"จีน" ปฏิรูปการศึกษารับงานยุคใหม่ ดันมหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรสู่ยุค AI
KEY POINTS
* ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีการเพิ่มหลักสูตรใหม่กว่า 7,566 หลักสูตร ส่วนหลักสูตรวิชา “วิศวกรรมศาสตร์” ถูกยกเลิกมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 31%
* เพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับ AI และมีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสำหรับตลาดแรงงานยุคใหม่
* สี จิ้นผิง หวังครองความเป็นผู้นำ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมส่งเสริมจุดอ่อนด้าน “พลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ”
มหาวิทยาลัยในจีนกว่า 10 แห่งกำลังปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากเดิมที่เน้นวิศวกรรมและเทคโนโลยีพื้นฐาน มาให้ความสำคัญกับ "เทคโนโลยีขั้นสูง" เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และบิ๊กดาต้า เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงานด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ สืบเนื่องจากคำร้องขอจากกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาปรับโครงสร้างหลักสูตรและแผนการฝึกอบรมบุคลากร ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไป
ปัจจุบัน อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวชาวจีนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ในเดือนก.ค. ที่ผ่านมา อัตราการว่างงานพุ่งสู่ระดับ 17.1% ท่ามกลางฤดูร้อนปีนี้ที่มีบัณฑิตจบใหม่มากถึงราว 11.79 ล้านคน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มักย้ำเสมอว่าการสร้างงานหรือหางานให้คนรุ่นใหม่ยังคงเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้นๆ และรัฐบาลสนับสนุนให้มีการจัดช่องทางหางานให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงนายจ้างมากขึ้น เช่น มหกรรมหางานจ็อบแฟร์ และออกนโยบายสนับสนุนธุรกิจเพื่อช่วยกระตุ้นการจ้างงาน
เมื่อเดือน ก.ค. กระทรวงศึกษาธิการของจีนเผยแพร่เอกสารระบุถึงการสนับสนุนความพยายามของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาบุคลากรในสาขาสำคัญ ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์, เอไอ, เทคโนโลยีควอนตัม, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และพลังงาน
การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ที่สุดจากรายงานวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวจง (HUST) พบว่าสาขาวิศวกรรมมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยระหว่างปี 2556-2565 มีการเพิ่มหลักสูตรใหม่กว่า 7,566 หลักสูตร นอกจากนี้ ยังมีสาขาการศึกษาใหม่ 96 สาขา เช่น หุ่นยนต์เอไอ และบิ๊กดาต้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนกำลังเดินหน้าพัฒนาการศึกษาด้านเอไออย่างจริงจัง โดยมหาวิทยาลัยซิงหวา (Tsinghua University) มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียวทง (Shanghai Jiao Tong University) และสถาบันเทคโนโลยีฮาร์บิน (Harbin Institute of Technology)ได้จัดตั้งโรงเรียนด้านเอไอ และเปิดหลักสูตรทั่วไปเพื่อยกระดับความรู้ด้านเอไอให้แก่นักศึกษาใหม่ทุกคน
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยฟูตัน (Fudan University)ยังมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรเกี่ยวกับเอไออย่างน้อย 100 หลักสูตรในปีการศึกษา 2567 และ 2568 โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการศึกษาและการผลิตบุคลากรด้านเอไอ การดำเนินการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของจีนในการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาสำหรับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยียุคใหม่
เฉิน หยาน รองคณบดีฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยฟูตันกล่าวว่า เป้าหมายหลักคือการสร้างความมั่นใจว่านักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะเรียนสาขาใด จะมีความเข้าใจพื้นฐานที่แข็งแกร่งเกี่ยวกับเอไอและมีทักษะในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสำหรับตลาดแรงงานยุคใหม่ ที่ทักษะด้านเอไอจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
แมคคินซีย์ แอนด์ คอมพานี คาดการณ์ว่าภายในปี 2573 เอไอจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจีนสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 34 ล้านล้านบาท) แต่การจะบรรลุเป้าหมายนี้จีนจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรที่มีทักษะด้านเอไออย่างเร่งด่วน โดยคาดการณ์ว่าความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านคนเป็น 6 ล้านคน
การปรับโครงสร้างหลักสูตรในมหาวิทยาลัยจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลอย่างชัดเจน โดยมีการยกเลิกหลักสูตรในสาขาอุตสาหกรรมดั้งเดิม และเพิ่มหลักสูตรใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่กำลังเติบโต เช่น บล็อกเชน การออกแบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์
การเปลี่ยนแปลงนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและต้องการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้และทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม อู๋ เหยียน ผู้ช่วยรัฐมนตรีศึกษาธิการของจีน ได้เรียกร้องให้หน่วยงานอาชีวศึกษาของจีนปรับตัวให้เข้ากับการพัฒนาของอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวันของ CPPCC ว่า กระทรวงได้ให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยในการเปิดสอนหลักสูตรในสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง
วิศวกรรมศาสตร์’สาขาที่ถูกปรับออกมากที่สุด :
ข้อมูลจากเว็บไซต์ ScienceNet.cn ระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2561 - 2565 มหาวิทยาลัยต่างๆ ในจีนมีการยกเลิกหลักสูตรวิชา “วิศวกรรมศาสตร์” มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนถึง 31% ของหลักสูตรทั้งหมดที่ถูกยกเลิก ตามมาด้วยหลักสูตร “การจัดการ” 18.04% และ “วิทยาศาสตร์” 14.77%
ตัวเลขนี้นับว่าน่าประหลาดใจไม่น้อยเนื่องจากหลักสูตรวิศวฯ และการจัดการนั้นเป็นสาขาที่มีอัตราการจ้างงานที่สูงมากในจีน โดยเฉพาะสาขาวิศวกรรมนั้นมีอัตราการจ้างงาน 100% หรือจบไปแล้วแทบจะไม่ตกงานเลยถ้าไม่เลือกงานจริงๆ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบก็คือ “เงินเดือน” ในสายวิศวกรรมนั้นค่อนข้างน้อย อัตราความพึงพอใจในงานและโอกาสความก้าวหน้าในงานที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยต่างๆ พิจารณายกเลิกหรือปรับหลักสูตรนี้ใหม่
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังตัดงบของวิศวกรรมศาสตร์เพื่อหันไปพัฒนาหลักสูตรยุคใหม่มากขึ้นแทน เช่น เอไอ, การผลิตอัจฉริยะ, หุ่นยนต์ และคลาวด์ คอมพิวติ้ง
ทั้งนี้นอกจาก 3 หลักสูตรดังกล่าวที่ถูกยกเลิกมากที่สุดแล้ว ยังมีหลักสูตรอื่นในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ถูกยกเลิก อาทิ ศิลปศาสตร์ 13.81%, วรรณคดี 9.45%, เศรษฐศาสตร์ 3.63%, การศึกษา 3.2%, กฎหมาย 3.17% และเกษตรกรรม 2.11%
ขณะที่รายงานของเว็บไซต์เดอะเปเปอร์ระบุว่าเมื่อวันที่ 31 ก.ค. มีมหาวิทยาลัยจีนถึง 19 แห่ง ได้ระงับหรือยกเลิกหลักสูตรไปแล้วทั้งหมด 99 หลักสูตร
หนึ่งในนั้นคือ มหาวิทยาลัยเสฉวน (Sichuan University) ที่กำลังพิจารณาจะยกเลิกหลักสูตร 31 หลักสูตร รวมถึงหลักสูตรแอนิเมชัน การแสดง และฟิสิกส์ประยุกต์ และเปิดตัวหลักสูตรใหม่เพื่อทดแทนหลักสูตรวิศวกรรมเคมีเบา โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมชีวมวล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต พร้อมทั้งยังคงสนับสนุนอุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างการฟอกหนังและการทำกระดาษควบคู่กันไป
มุ่งสู่ความเป็นผู้นำ :
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีสีได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการผลักดันเศรษฐกิจของจีนให้เติบโตบนพื้นฐานของนวัตกรรม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ “สหรัฐอเมริกา” การผลักดันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้จีนสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศตะวันตก
ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง เน้นย้ำถึงความจำเป็นของจีนในการ “ยึดพื้นที่สูง” หรือการครองความเป็นผู้นำในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แม้ว่าจะยอมรับว่ายังมีข้อบกพร่องและจุดอ่อนอยู่บ้าง โดยสีเรียกร้องให้ส่งเสริม “พลังทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ” เพื่อสนับสนุนการวิจัยพื้นฐานและการสนับสนุนการสำรวจอย่างเสรีไปพร้อมกัน
ตามแผนพัฒนา 3 ปีล่าสุดของรัฐบาลจีน ได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรมบุคลากรด้านเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างครอบคลุม โดยมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในสาขาต่างๆ เช่น วิศวกรดิจิทัล ช่างเทคนิค ผู้ปฏิบัติงานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอ ผู้ชำนาญการด้านการผลิตอัจฉริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านวงจรรวม ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของข้อมูล เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของประเทศ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 สิงหาคม 2567