เหตุผลที่ PIIE สถาบันวิจัยชื่อดังในสหรัฐแทงสวน นโยบายทรัมป์ดีต่อเศรษฐกิจโลก
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่านโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จะส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมโหฬาร โดยเฉพาะนโยบายเก็บภาษีนำเข้าทั้งกระดานอัตรา 10% และเก็บภาษีสินค้าจากจีนอัตรา 60% ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศลดลง และจะมีหลายประเทศที่ตกเป็นเป้าปลายทางรับสินค้าจีนที่เบี่ยงเส้นทางมาจากสหรัฐ
แต่สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Peterson Institute for International Economics : PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐกลับ “แทงสวน” โดยนำผลการจำลองโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ล่าสุดออกมาบอกว่า หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วนำนโยบายสำคัญของเขาไปใช้ร่วมกันจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก
น่าสนใจว่าสถาบันปีเตอร์สันค้นพบอะไร จึงได้ข้อสรุปสวนทางมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เช่นนี้
สถาบันปีเตอร์สันระบุในบทความเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ วาดภาพสหรัฐเป็นเหยื่อของชาวต่างชาติ และบอกว่าตนเองจะเป็นผู้แก้ไขความไม่สมดุลเหล่านี้ โดย (1) ส่งผู้อพยพที่ทำงานในสหรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมากกว่าล้านคนออกจากประเทศ (2) เก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงขึ้นโดยเก็บ 60% สำหรับสินค้าจากจีน และ 10% สำหรับประเทศอื่น ๆ (3) เพิ่มอิทธิพลของประธานาธิบดีเหนือธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด (Federal Reserve System)
ทรัมป์บอกว่านโยบายเหล่านี้จะทำให้ชาวต่างชาติต้องจ่ายคืนให้สหรัฐตามที่สมควร แต่การศึกษาของ PIIE พบว่าผลลัพธ์ของการใช้นโยบายทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นไปในทางตรงข้าม
จากการวิจัยร่วมของคณะนักวิจัยจำนวน 3 คนของ PIIE ได้ข้อสรุปว่า หากนำนโยบายเหล่านี้ของทรัมป์ไปใช้ร่วมกันจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐเสียเอง และในขณะเดียวกันก็จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่
การศึกษาวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาผลกระทบจากนโยบายทั้ง 3 ของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจของ 24 ประเทศในช่วงจากปีนี้ไปถึงสิ้นปี 2028 ซึ่งเป็นปีสิ้นสุดการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของประธานาธิบดีคนใหม่ โดยมีแบบจำลองสถานการณ์แบบ “ต่ำ” และแบบ “สูง”
ข้อค้นพบที่สำคัญ คือ การดำเนินนโยบายทั้ง 3 นี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจของสหรัฐ จีน และเม็กซิโก โตต่ำกว่ากรณีที่ไม่ใช้นโยบายเหล่านี้ ขณะที่เศรษฐกิจของอีก 21 ประเทศจะเติบโตดีกว่าเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่ได้นำนโยบายเหล่านี้ของทรัมป์ไปใช้
การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนและเม็กซิโกจะ “ชะลอตัวลง” จากปัจจัยหลัก คือ อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐที่สูงขึ้น เนื่องจากทั้งสองประเทศมีการค้ากับสหรัฐสูงมากทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่า ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีการค้ากับสหรัฐน้อยกว่าก็จะได้รับผลกระทบจากภาษีน้อยกว่า กล่าวคือ การวิจัยของ PIIE สรุปว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกในวงกว้างมากนัก
ในทางกลับกัน ตุรกีและรัสเซีย ซึ่งไม่มีการค้ากับสหรัฐมากนักจะเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ได้ประโยชน์ เนื่องจากมีเงินทุนไหลเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมและการผลิตจำนวนมาก ทำให้การลงทุนโดยรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แบบจำลองนี้ไม่ได้คิดรวมถึงผลกระทบของการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซีย
ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ที่ประเทศต่าง ๆ จะได้ คือ จะมีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะตอบสนองต่อการสูญเสียอิสระของธนาคารกลางสหรัฐโดยโยกเงินออกจากตลาดหุ้นสหรัฐไปลงทุนในตลาดของประเทศอื่น ซึ่งหากไม่มีการใช้นโยบายนี้ เงินทุนดังกล่าวจะอยู่ในตลาดทุนสหรัฐ และถูกนำไปใช้หนุนเสริมเศรษฐกิจสหรัฐ
สำหรับสหรัฐเอง นโยบายของทรัมป์จะส่งผลกระทบต่อครัวเรือนและธุรกิจสหรัฐ ทำให้การจ้างงานลดลงและกระตุ้นให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าคงทนมากที่สุด เนื่องจากภาคการผลิตเหล่านี้พึ่งพาการค้าและการลงทุนระดับโลก ส่วนดุลการค้าที่ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลนั้น นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของเขาจะไม่ได้ช่วยปรับปรุงดุลการค้าของสหรัฐมากนัก
“แม้ว่าทรัมป์จะสัญญาว่าจะทำให้ชาวต่างชาติต้องจ่าย แต่การวิเคราะห์ของเราแสดงให้เห็นว่านโยบายของเขาจะทำให้ชาวอเมริกันต้องจ่ายมากที่สุด” PIIE สรุป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567