พาณิชย์ ลุยปลดล็อกFTA ดึงทุนนอกปั๊มเศรษฐกิจ
"พิชัย นริพทะพันธุ์" รมว.พาณิชย์ เดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ เร่งเจรจา FTA ดึงการลงทุนต่างชาติ หนุนส่งออก เตรียมรับมือสงครามการค้าสหรัฐ-จีน เร่งกระจายตลาด พร้อมเดินหน้าปรับโครงสร้างส่งออกให้ทันสมัยสร้าง New S-Curve
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยวางยุทธศาสตร์สำคัญ 5 ด้าน
ประกอบด้วย การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การผลักดันการส่งออก การแก้ปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
ความสำเร็จ EFTA :
ความสำเร็จในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคือการเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศ EFTA (European Free Trade Association) ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์ ที่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายในเวลาเพียง 2 เดือน สร้างความประหลาดใจให้กับวงการการค้าระหว่างประเทศ
“เราใช้แนวทาง ‘Trade is about relationship’ ในการเจรจา เพราะไม่มีประเทศใดจะได้หรือเสียทั้งหมด ต้องแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน”
นายพิชัยอธิบายว่า การชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างของรายได้ประชาชาติต่อหัวระหว่างไทยที่มีเพียง 7,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีกับประเทศในกลุ่ม EFTA ที่มีรายได้ต่อหัว 80,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศคู่เจรจามีความเห็นอกเห็นใจและยืดหยุ่นในการเจรจามากขึ้น
การลงนาม EFTA FTA มีกำหนดจัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงการประชุม World Economic Forum โดยจะมีผู้นำจากทั้ง 4 ประเทศร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของไทยในเวทีการค้าโลก
ความสำเร็จของ EFTA FTA ส่งผลให้สหภาพยุโรป (EU) เร่งเจรจา FTA กับไทยมากขึ้น โดยล่าสุดมีการประชุมครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 เข้าสู่การพิจารณารายการสินค้า คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ภายในปี 2568 ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และเกาหลีใต้ก็เร่งเจรจา FTA กับไทยเช่นกัน
รับมือสงครามการค้าจีน-สหรัฐ :
นายพิชัย กล่าวถึง กรณีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งว่า ด้านการค้าระหว่างประเทศ นโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยเฉพาะด้านราคา เพราะต้นทุนสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ สูงขึ้นจากภาษีที่ถูกเรียกเก็บ ซึ่งสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าแต่ละประเทศในอัตราต่างกัน ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการเจรจาระหว่างกัน ให้ครอบคลุมหลายประเด็นมากขึ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
ขณะที่สงครามการค้า ทำให้สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจีนลดลงต่อเนื่อง เป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าทดแทน เนื่องจากไทยและจีนอยู่บนห่วงโซ่อุปทานในตลาดโลกที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นฐานการผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป รวมทั้งไทยและจีนมีโครงสร้างการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯคล้ายคลึงกัน สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกทดแทน ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
การเก็บภาษีนำเข้าจากจีนมากถึง 60% อาจทำให้จีนเปลี่ยนฐานการผลิตและเปลี่ยนช่องทางการส่งออกไปยังสหรัฐฯ (Re-Routing) ซึ่งการเปลี่ยนช่องทางการส่งออกของจีน เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นการส่งออกที่ไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทยนัก
อีกทั้งอาจส่งผลให้ไทยถูกสหรัฐฯ จับตามอง เพื่อไม่ให้จีนใช้ไทยเป็นทางผ่านขนส่งสินค้าและป้องกันไม่ให้ไทยถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับผู้ประกอบการ ไทยในอุตสาหกรรมเดียวกัน เช่น กรณีสหรัฐฯ ประกาศจะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก 25% เนื่องจากทราบว่าจีนใช้เม็กซิโกเป็นฐานการผลิตและส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เม็กซิโกได้รับ
ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ การวางตัวเป็นกลางทำให้ไทยสามารถดึงดูดการค้าการลงทุนจากทุกฝ่าย ที่ต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามการค้า ไทยมีโอกาสดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยเข้มแข็ง
เช่น ยานยนต์ที่ไทยเป็นฐานการผลิตในอาเซียน อาหารและเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของไทย เช่น สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง นับเป็นโอกาสของไทย ในการเกาะเกี่ยวห่วงโซ่อุปทานใหม่ ๆ เพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อให้แรงงานไทยมีองค์ความรู้มากขึ้นจากการถ่ายทอดเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาและบริษัทของไทย มีโอกาสวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ไทยสามารถผลิตส่งออกสินค้ามูลค่าสูงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม “American First” อาจส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากการใช้มาตรการจูงใจทางภาษีดึงดูดการลงทุนกลับสหรัฐฯ (Reshoring) อาจส่งผลให้บริษัทสหรัฐฯ ในไทยย้ายกลับประเทศ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัว ของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯในไทยลดลง หรืออาจเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีบางประเภท
รมว.พาณิชย์กล่าวว่า การเตรียม รับมือของไทย ต้องติดตามสถานการณ์การค้าของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย แนวโน้มทางการค้า แนวโน้มการใช้มาตรการและการดำเนินการของประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ที่อาจส่งผลต่อการค้าไทย รวมถึงเฝ้าระวังปริมาณการนำเข้าและส่งออก
นอกจากนี้จะต้องดำเนินมาตรการปกป้องผู้บริโภคและอุตสาหกรรมในประเทศ เพื่อป้องกันสินค้าราคาถูก และไม่มีคุณภาพไหลทะลักเข้าประเทศ เช่น ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้านำเข้า ใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) กำหนดอัตราภาษีหรือโควตา สำหรับสินค้านำเข้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ การบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เป็นต้น
ขณะเดียวกันจะต้องกระจายตลาดส่งออกและเพิ่มความหลากหลายของแหล่งวัตถุดิบ ไม่พึ่งพาประเทศใด ประเทศหนึ่งมากเกินไป ส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า มองหาคู่ค้าใหม่ ๆ และเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทาน
รักษาตลาดเดิมและขยายตลาดใหม่ เจรจา FTA ใหม่ ๆ
และเร่งสรุปผลการเจรจาที่ยังค้าง เช่น ไทย - อียู และอาเซียน-แคนาดา และเจรจายกระดับข้อตกลงที่มีอยู่เดิมให้ทันสมัย สอดคล้องกับบริบทการค้าปัจจุบัน และอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิพิเศษทางการค้า เพื่อเพิ่มแต้มต่อการแข่งขันในตลาดโลก
ที่สำคัญคือต้องเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในไทย สร้างการจ้างงาน สร้างระบบสาธารณูปโภค และระบบนิเวศให้เหมาะสมและเอื้อต่อการลงทุน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ปรับกฎเกณฑ์การลงทุน เช่น ใช้วัตถุดิบในไทย จ้างงานและถ่ายทอดทางเทคโนโลยี ให้กับไทย เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการลงทุนมากขึ้น
การลงทุนต่างชาติทะลักเข้าไทย :
ในด้านการลงทุนจากต่างประเทศ รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าการลงทุนสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีจะแตะ 1 ล้านล้านบาท โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น NVIDIA บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ประกาศให้ไทยเป็นศูนย์กลาง AI ในภูมิภาค
ขณะที่ HP ย้ายฐานการผลิต 40% มาไทยและวางแผนย้ายทั้งหมดในอนาคต Western Digital ขยายการลงทุนด้าน Data Center และ Seagate เพิ่มกำลังการผลิต
“ประเทศไทยกำลังเป็นที่หมายตาของนักลงทุนทั่วโลก ทั้งจีน สหรัฐฯ และยุโรป ต่างต้องการย้ายฐานการผลิตมาไทย โดยเฉพาะหลังจากที่เราประสบความสำเร็จในการเจรจา FTA กับ EFTA และมีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงกับ EU ในเร็วๆ นี้” นายพิชัยกล่าว
ส่งออกฟื้นตัวเกินคาด วางยุทธศาสตร์ระยะยาว :
การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 4.9% สูงกว่าเป้าหมาย 1-2% ที่ตั้งไว้ โดยเดือนล่าสุดโตถึง 14.6% และคาดทั้งปีจะเติบโตเกิน 4% ซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยมีปัจจัยหนุนจากวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารช่วงเทศกาลและฤดูท่องเที่ยวปลายปี
สำหรับยุทธศาสตร์การส่งออกทั้งในระยะสั้นและยาว มีนโยบายสำคัญคือ เร่งยกระดับและปรับโครงสร้างส่งออกให้ทันสมัย สนับสนุนการผลิตสินค้าส่งออกให้ตอบโจทย์ความต้องการโลก ผลักดันการสร้างธุรกิจและสินค้าส่งออกใหม่ในอุตสาหกรรมศักยภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูงในกลุ่ม New S-Curve เช่น PCB เครื่องมือแพทย์
“ไทยเปรียบเหมือนคนที่ผอมมานาน จะให้อ้วนขึ้นในทันทีเป็นไปไม่ได้ต้องค่อยๆ สะสม เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน เราผอมมาหลายปีจะให้ฟื้นตัวในปีเดียวคงยาก แต่ทิศทางกำลังไปได้ดีโดยเฉพาะเมื่อการลงทุนเริ่มฟื้นตัว การส่งออกก็จะตามมา” นายพิชัยเปรียบเทียบ
แก้สินค้าด้อยคุณภาพ-หนุน SMEs :
ด้านปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพที่ทะลักเข้าสู่ตลาดไทย นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้ รมว.พาณิชย์เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมี 16 หน่วยงานร่วมดำเนินการ มาตรการสำคัญประกอบด้วยการบังคับให้แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์จดทะเบียนในไทย ซึ่งล่าสุดแพลตฟอร์มรายใหญ่อย่าง เตมู (Temu) ได้จดทะเบียนแล้ว การควบคุมมาตรฐานสินค้าผ่าน อย. และ มอก. รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ด่านศุลกากร
สำหรับการสนับสนุน SMEs กระทรวงพาณิชย์วางแผนพัฒนาแอปพลิเคชันที่รวบรวมบริการจากทุกกรม ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการได้สะดวก นอกจากนี้ยังสนับสนุนระบบ ERP ในราคาประหยัดหรือให้ใช้ฟรีเพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ พร้อมผลักดัน Thailand Brand เพื่อการันตีคุณภาพสินค้าไทย
นายพิชัย มั่นใจว่า ประเทศไทยกำลังเดินมาถูกทางและจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้ในอนาคตอันใกล้
“เราต้องเร่งทำงานเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งการเจรจาการค้า การดึงดูดการลงทุน การยกระดับมาตรฐานสินค้าและการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกและสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน” นายพิชัยกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 11 ธันวาคม 2567