เอสเอ็มอีภาคอุตสาหกรรมเคมีจะ "โกกรีน" ได้อย่างไร
ในช่วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเคมี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ต่างก็รู้ตัวดีว่า ธุรกิจของตนเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของภาคประชาชนทั่วไป
แม้ว่าอุตสาหกรรมเคมีจะได้ชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างความเจริญเติบโตให้กับระบบเศรษฐกิจของโลก และนำไปสู่การดำรงชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิมได้มาก ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลงกว่าเดิม
แต่ภาพของปล่องควันจากโรงงานที่ปล่อยควันดำ สร้างมลพิษในอากาศ การปล่อยน้ำเสียจำนวนมากจนทำให้แม่น้ำลำคลองในธรรมชาติเปลี่ยนเป็นสีดำ เน่าเสีย และส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ให้แก่สังคมที่อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงโรงงานหรือกระจายไปทั่วในวงกว้าง
ผลกระทบต่อสังคมเหล่านี้ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมเคมีต้องมีการพัฒนาธุรกิจของตนให้มีความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วเต็มกำลังเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างแนวคิดใหม่ๆ ในการลดผลกระทบเชิงลบ และสมัครใจยินยอมที่จะเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจของตนเองบางส่วนเพื่อทำให้สังคม เศรษฐกิจ และสภาวะแวดล้อมของโลกมีความยั่งยืนได้มากขึ้น
แนวคิดสำคัญทฤษฎีหนึ่งที่อุตสาหกรรมเคมีทั่วโลกยอมรับและนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่ “หลัก 12 ประการของเคมีกรีน” ซึ่งธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีขนาดใหญ่ได้นำไปใช้อย่างได้ผลและเป็นแนวทางที่ธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีในระดับเอสเอ็มอีสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อให้เข้ากับเทรนด์ “โกกรีน” ร่วมไปกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมอื่น
หลัก 12 ประการของเคมีกรีน มีแนวคิดและวิธีดำเนินการโดยย่อ ดังนี้
หลักข้อที่ 1 :
ไม่สร้างของเสียจากการผลิต ขยะจากกระบวนการทำธุรกิจ หากสามารถทำได้โดยไม่ยาก ระลึกเสมอว่า การลดขยะและของเสียตั้งแต่ต้น จะเสียเวลา ค่าใช้จ่าย และชื่อเสียงภาพลักษณ์ของธุรกิจมากกว่าการที่ต้องไปเก็บกวาดหรือทำลายทิ้งภายหลังที่สะสมไว้เป็นจำนวนมาก
หลักข้อที่ 2 :
หาวิธีใช้วัตถุดิบในการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้วัตถุดิบจำนวนน้อยที่สุดไม่เหลือทิ้งขว้างเพื่อทำให้ผลิตสินค้าได้คุณภาพตามต้องการเพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
หลักข้อที่ 3 :
ปรับเปลี่ยนหรือเลือกใช้วัตถุดิบและสารเคมีทดแทนที่มีอันตรายน้อยลง เท่าที่จะสามารถหามาทดแทนได้ หรือแม้แต่จะต้องทำการวิจัยพัฒนาวัตถุดิบและสารเคมีทดแทนขึ้นมาใช้เอง
หลักข้อที่ 4 :
ทบทวนว่าผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาด จะมีวงจรชีวิตหลังจากการใช้งานของลูกค้าหรือผู้บริโภคแล้วจะถูกทิ้งไปจนก่อให้เกิดอันตรายและสร้างมลพิษขึ้นได้หรือไม่ หากเป็นได้ ควรหาวิธีที่จะสามารถนำมาใช้ใหม่ ใช้ซ้ำ หรือดัดแปลงไปใช้งานอื่นได้ต่อไป
หลักข้อที่ 5 :
เลือกใช้วัตถุดิบหรือวัสดุประกอบในการผลิตที่สามารถสร้างขึ้นทดแทนได้ ไม่ใช่ใช้แล้วธรรมชาติไม่สามารถสร้างขึ้นมาทดแทนได้หรือต้องใช้เวลายาวนานเป็นร้อยเป็นพันปี กว่าที่จะสามารถนำมาใช้งานได้อีก
หลักข้อที่ 6 :
ใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการสร้างมลพิษออกสู่อากาศ
หลักข้อที่ 7 :
หากกระบวนการทางเคมีที่ใช้อยู่มีความเป็นพิษหรือเป็นอันตรายสูง ให้พัฒนานำเทคโนโลยีใหม่ที่ปลอดภัยกว่ามาใช้ พยายามปรับเปลี่ยนกระบวนการที่ต้องใช้อุณหภูมิสูง ต้องทำให้เกิดปฏิกิริยาภายใต้ความดันสูง หรือการใช้สารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต
หลักข้อที่ 8 :
ลดปริมาณการใช้ตัวทำละลาย ตัวทำละลายที่เป็นพิษหรือมีอันตรายสูง
หลักข้อที่ 9 :
ทบทวนขั้นตอนและกระบวนการผลิตเพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นหรือควบรวมขั้นตอนให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อลดต้นทุนและระยะเวลาในการผลิต
หลักข้อที่ 10 :
ลดขั้นตอนหรือกระบวนการที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ เกิดภัยอันตราย เช่นเพลิงไหม้หรือการระเบิด หรือเกิดการหกรั่วไหลของสารเคมี
หลักข้อที่ 11 :
หาตัวเร่งปฏิกิริยาทางเคมีที่เหมาะสมเพื่อลดเวลาการผลิต และเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่นำมาใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
หลักข้อที่ 12 :
ลดการใช้สารแต่งเติมที่ไม่ทำให้สมบัติการใช้งานของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น แต่อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนหรือเป็นผลเสียในการกำจัดหลังหมดอายุใช้งาน
จะเห็นได้ว่า หลักการทั้ง 12 ข้อ ของเคมีกรีนนี้ แม้ว่าจะต้องมีการศึกษาทบทวนและนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ทดแทนวิธีการเดิม ๆ ที่ใช้อยู่
รวมถึงการต้องใช้ความรู้ใหม่ๆ มาช่วยในการดำเนินธุรกิจ เป็นการพัฒนาเพื่อนำธุรกิจไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดความเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบของอุตสาหกรรม และหลีกเลี่ยงการไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม
และยังจะเป็นการนำธุรกิจเข้าสู่เทรนด์ของความยั่งยืน และสร้างภาพลักษณ์ของการ “โกกรีน” ได้เป็นอย่างดี อีกด้วย
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 30 ตุลาคม 2567