ยุโรปเตรียมจีบเวียดนามช่วงสัมพันธ์สหรัฐไม่แน่นอน
ผู้นำยุโรปกำลังวางแผนเยือนเวียดนามในไม่กี่เดือนข้างหน้าเพื่อกระชับสัมพันธ์ท่ามกลางความตึงเครียดกับวอชิงตันที่อาจกระทบต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงาน อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐ พยายามอย่างมากในการเพิ่มอิทธิพลสหรัฐต่อเวียดนาม อดีตคู่อริ ด้วยมองว่าประเทศนี้เป็นพันธมิตรสำคัญต่อยุทธศาสตร์สกัดกั้นจีน แต่ความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐ-เวียดนามอาจอ่อนแอลงหากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เก็บภาษีรัฐบาลฮานอยที่ส่อเค้าตกเป็นเป้าตามคำขู่ของทรัมป์จะเก็บภาษีตอบโต้ประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐมาก
ในระหว่างที่ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศยุโรปก็เร่งติดต่อกับเวียดนาม นักการทูตและเจ้าหน้าที่ยุโรปเผยว่า นางเออร์ซูลา วอน เดอ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส ต่างมีแผนเยือนเวียดนามในเดือนหน้า แผนการดังกล่าวถูกวางไว้นานแล้วและยังไม่สรุป
“แนวโน้มเก็บภาษีและควบคุมการส่งออกกำลังเพิ่มสูง เราต้องการสร้างโอกาสใหม่ให้กับการค้าและการลงทุนกับหุ้นส่วนที่ไว้ใจได้” วอน เดอ ไลเอิน กล่าวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มอาเซียนในการประชุมผ่านวีดิโอที่กรุงฮานอยเมื่อสัปดาห์ก่อน
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูรายหนึ่งเผยว่า มาครงอาจเดินทางไปเวียดนามช่วงปลายเดือน พ.ค. ด้วยจุดมุ่งหมายกระชับสัมพันธ์กับประเทศอดีตอาณานิคมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น หลังจากรัฐบาลปารีสยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปีก่อน ส่วนวอน เดอ ไลเอิน อาจมาเยือนเวียดนามก่อนเพื่อยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่มารอส เซฟโควิช กรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป อาจมาก่อนใครในเดือน เม.ย.
สำนักงานของมาครงไม่ได้ให้ความเห็นกับรอยเตอร์ส โฆษกคณะกรรมาธิการยุโรปไม่ยืนยันการเยือนอย่างเป็นทางการในขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศเวียดนามไม่ตอบข้อซักถามของรอยเตอร์ส
ปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (อียู) นำเข้าสินค้าจากเวียดนามมูลค่า 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สหรัฐนำเข้า แต่อียูยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับสามของเวียดนาม อานิสงส์จากข้อตกลงการค้าเสรี
ผลสำรวจชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ผลิตสหรัฐในเวียดนาม ที่ธุรกิจต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐมากกว่ายุโรป คาดว่าต้องลดจำนวนพนักงานลงหากทรัมป์เก็บภาษี
ภายใต้ฉากทัศน์ดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่อียูรายนี้เรียกว่า “หายนะ” ต่อการค้าโลก กระนั้นก็อาจทำให้เวียดนามส่งออกไปยังอียูมากขึ้น และอาจเอื้อให้บริษัทยุโรปเข้ามาลงทุนในเวียดนามง่ายขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงคนเก่งจำนวนมากได้ง่ายกว่าเดิม
ขณะที่เวียดนามก็ต้องการสร้างความหลากหลายให้กับอุปทานทางทหาร เพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟขนาดใหญ่ ที่บริษัทยุโรปหลายแห่งเข้ามาร่วมประมูล
ในด้านนโยบายการพัฒนา ยุโรปกำลังดำเนินการสืบทอดตำแหน่งจากสหรัฐหลังทรัมป์ระงับความช่วยเหลือต่างประเทศ
นายคาร์ล ฟาน เดน บอสเช ทูตเบลเยียมประจำเวียดนามกล่าวว่า เบลเยียมกำลังตั้งกองทุนสนับสนุนการเริ่มต้นฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารสีส้มที่กองทัพสหรัฐใช้ระหว่างสงครามเวียดนาม หลังจากปฏิบัติการถูกระงับไปชั่วคราว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 4 มีนาคม 2568