กระแสปัดฝุ่น "เอฟทีเอไทย-สหรัฐ" ภาคธุรกิจ-นักวิชาการ "ชี้ประโยชน์"
หลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งและเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง เกิดบทวิเคราะห์และมุมมองต่างๆ "ที่อาจจะเกิดขึ้น" หนึ่งในนั้นเรื่องการเจรจาเปิดเสรีการค้า (เอฟทีเอ) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สหรัฐนำมาใช้กับการค้าระหว่างประเทศ และการเจรจาในมิติต่างๆ
ดังนั้น เมื่อสอบถามความเห็นจากนักวิชาการและภาคเอกชน ในประเด็นไทยเปิดเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ หลายเสียงเห็นด้วย!!
นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อลดผลกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทยในอนาคต ขอเสนอให้รัฐบาลไทยเร่งพูดคุยกับคณะผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (ยูเอสทีอาร์) เพื่อปูทางไปสู่การเปิดเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่นายทรัมป์จะเลือกคุยเอฟทีเอแบบรายประเทศ เพราะสามารถต่อรองและใช้ประโยชน์ระหว่างกันได้รวดเร็วกว่าเจรจาเป็นแบบกลุ่มประเทศ โดยที่ต้องติดตามคือการเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม หากได้ข้อสรุปและบังคับใช้แล้ว จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทยมาก เพราะมีความใกล้เคียงกันในหลายด้าน
Advertisement
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ถ้าเอฟทีเอไทยกับสหรัฐเปิดเจรจากันได้ จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก และลดความกังวลหากสหรัฐได้เจรจากับประเทศที่มีความใกล้เคียงไทยในด้านส่งออกและการลงทุน ก่อนหน้านี้สหรัฐเคยจะอยู่ในกลุ่มซีพีทีพีพี แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เข้า
“ส่วนตัวมองว่า ทรัมป์จะเปิดศึกใหญ่ด้านการค้าโลก คาดว่านโยบายจะเป็นการชนตรงรายประเทศ โดยใช้เรื่องกำแพงภาษีเป็นอาวุธและข้อต่อรอง ตัวแปรจากนี้และผลกระทบที่เกิดจากประกาศปรับเก็บภาษีนำเข้าจากทั่วโลกอีกเฉลี่ย 10% ขณะที่เก็บจากจีนในอัตราสูงพรวด การเก็บภาษีในอัตราเดียวกันทุกประเทศไม่มีใครเสียเปรียบ แต่การเจรจาเอฟทีเอจะเป็นแต้มต่อในเรื่องภาษี ดังนั้น ถ้ามีโอกาสเจรจาเอฟทีเอกับสหรัฐ ก็เห็นด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เสริมว่า เห็นด้วยที่ไทยจะเพิ่มการเจรจาเอฟทีเอ ไม่แค่ระหว่างไทยกับสหรัฐ แต่รวมถึงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง อียู แอฟริกา ตะวันออกกลาง ซึ่งมองในเรื่องประโยชน์ของการลดภาษีหรือเลิกภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ เพิ่มความร่วมมือต่างๆ เรื่องนี้ตนเสนอมาตลอด ซึ่งเชื่อว่าหลังนายทรัมป์มาสงครามการค้าจะเพิ่มความเข้มข้น การเตรียม รับมือและเพิ่มเส้นทางที่จะลดภาระผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ
ด้านกระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยแพร่ว่า ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีผลใช้บังคับแล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ หากนับ FTA ฉบับล่าสุด ระหว่างไทย-ศรีลังกา ที่ได้ลงนามแล้วต้นปี 2567 จะทำให้ไทยมี FTA รวม 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ และยังมีอีกหลาย FTA ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่กำลังเจรจาอยู่ โดยมี FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป อยู่ในแผนที่จะปิดดีลได้เร็วๆ นี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการเจรจา FTA กับยุโรป และเป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นๆ ของรัฐบาล โดยที่ผ่านมาการเจรจาทำ FTA กับประเทศในยุโรป ถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคู่เจรจาที่มีกฎระเบียบและมาตรฐานสูงในหลายด้าน และเป็น FTA สมัยใหม่ที่ข้อตกลง มีความครอบคลุมขยายขอบเขตไปยังด้านอื่นๆ อาทิ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่างจากยุคแรกเน้นด้านการค้าและการลงทุน
สำหรับ FTA ฉบับแรกที่ไทยมีกับประเทศในยุโรป โดยสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association : EFTA) หรือเอฟตา ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ โดยเอฟตาเป็นตลาดที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง พร้อมทั้งมีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม คาดว่าจะทำให้จีดีพีของไทยขยายตัว 0.179% ต่อปี พร้อมเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก อาทิ สินค้าเกษตร รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ในส่วนการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน มีการเจรจามาแล้ว 10 รอบ รอบล่าสุดสิงหาคมที่ผ่านมา ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้มีความคืบหน้าไปมาก แต่คงเหลือบางประเด็นต้องหาข้อสรุป เพื่อเป็นไปตามเป้าจบในปี 2567 ปี 2566 เอฟตา เป็นคู่ค้าอันดับ 16 ของไทย การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 9,883 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 14.67% คิดเป็น 1.72% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก โดยไทยส่งออก 4,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 5,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วน FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ประกอบด้วย 27 สมาชิก เป็นตลาดสำคัญของไทยทั้งด้านขนาดของตลาดและกำลังซื้อ โดยภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายผลักดันเจรจาจัดทำ FTA มาโดยตลอด ประกอบกับอียูจะช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของไทยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสาขาที่สหภาพยุโรปเชี่ยวชาญ ขณะที่ไทยมีศักยภาพจัดหาวัตถุดิบ อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ และการเกษตร การจัดทำ FTA ฉบับนี้จะทำให้จีดีพีไทยขยายตัว 1.28% ต่อปี โดยมีแผนการเจรจารอบ 4 ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ณ กรุงเทพฯ และตั้งเป้าปิดดีลปี 2568 ซึ่งปี 2566 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 41,713 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.75% และคิดเป็น 7.27% ไทยส่งออก 21,959 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า 19,754 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สนค. กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จาก FTA ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายธุรกิจและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะในยุโรปที่มีมาตรฐานสูง ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และมีความต้องการสินค้าที่หลากหลาย นอกจากนี้ช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ๆ ทว่าการเจรจายังคงมีความท้าทายจากประเด็นใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยภาครัฐ ทรัพย์สินทางปัญญา การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน และแรงงาน ดังนั้น ไทยควรเตรียมตัวเพื่อรับมือกับกฎระเบียบและมาตรฐานทางการค้าที่เข้มงวดขึ้นกว่าความตกลงฯ ที่ไทยเคยทำไว้ในอดีต
นอกจากนี้ในวงการค้าระหว่างประเทศให้ข้อมูลเสริมว่า แนวคิดทำ FTA กับสหรัฐ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการเจรจาแล้วถึง 3 รอบ ส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล ไม่มีการยอมรับหรือทำข้อตกลงใด จนถึงวันนี้ ถือเป็นประเด็นการค้าระหว่างประเทศที่สำคัญที่ไม่อาจมองข้าม
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567