เบื้องลึกจีนกว้านซื้อทองคำ เกมการเงินที่อาจเปลี่ยนดุลอำนาจโลก
จีนกลับมาซื้อทองคำอีกครั้งหลังจากหยุดมา 6 เดือน สะท้อนความพยายามรับมือในระบบการเงินโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีแนวโน้มกีดกันทางการค้าที่เข้มข้น หลายประเทศต้องกระจายความเสี่ยง สะสมสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาระบบการเงินที่ผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ
พลวัตตลาดทองคำโลก กลยุทธ์การลงทุนของจีนและ แนวโน้มราคาทองคำ กำลังถูกจับตา หลังจากเดือนพฤษภาคม 2567 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ระงับโครงการสะสมทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ จากที่ดำเนินการซื้อต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 เดือนตั้งแต่ปี 2564
แม้ PBOC จะหยุดการซื้อ ราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดตลอดกาลที่ 2,790 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์
กระทั่งเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อราคาทองคำเริ่มปรับฐานลง PBOC จึงได้กลับเข้ามาซื้อทองคำอีกครั้งหลังจากหยุดพักไป 6 เดือน โดยเข้าซื้อจำนวน 1.6 แสนทรอยออนซ์ ส่งผลให้มีทองคำสะสมรวมอยู่ที่ 72.96 ล้านทรอยออนซ์ ตามข้อมูลจากสภาทองคำโลก (WGC)
นักวิเคราะห์สังเกตได้ว่า PBOC มีการหยุดซื้อเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูง และกลับมาซื้อเมื่อราคาเริ่มปรับลดลง สะท้อนว่า PBOC ไม่ได้มีนโยบายหยุดซื้อทองคำ แต่รอจังหวะที่เหมาะสมและยอมรับในระดับราคาดังกล่าว
ด้วยระดับการปรับขึ้นของราคาที่เกิดขึ้นในปีนี้ JP Morgan จึงระบุว่าธนาคารกลางจะซื้อทองคำมากขึ้น "ในเชิงโครงสร้าง" และ "มีกลยุทธ์มากขึ้น" เกี่ยวกับราคา
นักวิเคราะห์มองว่า การกลับมาสะสมทองคำของธนาคารขนาดใหญ่อย่างจีน อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายตามรอย การกระทำของ PBOC ครั้งนี้อาจเป็นผลจากนโยบายกีดกันการค้าของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะตอบโต้กลุ่มประเทศที่ต่อต้านเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ประเทศที่ตกเป็นเป้าหมายต้องเคลื่อนไหวเพื่อสะสมสินทรัพย์ปลอดภัย
นักวิเคราะห์จากธนาคารชั้นนำหลายแห่งจึงคาดการณ์ว่าในปี 2568 ราคาทองคำจะยังคงพุ่งไปถึงเป้าหมาย 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับสูงก็ตาม
"ทองคำ" ทำผลงานดีสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2565 :
ราคาทองคำแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่กว่า 2,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ตลาดทองคำอยู่ในสภาวะที่แข็งแกร่ง โดยราคาได้ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเกือบสองปี จนกลายเป็นหนึ่งในสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2565
ปี 2566 เป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับการซื้อทองคำของธนาคารประชาชนจีน (PBOC) โดยเป็นปีที่ธนาคารกลางของจีนเพิ่มการซื้อทองคำถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลของสภาทองคำโลก (WGC) ธนาคารกลางที่นำโดยจีนซื้อทองคำ 1,037 ตัน (ตันเมตริก) เมื่อปีที่แล้ว
PBOC ซื้อทองคำมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ ทั้งหมดรวมกัน ความเข้มข้นในการซื้อนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2567 WGC ยังบันทึกการซื้อทองคำสุทธิของจีนเพิ่มขึ้น 29 ตันในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งทำให้การถือครองทั้งหมดเพิ่มขึ้น 1.3 เปอร์เซ็นต์
อะไรอยู่เบื้องหลังกระแสการซื้อทองคำของจีน :
การทำเหมืองทองของจีนจะผลิตทองคำได้มากกว่าประเทศอื่น แต่ PBOC และผู้บริโภคยังคงนำเข้าทองคำในปริมาณมาก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนซื้อทองคำจากต่างประเทศมากกว่า 2,800 ตัน ซึ่งตามข้อมูลของ Bloomberg ถือว่ามากกว่าโลหะทั้งหมดที่ใช้หนุนกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทั่วโลก หรือประมาณหนึ่งในสามของปริมาณสำรองที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถือครองอยู่
จีนเป็นผู้ขับเคลื่อนราคาทองคำอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัท MetalsDaily.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลทองคำในลอนดอน กล่าวกับนิวยอร์กไทม์สเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา
กองทุน ETF ทองคำในจีนยังคงมีปริมาณสะสมสุทธิเป็นบวก
WGC ระบุว่า มีการไหลเข้าของเงินทุนเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายน ส่งผลให้ยอดการถือครองรวมเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ตัน และทำให้สินทรัพย์ภายใต้การจัดการรวม (AUM) เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 51,000 ล้านหยวน (7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และด้วยการดึงดูดเงินทุนได้มากถึง 17,000 ล้านหยวน (2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 กองทุน ETF ทองคำของจีนจึงทำสถิติสูงสุดในครึ่งปีแรกในทุก ๆ ปี โดยความต้องการกองทุน ETF ทองคำของประเทศแซงหน้ากองทุนอื่น ๆ ในช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน
กระแสการซื้อทองคำของจีน :
JP Morgan ระบุถึงปัจจัยหลายประการที่กระตุ้นให้ผู้ลงทุนเพิ่มการเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ราคาทองคำสูงขึ้น โดยระบุว่าท่ามกลางการเมืองระหว่างประเทศที่ตึงเครียด การคว่ำบาตรที่เพิ่มขึ้น และการยกเลิกสกุลเงินดอลลาร์ พบว่ามีความต้องการซื้อสินทรัพย์จริงเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงทองคำด้วย
การซื้อทองคำจำนวนมากของธนาคารกลางแห่งประเทศจีนนั้นสามารถมองได้จากความพยายามที่จะแทนที่การถือครองทองคำในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดำเนินการท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกับสหรัฐฯ รวมถึงสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นและการคว่ำบาตรจีนและรัสเซียที่นำโดยสหรัฐฯ
ทั้งหมดนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งสองประเทศเสื่อมถอยลงอย่างมาก เพื่อตอบโต้ จีนได้ขายสินทรัพย์ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากจีนพยายามจะทดแทนสำรองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปริมาณมหาศาลด้วยทองคำมากขึ้น
ท้ายที่สุดก็กระตุ้นการกระจายความเสี่ยงของสำรองเงิน แม้ว่าในช่วงต้นปี 2565 จีนจะมีพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การถือครองดังกล่าวก็ลดลงเหลือ 768.3 พันล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม 2567 ตามตัวเลขอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐฯ
สอดคล้องกับที่ สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อไม่นานนี้ว่า แรงจูงใจหลักของ PBOC คือการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐน้อยลง และในกรณีร้ายแรงที่สุด คือ อ่อนไหวต่อการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ น้อยลง โดยคาดว่าความปรารถนาของจีนที่จะกระจายเงินสำรองจะยังคงมีอยู่ต่อไป เนื่องจาก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ความพยายามลดการใช้เงินดอลลาร์ของจีนอย่างเร่งด่วนยังได้รับแรงผลักดันจากพันธกรณีของจีนที่มีต่อกลุ่ม BRICS+ ซึ่งเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ระดับโลกที่ก่อตั้งโดยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
โดยล่าสุดได้เพิ่มอิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เข้าไปในรายชื่อสมาชิก กลุ่มที่ขยายตัวนี้มีความชัดเจนเกี่ยวกับความปรารถนาที่จะไม่เพียงแต่เปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเกือบทั้งหมดในการค้าทวิภาคีโดยแลกมาด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐอีกด้วย
การหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับ สกุลเงิน BRICS ที่ได้รับการหนุนหลังด้วยทองคำอาจอธิบายแนวโน้มการซื้อทองคำในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เช่นกัน
ธนาคารโลกระบุว่า ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2567 การถือครองทองคำของธนาคารกลางโดยรวมในกลุ่มประเทศ BRICS+ คิดเป็นเกือบ 17 เปอร์เซ็นต์ของทองคำทั้งหมดที่ธนาคารกลางทั่วโลกถือครอง โดย รัสเซีย อินเดีย และจีนอยู่ในกลุ่ม 10 อันดับแรกของโลก และแม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับสกุลเงินใหม่ แต่การคาดเดาว่าเงินของ BRICS ที่ได้รับการหนุนหลังด้วยทองคำกำลังจะเกิดขึ้นนั้นยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทรัมป์ขู่ตั้งกำแพงภาษี 100% กลุ่ม BRICS :
สิ่งนี้ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ให้คำมั่นว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นที่จะแทนที่ดอลลาร์สหรัฐบนเวทีการค้าระหว่างประเทศ พร้อมขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตาม สหรัฐฯ จะกำหนดกำแพงภาษี 100%
ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (RBI) กล่าวว่า ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์ BRICS ยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อให้มาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ เราต้องการลดความเสี่ยงทางการค้าของอินเดีย เพราะการพึ่งพาสกุลเงินเดียวอาจสร้างปัญหาได้ในบางครั้ง เนื่องจากค่าเงินอาจแข็งค่าหรืออ่อนค่า
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที 10 ธันวาคม 2567