เอกชน สแกนผลงาน 3 เดือน "แพทองธาร" จี้แก้หนี้ครัวเรือนสกัดสินค้าไร้มาตรฐาน
"เอกชน" สแกนผลงาน 3 เดือน "แพทองธาร" สานต่อภารกิจเพื่อไทย ต่อยอดดึงลงทุนต่างประเทศ 9 เดือนกว่า 7.2 แสนล้านบาท แนะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำงานเชิงรุก สกัดสินค้าต่างประเทศนำเข้าไร้มาตรฐานเข้ามาดั้มราคา หวั่น “เอสเอ็มอี” ไทยปิดโรงงาน สุดท้ายจะเหลือแต่โรงงานโดยทุนต่างชาติ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าในช่วง 3 เดือนของการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ส่วนตัวมองว่านายกฯ มีความพยายามเพื่อสานงานต่างๆ ให้เดินหน้าโดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นและดึงเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เกือบ 2,000 โครงการ กว่า 7.2 แสนล้านบาทแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อพบว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ยังคงเป็นเหล็กร้อนก็ต้องรีบเร่งตีเหล็ก เพราะตลอดทั้งปีมานี้ แม้ว่านายกฯ จะเข้ามาทำงานเพียง 3 เดื่อนก็ตาม แต่ก็มาสานงานต่อจากนายเศรษฐา ทวีสิน ที่เดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักชวนนักลงทุนตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรม PCB ตามที่รัฐบาลตั้งไว้
นอกจากนี้ จะเห็นว่า จากการที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประกาศความสำเร็จในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีเอฟตา-ไทย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และ ลิกเตนสไตน์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายให้เร่งดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าไทยต่าง ๆ ให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึง ดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
“จากการแก้ปัญหา FTA ได้ปิดจุดอ่อน และสานจากของเดิมถือเป็นการสร้างแต้มต่อของไทยให้สามารถเท่าเทียมคู่แข่งในภูมิภาค จะเป็นก้าวที่สำคัญจะนำไปสู่ก้าวต่อไปที่จะเจรจา FTA ของ EU ได้ง่ายและสะดวกขึ้น จะช่วยยกขีดความสามารถในการส่งออกของไทยเราด้วย” นายเกรียงไกร กล่าว
นายเกรียงไกร กล่่วว่า สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งปรับปรุงและต้องทำอย่างอย่างเข้มข้นมากขึ้น คือ แก้ปัญหาที่ค้างมานาน อาทิ หนี้ภาคครัวเรือน กำลังซื้อที่ลดลง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และท้ายสุดที่สำคัญมากและยังเป้นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น คือ สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานมาดั้มราคาซึ่งยังมีการลักลอบมาทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย มีการสำแดงบ้างไม่สำแดงบ้าง รัฐบาลจะต้องเพิ่มมาตรการ ไม่งั้นสถานการณ์จะทรุดเข้าไปใหญ่ ด้วยการดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เอาจริงเอาจังและสั่งการแบบเข้มงวด
“ตอนนี้ทำให้ผู้ประกอบการเราปิดตัวเยอะ และสถานการณ์ก็ยังไม่ดี ภาครัฐต้องทำงานหนักและใช้มาตรการที่เข้มข้น ให้ทุกหน่วยทำงานเบล็ดเสร็จเด็ดขาดแก้ไขให้ได้จริงจัง เพื่อหยุดวงจรตรงนี้ให้ได้ ไม่อย่างนั้นเอสเอ็มอีไทยจะพากันปิดโรงงาน จะเหลือแต่โรงงานที่เป็นทุนต่างชาติในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ทั้งสิ้น” นายเกรียงไกร กล่าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 10 ธันวาคม 2567