"สัญญาณชีพ" เอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติ
ถ้าเป็นมนุษย์ที่กำลังอยู่ภายใต้สภาวะวิกฤติ ต้องการจะยื้อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป จะต้องรีบตรวจวัดและติดตาม "สัญญาณชีพ" ต่างๆ อย่างระมัดระวังเพื่อเป็นสัญญาณล่วงหน้าให้ทราบอนาคต
ธุรกิจที่กำลังอยู่ภายใต้สภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นที่กำลังเจอกันอยู่ทุกวันนี้ก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเอสเอ็มอี เจ้าของ หรือ ผู้บริหารธุรกิจ จะต้องรีบตรวจวัด “สัญญาณชีพ” ของธุรกิจโดยรีบด่วน
“สัญญาณชีพ” ธุรกิจที่จะเป็นสิ่งบอกเหตุถึงภัยอันตรายของเอสเอ็มอี อาจแบ่งออกได้เป็นหลายๆ ด้าน เช่น
1)สัญญาณจากระบบกระแสเงินสด เพราะว่ากระแสเงินสดเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง หากธุรกิจมีปัญหาเกี่ยวกับกระแสเงินสด เช่น การไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามกำหนดสัญญา ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้การเงิน เจ้าหนี้เงินกู้ยืม หรือเจ้าหนี้ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเชื้อเพลิงพลังงาน
หรือการที่เจ้าของหรือผู้บริหารต้องตกอยู่ในสภาวะวิ่งหาแหล่งเงินภายนอกเพื่อนำเงินสดมากู้สถานการณ์ให้กับธุรกิจ การที่ต้องใช้วงเงินเบิกเกินบัญชีจากธนาคารเป็นประจำ ฯลฯ หรือปัญหาในด้านกระแสเงินสดรับเข้า มีการขอยืดเวลาการชำระเงิน หรือเบี้ยวหนี้ไม่ชำระเงินค่าสินค้า
สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นสัญญาณชีพที่สำคัญของระบบกระแสเงินสดของธุรกิจ ซึ่งเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจจะต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เช่น ทบทวนประมาณการกระแสเงินสดให้รวดเร็วและทันเวลาตรงตามสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง การจัดเตรียมกระแสเงินสดสำรอง หรือการหาแหล่งเงินสนับสนุนเพิ่ม เช่น หาแหล่งเงินกู้ใหม่ๆ
2)สัญญาณจากระบบการจัดส่งสินค้าและวัตถุดิบ ปัจจุบันอาจเรียกรวมๆ ว่า ระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลังขาดจำนวนหรือมีไม่เพียงพอกับคำสั่งซื้อของลูกค้า คู่ค้าส่งสินค้าล่าช้ากว่าที่สัญญาไว้ คู่ค้าหรือผู้ขายวัตถุดิบรายเดิมตัดสินใจเลิกธุรกิจ ตลอดไปจนถึงการได้รับคำร้องเรียนต่อว่าจากลูกค้าเรื่องการส่งสินค้าล่าช้าและไม่ครบจำนวน
แนวทางในการแก้ไข อาจจะต้องจัดหาระบบเทคโนโลยีด้านการจัดการโลจิสติกส์เข้ามาเสริม การนำระบบด้านการจัดการวัตถุดิบและคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือการจัดหาแหล่งสินค้าหรือวัตถุดิบเพิ่มขึ้นให้มีจำนวนเพียงพอกับการรองรับความต้องการของลูกค้าได้ยอ่างเพียงพอ
3)สัญญาณจากการลดลงของรายได้หรือยอดขาย สัญญาณชีพด้านรายได้ของกิจการ โดยเฉพาะการลดลงของยอดขายรวม การลดลงของคำสั่งซื้อ หรือปริมาณสินค้าคงคลังเริ่มจะเต็มหรือล้นสต็อก จะเป็นสิ่งบ่งชี้และคำทำนายล่วงหน้าถึงวิกฤติของธุรกิจ
กลยุทธ์ในการแก้สถานการณ์อาจทำได้โดยการมองหาสินค้าหรือแนวทางทำธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น หากเป็นสินค้าเดิม อาจปรับกลยุทธ์ด้านราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันกลับมาซื้อซ้ำ หรือปรับปรุงระบบการเข้าถึงลูกค้าด้วยช่องทางดิจิทัล
4)สัญญาณจากกระบวนการทำธุรกิจ เช่น ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่ม ของเสียเพิ่ม การใช้เชื้อเพลิงหรือพลังงานเพิ่มขึ้น แต่ประสิทธิภาพการผลิตคงเดิมหรือลดลง ต้นทุนการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น การได้รับคำต่อว่าร้องเรียนจากลูกค้าเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าหรือการให้บริการ การละเลยหรือไม่ทำตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำไว้
การนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยขึ้นมาใช้ การนำการบริหารธุรกิจสมัยใหม่มาใช้ เช่น ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำระบบกรีน หรือธุรกิจสีเขียวมาใช้ การให้ความสำคัญกับสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น
5)สัญญาณจากความล้าหลังทางเทคโนโลยีและการบริหารธุรกิจ หากเจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเห็นว่าภายในธุรกิจของตนเริ่มจะขาดข้อมูลที่ต้องการ หรือหาข้อมูลต่างๆ มาได้ช้า บุคลากรหรือพนักงานขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่จำเป็นในการยกระดับการแข่งขันของธุรกิจให้เท่าทันผู้อื่น
อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าธุรกิจจะต้องรีบหันมาให้ความสนใจกับเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ เช่น ซอฟต์แวร์ด้านการจัดการ การจัดการและวางแผนการเงิน การจัดการด้านข้อมูล รวมถึงช่องทางการตลาดใหม่ๆ ที่ใช้สื่อดิจิทัล รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะและเสริมความรู้ให้แก่พนักงาน
การตรวจจับสัญญาณชีพทางธุรกิจเหล่านี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เจ้าของหรือผู้บริหารธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถปรับกลยุทธ์และธุรกิจได้ทันท่วงทีเพื่อเดินนำหน้าฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระหน่ำมาในช่วงเวลานี้
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 3 กรกฏาคม 2567