Booking.com เผย เทรนด์เที่ยวเปลี่ยน คนไทยหันมาใช้ AI วางแผนทริป
Booking.com เผยเทรนด์การเดินทางปี 2568 คนไทยหันมาใช้ AI วางแผนทริป ชอบเที่ยวแบบครอบครัวใหญ่ สนใจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมากขึ้น
นางสาวมิเซล เกา ผู้จัดการประจำภูมิภาคประจำกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงและจีนของ Booking.com เปิดเผยถึงผลสำรวจเทรนด์การเดินทางปี 2568 โดยพบว่าผู้เดินทางทั่วโลก รวมถึงชาวไทย กำลังมองหาประสบการณ์การเดินทางที่แตกต่างและเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความคาดหวังในการเดินทางครั้งใหม่
นอกจากนี้ ยังเพื่อเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของผู้เดินทางที่ต้องการจะฉีกกรอบเดิมและเติมเต็มตัวตนของพวกเขาในปีหน้า Booking.com จึงจัดทำแบบสำรวจการคาดการณ์เทรนด์การเดินทางในปี 2568 รวบรวมความคิดเห็นจากผู้เดินทางทั่วโลกมากกว่า 27,000 คน จาก 33 ประเทศ และดินแดน และนำเสนอเทรนด์การเดินทางทั้ง 9 เทรนด์
ซึ่งจะเป็นคาดว่าในปี 2568 จะเป็นปีแห่งการท่องโลกแบบใหม่ ของทั้งผู้เดินทางเจเนอเรชั่นวาย (Gen Y หรือมิลเลนเนียล) ที่กำลังมองหาความบันเทิงใหม่ ๆ ในสนามบิน ตลอดจนเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ผู้มองหาความดื่นเต้น
9 เทรนด์การเดินทางที่น่าจับตามองในปี 2568 :
(1)เปิดโลกการเดินทางใหม่ด้วย AI ผู้เดินทางหันมาใช้เทคโนโลยี AI เพื่อวางแผนการเดินทางที่ตรงใจมากขึ้น โดย 83% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 66% ของผู้เดินทางทั่วโลก) จะใช้เทคโนโลยีเพื่อค้นหาข้อมูลและสัมผัสประสบการณ์แบบท้องถิ่นแท้ ๆ ผู้เดินทางชาวไทยกว่า 3 ใน 4 (75%) ใช้เทคโนโลยีในการค้นหาจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักและไม่ค่อยมีคนพลุกพล่าน นอกจากนี้ ผู้เดินทางชาวไทยเกินครึ่ง (54%) สนใจและพร้อมลองใช้ AI ในการคัดสรรสิ่งต่าง ๆ สำหรับการวางแผนทริปของตัวเอง
เพื่อตอบรับเทรนด์ ‘เปิดโลกการเดินทางใหม่ด้วย AI’ Booking.com แนะนำ ‘AI Trip Planner” ซึ่งเป็นเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยแนะนำการวางแผนทริปใหม่ ๆ อันน่าสนใจและเหมาะกับความชอบของผู้เดินทางทุกคน
(2)ทริปเที่ยวแบบครอบครัวใหญ่ การเดินทางร่วมกันของหลายเจเนอเรชั่น เพื่อสร้างความสัมพันธ์และประสบการณ์ร่วมกัน โดยผู้เดินทางชาวไทย 40% (ผู้เดินทางทั่วโลก 46%) ต้องการใช้จ่ายเงินไปกับทริปครอบครัวในปี 2568 เพื่อสร้างประสบการณ์ ‘ครั้งเดียวในชีวิต’ มากกว่าเก็บเงินไว้เป็นมรดกให้แก่ลูกหลาน
ขณะเดียวกัน เทรนด์นี้มีแนวโน้มว่าจะเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ โดย 96% ของผู้เดินทางชาวไทยกลุ่มนี้ยินดีที่จะออกค่าใช้จ่ายให้ลูกหลานสำหรับการเดินทางครั้งถัดไป
นอกจากนี้ ผู้เดินทางชาวไทย 78% ระบุว่าผู้ปกครองของพวกเขาเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางพักผ่อน แม้ว่าพวกเขาจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้วก็ตาม
(3)ทริปใหม่แต่ไอเท็มเดิม ความนิยมในการซื้อเสื้อผ้ามือสองระหว่างเดินทางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย 76% ของผู้เดินทางชาวไทยสนใจที่จะซื้อเสื้อผ้าระหว่างการเดินทางมากกว่าก่อนเริ่มทริป โดยความสนใจนี้ได้เพิ่มขึ้นในผู้เดินทางเจเนอเรชั่นซีเป็น 81% ผู้เดินทางชาวไทยจำนวน 53% ระบุว่าพวกเขาสนใจที่จะแวะซื้อเสื้อผ้ามือสองในระหว่างการเดินทางกว่า 88% ของผู้เดินทางชาวไทยรายงานว่าพวกเขาเคยซื้อสินค้าวินเทจหรือสินค้ามือสองจากต่างประเทศ
ส่วน 82% ของผู้เดินทางชาวไทย (และ 68% ของผู้เดินทางทั่วโลก) วางแผนการใช้จ่ายให้คุ้มค่า ดังนั้น การค้นหาไอเท็มสภาพดีราคาถูกที่ซ่อนอยู่ในร้านขายของมือสองจึงเป็นภารกิจที่น่าสนุกในการเดินทาง นอกจากนี้ 45% ของพวกเขาระบุว่าสินค้ามือสองในร้านขายของวินเทจที่ต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับสินค้าในประเทศ
(4)ทริปหลบร้อนท่ามกลางแสงดาว มองหาจุดหมายปลายทางที่เย็นสบายและกิจกรรมกลางคืนที่น่าสนใจ การหนีร้อนเพื่อไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เย็นขึ้นเป็นการเดินทางที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เดินทางชาวไทยมานาน ตั้งแต่ ‘เทรนด์หนีร้อนไปพึ่งเย็น’ ที่มาแรงในปี 2567 ซึ่งผู้เดินทางมองหาจุดหมายปลายทางใกล้แม่น้ำมากขึ้น และในปี 2568 ผู้เดินทางยังคงมองจุดหมายปลายทางหนีความร้อนเหมือนเดิม แต่จะมองหาสถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมในยามค่ำคืนมากขึ้น เนื่องจากอากาศที่เย็นกว่าตอนกลางวัน สถานที่มีความแออัดน้อยลง รวมถึงความสนใจด้านอวกาศและจักรวาล
(5)ชะลอใจ ชะลอวัย เน้นการเดินทางเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ผู้เดินทางเริ่มมองหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้ชีวิตของพวกเขายืนยาวขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2568 ผู้เดินทางมีแนวโน้มที่จะหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มากยิ่งขึ้น พวกเขามองว่าการเดินทางไม่ใช่แค่ช่วงเวลาผ่อนคลายเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโอกาสทองที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง อ่อนเยาว์ และใช้ชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
(6)ทริปชายแท้ แต่ตีความใหม่ ผู้ชายให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตและการพัฒนาตนเองมากขึ้น การเดินทางในปี 2568 ของผู้เดินทางเพศชายชาวไทยจะออกจากกรอบการเดินทางแบบ ‘ลูกผู้ชาย’ ตามความคาดหวังของสังคมมากขึ้น โดยพวกเขาจะให้ความสำคัญกับแอลกอฮอล์ บุหรี่ และอบายมุขต่าง ๆ น้อยลง เนื่องจากการเดินทางแบบลูกผู้ชายในปัจจุบันเปลี่ยนมาเน้นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาตัวเอง รวมถึงการยอมรับและก้าวข้ามอุปสรรคภายในใจของตนเอง และเหตุผลอื่น ๆ เช่น เพื่อคลายความเหงาและเชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน
(7)เริ่มต้นเที่ยวได้ แม้ในสนามบิน สนามบินกลายเป็นจุดเริ่มต้นของประสบการณ์การเดินทางที่น่าสนใจ ก่อนหน้านี้ผู้เดินทางมักจะคำนวณเวลาเพื่อให้มาถึงทันเวลาขึ้นเครื่องบินพอดี เพื่อลดการพบปะความแออัดของผู้คนบริเวณพื้นที่รับรองในสนามบิน แต่ในปี 2568 ผู้เดินทางได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดสำหรับการเริ่มต้นเที่ยวด้วยการมองหาและใช้เวลาไปกับความบันเทิงรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีให้บริการในสนามบิน
โดย 82% ของผู้เดินทางชาวไทยระบุว่า พวกเขาจะรู้สึกดีมากขึ้นและเครียดน้อยลงในเรื่องการเดินทาง หากมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่สนามบินให้เลือกใช้ก่อนขึ้นเครื่องบิน
(8)การเดินทางที่พิเศษของคนที่มีความต้องการพิเศษ มีการพัฒนาบริการเพื่อรองรับความต้องการของผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาทมากขึ้น กระแสความเท่าเทียมและการสร้างแนวทางที่หลากหลายสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษ โดยเฉพาะผู้มีความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodivergent People) จะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในแวดวงการเดินทางโดยพวกเขาจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือและสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ขณะเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลของตัวเองและเพื่อนร่วมเดินทาง
(9)ท้าทายขีดจำกัดเรื่องอายุ ผู้สูงอายุหันมาทำกิจกรรมผจญภัยมากขึ้น ภาพจำของการเกษียณอายุจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในปี 2568 โดยผู้เดินทางกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ชาวไทยจะไม่ยอมละทิ้งความสนุกให้กับอายุและสุขภาพของตัวเอง และ 21% ของพวกเขาให้ความสนใจกับการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการผจญภัยร่วมอยู่ด้วย และพวกเขาพร้อมกำหนดนิยามใหม่ให้กับการเดินทางในช่วงบั้นปลายชีวิต เพื่อแสดงให้เห็นว่าการผจญภัยไม่มีขีดจำกัดของอายุ
“ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เดินทางที่ต้องการประสบการณ์ใหม่ ๆ และมีความหมายมากขึ้น Booking.com พร้อมที่จะสนับสนุนการเดินทางของทุกคน ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย” นางสาวมิเซลกล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่เป็นส่วนตัวและตรงใจผู้เดินทางมากขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567