เอกชนเชียร์แจ้งเกิด FTA "อียู-จีซีซี-ยูเค" ดันส่งออก-ลงทุนไทย โตก้าวกระโดด
บิ๊กเอกชนเชียร์รัฐบาลลุยเต็มสูบ เจรจา FTA เพิ่มขีดแข่งขันส่งออก ยกเวียดนามใช้ FTA ดูดลงทุนทะลัก ดันส่งออกโต 3 เท่าแซงหน้าไทย ขอเร่งเจรจา 3 FTA ใหญ่ ไทย-อียู ไทย-GCC ไทย-ยูเค หลังปิดดีลไทย-เอฟตาสำเร็จ พร้อมจี้เร่งทบทวน FTA กับจีน หลังรถอีวีทะลัก กระทบอุตฯรถยนต์ในประเทศ
ความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) เป็นหนึ่งในเครื่องมือและช่องทางสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในประเทศคู่ค้า โดย FTA มีเป้าหมายเพื่อเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะลดภาษีศุลกากรระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุดหรือเป็น 0% มีการลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี รวมถึงการเปิดเสรีด้านบริการ การลงทุน และสร้างความร่วมมือกันในทุกมิติ
ปัจจุบันประเทศไทยมีความตกลง FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ส่วนฉบับที่ 15 คือ FTA ไทย-ศรีลังกา ได้ลงนามความตกลงแล้ว และอยู่ในขั้นตอนภายในของทั้งสองฝ่าย คาดจะมีการให้สัตยาบันและมีผลบังคับใช้ในครึ่งแรกของปี 2568
ส่วนว่าที่ FTA ฉบับที่ 16 ล่าสุด ได้ประกาศความสำเร็จในการสรุปผลการเจรจาแล้วคือ FTA ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ขณะที่ยังอยู่ระหว่างการเจรจาอย่างเป็นทางการอีกหลายฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป (EU), ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), อาเซียน-แคนาดา, ไทย-ปากีสถาน,ไทย-ตุรกี,ไทย-ภูฏาน และไทย-เกาหลีใต้
บทเรียนเวียดนาม FTA ดูดลงทุน :
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปัจจุบันหากนับรวม FTA ไทย-ศรีลังกาที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการลงนามความตกลง และใกล้มีผลบังคับใช้แล้ว ไทยจะมี FTA รวมทั้งสิ้น 15 ฉบับ กับ 19 ประเทศ
ขณะที่ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่กระทรวงพาณิชย์สามารถปิดดีล FTA ไทย-EFTA (เอฟตา) ซึ่งจะเป็นข้อตกลงการค้าเสรีฉบับแรกของไทยกับยุโรป คาดจะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบ และสามารถลงนามได้ต้นเดือนมกราคม 2568 ในช่วงการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในบริบทของประเทศไทย การเร่งขยาย FTA จะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาโมเดลความสำเร็จของเวียดนาม ซึ่งได้ใช้ FTA เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความน่าสนใจในการลงทุน บทเรียนจากความสำเร็จของเวียดนามเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของประเทศที่ใช้ FTA ในการเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ส่งออกโต 3 เท่าแซงไทย :
ตั้งแต่ปี 2558-2567 เวียดนามได้ลงนามใน FTA มากกว่า 16 ฉบับ รวมถึงข้อตกลงที่สำคัญ เช่น CPTPP, EVFTA, RCEP FDI ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่เวียดนามเพิ่มขึ้นจาก 11.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เป็น 29.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 (เติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี) การส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2565 เวียดนามมีมูลค่าการส่งออกกว่า 371 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าประเทศไทยที่ส่งออกได้กว่า 287 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีเดียวกัน
“หากไทยมองเวียดนามเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ไทยจำเป็นต้องเร่งใช้ศักยภาพของ FTA ที่มีอยู่ เร่งดึงดูด FDI และเร่งขยาย FTA ใหม่ ๆ โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ เช่น FTA กับสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนามที่มี FTA กับอียูแล้ว (EVFTA) เวียดนามได้ใช้ FTA เป็นตัวดึงดูดการลงทุนจากยุโรป เช่น Siemens และ BMW รวมถึงไทยต้องเร่งขยาย FTA ในภูมิภาคใหม่ ๆ เช่น ตะวันออกกลางและอเมริกาใต้ ซึ่งยังมีความต้องการในสินค้าไทยสูง เพื่อเปิดตลาดใหม่ให้กับผู้ส่งออกของไทย”
เร่ง FTA ไทยกับอียู-GCC :
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า FTA เป็นหนึ่งในแต้มต่อทางการค้าที่เวียดนามมีความเหนือกว่าไทย เฉพาะอย่างยิ่งการที่เวียดนามมีความตกลง FTA แล้วกับสหภาพยุโรป(EU) ที่มีสมาชิกมากถึง 27 ประเทศ และเป็นตลาดการค้าสำคัญที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย ทำให้เวียดนามที่ผลิตสินค้าคล้ายกับไทย และส่งออกไปอียู ได้เปรียบในการแข่งขันด้านภาษีนำเข้าที่เป็น 0% หรือในอัตราที่ต่ำกว่าไทย
“จากแต้มต่อที่เวียดนามมี FTA กับอียู ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้ประกอบการหลายรายของไทยเข้าไปตั้งโรงงานในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม หรือสินค้าต่าง ๆ ได้ย้ายฐานไปที่เวียดนามเป็นจำนวนมาก ซึ่งหากไทยมี FTA กับอียู อย่างน้อยจะเป็นตัวช่วยทำให้แต้มต่อเราไม่แพ้เวียดนามในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศจะไม่เสียเปรียบซึ่งกันและกัน คนงานและโรงงานไทยเองก็ไม่ต้องย้ายฐาน จะได้เพิ่มการจ้างงาน และไม่ต้องปิดโรงงาน”
นอกจาก FTA ไทย-อียู ที่ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลเร่งเจรจาเพื่อนำไปสู่การจัดทำความตกลงเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วแล้ว ที่อยากให้เร่งสานต่อและเปิดเจรจาคือ FTA กับกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ประกอบด้วย ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน ที่เป็นตลาดการค้าใหม่ที่สำคัญของไทยในตะวันออกกลาง
ขอเร่งทบทวน FTA กับจีน :
ส่วน FTA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อนหน้านี้ ที่อยากให้รัฐบาลเจรจาทบทวน เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ และไทยเสียเปรียบ ต้องเร่งแก้ไขให้เกิดการค้าขายที่เป็นธรรม เช่น FTA อาเซียน-จีน โดยเฉพาะในหมวดที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV)ที่ไทยลดภาษีนำเข้าเป็น 0% ให้กับจีน จากในช่วงแรก ๆ ของ FTA มีผลบังคับใช้เข้าใจกันว่ามีแต่รถกอล์ฟไฟฟ้า แต่วันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็วมาก ส่งผลให้รถยนต์นั่ง EV จีนทะลักเข้ามาทำตลาดจำนวนมาก และกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ
“อย่างไรก็ดีต้องขอขอบคุณรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เอาจริงเอาจังกับการเจรจาเอฟทีเอ เฉพาะอย่างยิ่งทีมกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้การนำของคุณพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการฯ ทีมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงกระทรวงที่เกี่ยวข้องที่ได้เร่งดำเนินการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในเบื้องต้น และจะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต”
เอฟตานำร่อง FTA มาตรฐานสูง :
ด้าน นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า FTA ที่มองว่าจะเกิดประโยชน์กับไทยในวงกว้างได้แก่ FTA ไทย-อียู ที่คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าการค้าไทยกว่า 8% ที่ไทยค้ากับโลก และเป็นหนึ่งในตลาดที่ชื่นชอบสินค้าไทย ถัดมาคือ FTA ไทย-ยูเออี ที่การค้าสองฝ่ายขยายตัวต่อเนื่อง โดยช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ การส่งออกไทยไปยูเออีขยายตัวสูงถึง 8% และยูเออียังเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่ม GCC ที่ไทยตั้งเป้าหมายจะขยายการส่งออกไปยังกลุ่มนี้ให้มากขึ้น
นอกจากนี้ยังมี FTA ไทย-เอฟตา (EFTA) ที่ล่าสุดมีข่าวดี ไทยได้ประกาศความสำเร็จในการสรุปผลการเจรจาแล้ว และจะเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป เป็นเอฟทีเอที่มีความทันสมัย และมาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“สำหรับเอฟทีเอที่มีผลบังคับใช้แล้ว 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ อยากให้ผู้ส่งออกไทยได้ใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในกรอบต่าง ๆ ในการส่งออกให้มากขึ้น เพราะการค้าโลกในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่กำลังจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี จะทำให้บริบทการค้าโลก และการค้ากับสหรัฐเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และยากที่จะคาดเดา
เฉพาะอย่างยิ่งเอฟทีเอในกรอบของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (มี 15 ประเทศยังไม่รวมอินเดีย) ที่ไทยมีมูลค่าการค้า สัดส่วนมากกว่า 50% ของการค้าไทยกับโลก จะต้องใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ส่วนเอฟทีเอที่รัฐบาลกำลังเจรจาอยู่ก็อยากให้ช่วยขับเคลื่อนและผลักดัน เพื่อได้เป็นทางเลือกของการส่งออก ช่วยลดความเสี่ยงจากตลาดสหรัฐ”
อุตฯรถยนต์หวังเพิ่มขีดแข่งขัน :
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่ม และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์อยากให้ไทยมีความตกลง FTA กับอียู รวมถึง FTA กับสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ที่ได้แยกตัวออกจากอียูแล้ว
เนื่องจากทั้งสองตลาดนี้เป็นตลาดที่สำคัญของรถยนต์ไทย หากสามารถเจรจาจนบรรลุความตกลง และไทยได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าต่ำจะเป็นประโยชน์มากต่อการส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปตลาดอียูและอังกฤษ จากที่ผ่านมาไทยถูกอียูรวมถึงสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี) ต้องเสียภาษีนำเข้าสินค้าในอัตราสูง ทำให้เสียเปรียบการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศเวียดนามและจากอีกหลายประเทศที่มี FTA กับอียูแล้ว
สร้างโอกาสใหม่ SMEs ไทย :
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากที่ไทยได้บรรลุความสำเร็จในการสรุปผลการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลง FTA ไทย-EFTA นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดประตูสู่ตลาดยุโรป ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มเอฟตา จากปัจจุบันการค้าไทย-เอฟตา (ช่วง 10 เดือนแรกปี 2567) มีมูลค่าถึง 10,293.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 23%
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาก FTA รัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอมอีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ
วันที่ 12-14 ธันวาคม 2567