เงาดำคลุมการค้าโลกไตรมาส1 ปี68 ส่งสัญญาณ "ปั่นป่วน-การเทรดลด"
การค้าคือฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งปี 2568 การค้าโลกกำลังเผชิญความท้าทายจากหลายปัจจัย รายงาน Global trade MARCH 2025 Update 4 Policy insights
เผยแพร่โดย การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด) สาระสำคัญระบุว่า ตลอดปี 2367 แนวโน้มการค้าโลกที่เริ่มดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 และยังเดินหน้าต่อไปได้ โดย ยังคงดำเนินต่อไปในช่วงสี่ไตรมาสที่ผ่านมา โดยการเติบโตของการค้าในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วในส่วนของเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้เป็นสำคัญ
เมื่อพิจารณาเศรษฐกิจการค้าไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 ที่ผ่านมาจะพบว่าสัญญาณการชะลอตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เบื้องต้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 บ่งชี้ว่าทั้งสินค้าและบริการยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลให้การค้าเติบโตในขณะนี้เป็นผลจากการเร่งซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐที่อาจจะเกิดขึน

“เมื่อเรามองไปข้างหน้าในปี 2568 พลวัตของการค้าระหว่างประเทศอาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะมีแนวโน้มทรงตัวในระดับปานกลาง แต่การคาดการณ์การค้าระหว่างประเทศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างมาก”รายงานระบุ
ทั้งนี้ มีสัญญาณ ความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของนโยบายการค้าของสหรัฐ ซึ่งส่งผลเป็นความกังวลเกี่ยวกับความไม่สมดุลของการค้าโลก ขณะที่ความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของการค้าโลกยิ่งไปกว่านั้น ความเป็นไปได้ของการเพิ่มขึ้นของนโยบายการค้ายังสร้างเงาของความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มการค้าโลกสำหรับปี2568
ในทางกลับกัน ท่ามกลางปัจจัยลบ ก็ยังมีปัจจัยบวก จากการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกจะผ่อนคลายลงและการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนสำหรับปี 2568 ซึ่งมีเป้าหมายการเติบโตประมาณ 5% อาจช่วยหนุนการค้าโลกได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การหยุดชะงักของนโยบายหลายประการอาจส่งผลกระทบต่อการค้าและเสถียรภาพทางการเงิน ซึ่งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการตัดสินใจด้านนโยบายที่สมดุลและความร่วมมือพหุภาคีที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนการค้าโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
โดยรายงานได้สรุปปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มการค้าโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงในปี 2568 ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งการใช้มาตรการการค้าแบบปกป้องทางการค้า และยังมีแนวโน้มที่จะเชื่อมโยงไปถึงมาตรการการค้ากับวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่นโยบายการค้าโดยตรงมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดจากการใช้มาตรการภาษีใหม่ที่มีเป้าหมายไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ รวมถึงมาตรการภาษีที่กำหนดเป้าหมายชัดเจนมากขึ้น เช่น สินค้าเหล็กและอลูมิเนียม คาดว่ามาตรการภาษีเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและระดับภูมิภาค
การหยุดชะงักที่เกิดจากมาตรการภาษีเหล่านี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการผลิตและการจัดหา เนื่องจากบริษัทและประเทศต่างๆ ต้องปรับตัวให้เข้ากับอุปสรรคการค้ารูปแบบใหม่และพยายามลดค่าใช้จ่ายของมาตรการภาษีเหล่านี้
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าที่ยังคงดำเนินอยู่ระหว่างเศรษฐกิจหลัก ทั้งนโยบายการค้าแบบฝ่ายเดียวและเข้มงวดมากสามารถก่อให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ได้ มาตรการดังกล่าวบ่อยครั้งกระตุ้นให้คู่ค้าที่ได้รับผลกระทบดำเนินการตอบโต้ ซึ่งมักจะสร้างวัฏจักรของอุปสรรคการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับบุคคลที่สามในที่สุด
การให้ความสำคัญกับความกังวลของประเทศและความเร่งด่วนในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศน่าจะยังคงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในนโยบายอุตสาหกรรมและการค้าไปจนถึงปี 2568 เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคาดว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศ
“ในช่วงเดือนแรกของปี 2568 ความต้องการการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ลดลงอย่างเห็นได้ชัดซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากดัชนีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ที่เซี่ยงไฮ้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าดัชนีเหล่านี้จะชี้ให้เห็นถึงต้นทุนการขนส่งที่ลดลง แต่ยังบ่งชี้ถึงความต้องการทั่วโลกที่ลดลง”
สำหรับประเทศไทยทีมีสัดส่วนรายได้จากการค้าระหว่างประเทศมากถึง 70% ของจีดีพี ได้ประเมินสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศปี 2568 ไว้นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ท่ามกลางความเสี่ยงของบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลก จากผลกระทบของนโยบายกีดกันการค้าของหลายประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังมีปัจจัยหนุนจาก การย้ายฐานการผลิตและส่งออกสินค้าของบริษัทต่างชาติเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ รวมทั้งโอกาสการส่งออกสินค้าทดแทนประเทศที่มีการตั้งกำแพงภาษีระหว่างกัน อีกทั้งยังมีอานิสงส์จากวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และกระแสความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับมาตรการผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ที่จะเป็นแรงผลักดันการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก ซึ่งมีปัจจัยหนุนสำคัญจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ทยอยลดลง หลังจากที่ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก มีทิศทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีอุปสงค์สินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้ามากขึ้น
ปัจจัย ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารทั่วโลก จากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอน และยังอาจได้ปัจจัยหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตในตลาดโลกที่ผันผวนและไม่เพียงพอจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวนในบางช่วง
ความต้องการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามการลงทุนเพื่อพัฒนาและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งสนับสนุนความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องในกลุ่ม
เซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึง การเติบโตของธุรกิจ Data Center ที่ส่งผลดีต่อความต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการต่างชาติจากเพื่อลดผลกระทบนโยบายกีดกันทางการค้า การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทำให้ยังคงมีความต้องการย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพิ่มเติม ส่งผลดีต่อการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่จีนมีการลงทุนในไทยอยู่แล้วPCA และของเล่น เป็นต้น อาทิ โซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกล้องดิจิทัล ถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง น้ำผลไม้ อุปกรณ์โทรทัศน์ แผงวงจรพิมพ์
มาตรการผลักดันการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชน ตาม 10 นโยบายผลักดันการส่งออกไทยปี 2568 เช่น การสร้างความพร้อมของไทยในด้านการค้าและการลงทุน การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ และพร้อมที่จะเดินหน้าทำ FTA กับทุกประเทศ ตลอดจนเน้นการโปรโมตสินค้าและบริการตามนโยบายผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่โลก
ในส่วนปัจจัยกดดัน ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์,ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ, ปริมาณการค้าโลกที่ขยายตัวลดลง จากผลกระทบการใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและ การลงทุนของหลายประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการตอบโต้ของประเทศต่าง ๆ ที่จะกระทบบรรยากาศการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ประเมินว่า ผลของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะกระทบการค้าโลกรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และปัจจัย ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มผันผวนท่ามกลางความเสี่ยงที่สูงขึ้นของตลาดการเงินโลก
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568