สำรวจตลาดแรงงานกว่างซี Q2/2567 แรงงานทักษะด้าน IT ยังเนื้อหอม สายงานสื่อสิ่งพิมพ์แข่งเดือด!
รายงานสถานการณ์การจ้างงานของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงประจำไตรมาสที่ 2/2567 จากเว็บไซต์จัดหางาน gxrc.com ภายใต้การกำกับดูแลของกรมทรัพยากรมนุษย์และสวัสดิการสังคมกว่างซีระบุว่า ในภาพรวมทิศทางตลาดแรงงานในเขตฯ กว่างซีจ้วงยังคงเสถียรภาพได้ดี ตลาดแรงงานมีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้น การหางานมีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 4.82 (ตำแหน่งงาน : ผู้สมัครงาน)
สายงานที่มีการแข่งขันดุเดือด ได้แก่ สายงานสื่อสิ่งพิมพ์ สายงานด้านเคมีและเคมีภัณฑ์ และสายงานนิทรรศการ/ธุรกิจสัมพันธ์ มีอัตราส่วนการแข่งขันอยู่ที่ 1 ต่อ 47.30 / 33.28 และ 28.49 ตามลำดับ (ตำแหน่งงาน : ผู้สมัครงาน)
สายงานที่กำลังขาดแคลนพนักงาน ได้แก่ สายงานการผลิตและช่างเทคนิค โดยเฉพาะแรงงานและพนักงานควบคุม มีความต้องการสูงสุด ตามด้วยพนักงานประกอบและบรรจุหีบห่อ พนักงานทั่วไป และพนักงานขายทางโทรศัพท์
ในมุมมองกลุ่มธุรกิจ สนนเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,521 หยวน สายงานที่มีความต้องการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ สายงานบริการเช่าซื้อ หรือ Leasing and Business Services มีความต้องการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 142.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ตามด้วยสายงานขนส่งและโลจิสติกส์ (คลังสินค้า และงานไปรษณีย์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 52.55 และสายงานบริการด้านไอที (การส่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.53
ในมุมของผู้หางาน มีความคาดหวังต่อเงินเดือนเฉลี่ยที่ 5,807 หยวน สายงานที่มีผู้สมัครงานจำนวนมาก คือ งานก่อสร้าง งานเสมียนและธุรการ งานคลังและสถิติ งานด้านวัฒนธรรมและการศึกษา/งานวิจัย งานไอที งานบริหารทรัพยากรบุคคล งานบริหารการผลิตและโรงงาน งานขาย งานด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล และงานด้านโลจิสติกส์/คลังสินค้า
ในภาพรวม รายงานสถานการณ์การจ้างงานไตรมาสที่ 2/2567 นอกจากแรงงานทั่วไปแล้ว ตลาดยังคงมีความต้องการแรงงานทักษะที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงทักษะเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (digital transformation) ที่รวดเร็ว สะท้อนได้จากการประกาศจ้างงานในสายงานดังกล่าวให้เงินเดือนสูง โดยเฉพาะสายงานปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอัลกอริทึม (Algorithm) การบริหารโครงการและเทคนิคไอที การจัดการผลิตภัณฑ์อินเทอร์เน็ต และการพัฒนาโปรแกรมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
ศูนย์ BIC ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา การจ้างงานในเขตฯ กว่างซีจ้วงต้องเผชิญความท้าทายเรื่องการ ‘เหนี่ยวรั้ง’ แรงงานจบใหม่ให้อยู่ในเขตฯ กว่างซีจ้วง (ด้วยค่าตอบแทนที่น่าดึงดูด) เนื่องจากผู้ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาส่วนหนึ่งมีความมุ่งหวังที่จะไปแสวงหาโอกาส/เงินเดือนที่ดีกว่าในหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพลวัตสูงทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณปากแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง (นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองจงซาน และเมืองฝอซาน) และพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณปากแม่น้ำแยงซีเกียงในนครเซี่ยงไฮ้และมณฑลเจ้อเจียง (นครหังโจว)
สำหรับนักลงทุนไทย ควรติดตามแนวโน้มของการจ้างงานในจีนอย่างใกล้ชิดเพราะนอกจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นที่สอดคล้องกับประเภทธุรกิจของตนเองแล้ว ต้นทุนในการจ้างงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดตั้งธุรกิจในจีน ซึ่งศูนย์ BIC เห็นว่า การสร้างสมดุลเรื่องค่าตอบแทนระหว่างพนักงานและองค์กรเป็น ‘กุญแจดอกสำคัญ’ ของการดำเนินธุรกิจในจีน ทั้งนี้ มณฑลทางภาคตะวันตกเป็น ‘ตัวเลือก’ ที่น่าสนใจสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจในจีน เพราะยังมีความได้เปรียบด้านต้นทุนการประกอบธุรกิจที่ต่ำกว่าภาคตะวันออก (ข้อมูล: ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน ณ นครหนานหนิง/ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เรียบเรียงโดย: ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์)
ที่มา globthailand
วันที่ 16 กันยายน 2567