าไทย” ยังเสนอให้นายกฯ และนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ พิจารณาเรื่อง Team Thailand Plus ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในประเทศต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุนให้มากขึ้น และขจัดอุปสรรคต่างๆ
“ที่เวียดนาม ท่านทูตจะคุยกับหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนทุก 2 เดือน เพื่ออัปเดตปัญหา อุปสรรค โอกาสการค้า การลงทุน ล่าสุดผมก็เอาแนวคิดนี้ไปเสนอท่านทูตไทยที่วอชิงตัน สหรัฐฯ ท่านก็เอาไปใช้ ตอนนี้ ท่านปานปรีย์สั่งการให้ประเทศต่างๆ ประชุม Team Thailand Plus แล้ว”
และเรื่องสุดท้าย การใช้ AI ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง “หอการค้าไทย” ได้ผลักดันให้หน่วยงานราชการจัดทำ E-Government เพื่อลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจ ประชาชน ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็ได้นำ AI มาใช้ในการเรียนการสอนและการให้บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพของบัณฑิตให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย
“ทั้งหมดนี้คือ แนวทางที่ “หอการค้าไทย” เสนอ หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเต็มศักยภาพแน่นอน ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้” นายสนั่นกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
วันที่ 29 เมษายน 2567