SCB EIC ชี้เหตุแผ่นดินไหวสะเทือนเศรษฐกิจไทย 3 หมื่นล้าน
SCB EIC ประเมินผลกระทบแผ่นดินไหวส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยกว่า 3 หมื่นล้าน กระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจก่อสร้าง แนะติดตามการฟื้นความเชื่อมั่นในระยะต่อไป
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 บริเวณตอนกลางของประเทศเมียนมาเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด แรงสั่นสะเทือนกระจายไปในหลายประเทศ รวมถึงไทย สร้างความเสียหายต่ออาคารจำนวนมาก

โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ นับเป็นความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งที่ไทยเคยเผชิญมา SCB EIC ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อภาคธุรกิจและเศรษฐกิจภาพรวม ดังนี้
ภาคท่องเที่ยว :
เหตุแผ่นดินไหวเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สะท้อนจากตัวเลขการยกเลิกห้องพักในช่วง 2 วันที่ผ่านมาของสมาคมโรงแรมไทยที่มีการยกเลิกห้องแล้วประมาณ 1,100 บุกกิงทั่วประเทศ และจากข้อมูลของผู้ประกอบการโรงแรมห้องพักที่ถูกยกเลิกส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขณะที่ด้านสมาคมสายการบินประเทศไทยระบุว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ตัวเลขการจองที่นั่งโดยสารรายวันลดลงเฉลี่ย 40 - 60% นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนหนึ่งยังเฝ้าระวังสถานการณ์ในไทยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศออกประกาศเตือนด้านความปลอดภัยกับพลเมืองที่จะเดินทางมาไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของสหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และแคนาดา
SCB EIC ประเมินเหตุแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในระยะสั้น ในการประเมินผลกระทบเบื้องต้นคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนจะลดลงราว -12% จากเดือนก่อน ซึ่งลดลงมากกว่าการลดลงเฉลี่ยตามฤดูกาลท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายนของช่วงปี 2017-2019 ซึ่งอยู่ที่ราว -6% จากเดือนก่อน
และจะใช้เวลาฟื้นตัวให้กลับมาเติบโตได้ตามปกติราว 3 เดือน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีโอกาสลดลงจากประมาณการเดิมราว 4 แสนคน และสูญเสียรายได้จากค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วขึ้น หากภาครัฐเร่งออกมาตรการเรียกความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับคืนมาได้เร็ว ประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติของ SCB EIC ในปีนี้เดิมที่ 38.2 ล้านคนจะถูกปรับหลังสถานการณ์ท่องเที่ยวมีความชัดเจนมากขึ้น
ภาคอสังหาริมทรัพย์ :
(1)ตลาดที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม :
ตลาดคอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ แม้จะไม่ได้เกิดความเสียหายในระดับอาคารถล่ม แต่การฟื้นตัวของตลาดฯ ยังขึ้นอยู่กับการกลับมาของความเชื่อมั่นผู้บริโภค SCB EIC คาดว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2568 มีแนวโน้มอยู่ที่ 8.5 หมื่นหน่วย หดตัว -0.8% เทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน ต่ำกว่ามุมมองเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.6% เทียบช่วงเดียวกันในปีก่อน สาเหตุหลักเพราะ
* กลุ่มที่มีแผนจะโอนกรรมสิทธิ์/มีแผนจะซื้อคอนโดมิเนียม มีแนวโน้มจะชะลอการโอนหรือการตัดสินใจซื้อออกไป เนื่องจากยังต้องการความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย รวมถึงการซ่อมแซมความเสียหายเชิงสถาปัตยกรรมของห้องพัก พื้นที่ส่วนกลาง และตัวอาคาร ก่อนการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์ หรือซื้อ
* กลุ่มผู้ลงทุนในคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มชะลอการลงทุนจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ เช่น ราคาขายต่อของคอนโดมิเนียม การย้ายออกของผู้เช่ากลุ่มที่มีความกังวลอาจหันไปเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบแทน
แม้อัตราค่าเช่าจะสูงกว่าคอนโดในทำเลเดียวกัน หรือเลือกเช่าที่อยู่อาศัยแนวราบที่อัตราค่าเช่าไม่ต่างจากคอนโดมิเนียมมากนักในทำเลที่ไกลออกไป
สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และกำลังผ่อนชำระค่างวด โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่างจะยังมีแนวโน้มอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และผ่อนชำระค่างวดต่อไป เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านการเงินในการย้ายที่อยู่อาศัย หรือซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่ม
ทั้งนี้ การที่ผู้ประกอบการเร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร และมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกบ้านทันท่วงที ช่วยคลายความตื่นตระหนกสำหรับลูกบ้านได้ส่วนหนึ่ง ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เช่น การลดค่างวดหรือพักชำระเงินต้นสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย และการออกสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย จะช่วยประคับประคองไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของการผ่อนชำระค่างวด
รวมถึงสามารถดำเนินการซ่อมแซมห้องพักให้สามารถกลับมาอยู่อาศัยได้ตามปกติ ทั้งนี้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบมีแนวโน้มได้อานิสงส์บางส่วนจากกลุ่มที่มีความกังวลในการอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม และมีความพร้อมทางการเงินในการย้ายไปที่อยู่อาศัยแนวราบ หรือสามารถซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มเติม

การเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในปี 2568 จะยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยเผชิญแรงกดดันหลักจากกำลังซื้อกลุ่มรายได้ปานกลาง-ล่างที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่แนวโน้มการชะลอการโอนกรรมสิทธิ์ หรือการตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมจากแผ่นดินไหว เป็นแรงกดดันให้หน่วยเหลือขายสะสมคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2568 ยังอยู่ในระดับสูงราว 74,000 หน่วย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการปรับแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบการในช่วงที่เหลือของปีที่อาจชะลอการเปิดโครงการใหม่ รวมถึงทำการตลาดแข่งขันชูจุดขายด้านความปลอดภัยในการอยู่อาศัยมากขึ้น เช่น ความน่าเชื่อถือของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มาตรการรับมือภัยพิบัติ การตอบสนองความต้องการหรือให้ความช่วยเหลือลูกบ้านได้ทันท่วงที
(2)ตลาดรับเหมาก่อสร้าง :
พื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงในระดับที่ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักหลังเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้กิจกรรมก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในปี 2568 จะยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง ประกอบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงผู้ผลิตและค้าวัสดุก่อสร้างจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการซ่อมแซมอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย
SCB EIC มองว่า การปรับแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี ที่อาจชะลอการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่มากขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเนื่องให้กิจกรรมก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียม มูลค่าราว 86,000-100,000 ล้านบาทต่อปี (ราว 15%-17% ของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนโดยรวม) เติบโตชะลอลงตาม
ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้าง จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ว่าจ้าง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญ
รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีแนวโน้มจะเผชิญความเข้มงวดจากผู้ว่าจ้างมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าประมูลงาน ทั้งคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้รับเหมาหลัก พันธมิตร และผู้รับเหมาช่วง ขั้นตอนการก่อสร้างที่จะต้องมีความปลอดภัย และใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน
จนถึงขั้นตอนตรวจรับงานที่ผู้ว่าจ้างจะเข้มงวดมากขึ้น ทั้งความตรงเวลาและคุณภาพของงานที่ส่งมอบ ความเข้มงวดในขั้นตอนต่างๆ ที่สูงขึ้นนี้จะเป็นแรงกดดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคก่อสร้างตามมาในระยะข้างหน้า
SCB EIC ประเมินผลกระทบเบื้องต้นจากแผ่นดินไหวราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ตัวเลขจริงจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการฟื้นความเชื่อมั่น
ในระยะสั้น เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีแนวโน้มสร้างผลกระทบต่อความกังวลด้านความปลอดภัยและการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความกังวลที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานอาคาร จนอาจทำให้กิจกรรมบางส่วนหยุดชะงักเพื่อรอตรวจสอบ
รวมถึงประชาชนอาจชะลอการใช้จ่ายบริการ ช็อปปิง และการท่องเที่ยวหลังเกิดเหตุครั้งนี้ อย่างไรก็ดี รายจ่ายที่หายไปบางส่วนอาจได้รับการชดเชยจากรายจ่ายซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายภาครัฐที่อาจเพิ่มขึ้น จากการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ ผ่านการจัดสรรงบฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย ทำให้ขนาดผลกระทบอาจลดความรุนแรงลงได้
"ผลกระทบเบื้องต้นจากเหตุแผ่นดินไหวต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2568 ราว 3 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจมีแนวโน้มลดลงจากความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ ผลกระทบสุทธิต่อเศรษฐกิจอาจยังไม่แน่นอน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาความเชื่อมั่นจะฟื้นฟูกลับมาได้ทั้งของคนในประเทศ นักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติ"
SCB EIC มองว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่รุนแรงมากและมีผลชั่วคราวคือการที่ภาครัฐเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และเรียกความเชื่อมั่นสาธารณะกลับมาผ่านการออกแนวนโยบายเร่งช่วยเหลือ – เร่งประสานความร่วมมือด้านประกันภัยเพื่อเร่งรัดการชดเชยความเสียหายแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ
ตลอดจนการออกมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้าและเพื่อรักษาสภาพคล่อง พร้อมออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเรียกเชื่อมั่น – เร่งตรวจสอบความปลอดภัยของโรงแรม ที่อยู่อาศัยและแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอาคารสูงอย่างละเอียด จากหน่วยงานภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ
พร้อมประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติและสื่อต่างประเทศ รวมถึงการเร่งพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่สามารถแจ้งเตือนเหตุให้ประชาชน/นักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที ที่สำคัญภาครัฐต้องสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพรวดเร็ว โปร่งใสและเชื่อถือได้
แม้จะควบคุม After shock ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวไม่ได้ แต่นโยบายสื่อสารที่ชัดเจนจะช่วยลด After shock ทางความรู้สึกของประชาชน และช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจตามมาได้
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 2 เมษายน 2568