"มาริษ" ปลื้มเสียงชม ไทยจัดประชุมเมียนมา-เพื่อนบ้าน 6 ชาติครั้งแรก ร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามแดน ยันปล่อย 4 ประมงไทยเร็วๆ นี้
เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่โรงแรมคาเพลลา นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังการเป็นเจ้าภาพการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนระดับสูง 6 ประเทศ ประกอบด้วยไทย เมียนมา ลาว จีน อินเดีย และบังคลาเทศ เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกันว่า การหารืออย่างไม่เป็นทางการในวันนี้เป็นข้อริเริ่มของไทยและมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาครบทั้ง 5 ประเทศได้มาหารือร่วมกัน เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกันทุกอย่างซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะในเมียนมา แต่เป็นทุกปัญหาที่มีผลกระทบกับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ประเทศเพื่อนบ้านแต่ยังรวมถึงปัญหาของภูมิภาคต่างๆ ด้วย
นายมาริษกล่าวว่า การหารือที่เกิดขึ้นเป็นการต่อยอดมาจากข้อริเริ่มของไทย โดยการหารือครั้งแรกเป็นการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 3 ฝ่ายระหว่างไทย อินเดีย เมียนมา ช่วงการประชุมบิมสเทคที่กรุงนิวเดลี อินเดีย เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และการหารืออย่างไม่เป็นทางการ 4 ฝ่ายระหว่างไทย จีน เมียนมา และลาว ช่วงการประชุมแม่โขง – ล้านช้าง ที่เชียงใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่เมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมประชุมครบ ซึ่งสะท้อนความจริงจังของทุกประเทศที่ต้องการปรึกษาหารือ และร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ดีการหารือในวันนี้ถือว่าแยกต่างหากจากการหารืออย่างไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียนในวันที่ 20 ธันวาคม แต่จะช่วยเสริมความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมาให้มีผลเป็นรูปธรรมชัดยิ่งขึ้น
นายมาริษกล่าวว่า บรรยากาศการหารือดีมาก มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เรื่องอาชญากรรมข้ามแดน การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ หรือออนไลน์สแกม เรื่องการแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ เพราะไทย เมียนมา และลาว ก็เป็นส่วนหนึ่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงจีนที่เป็นพันธมิตรในการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทุกคนตระหนักว่าการที่เรามีการร่วมมือหรือพูดคุยอย่างสร้างสรรค์ในลักษณะนี้ จะเป็นการสนับสนุนความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะทำให้เป็นเป็นส่วนที่ช่วยเสริมกับสิ่งที่อาเซียนทำอยู่
นายมาริษกล่าวว่า ประเด็นการหารือหลักมี 4 ประเด็น ประการแรก ทุกประเทศชื่นชมความคิดริเริ่มของไทยที่จัดการหารือครั้งนี้ และเห็นตรงกันว่าการหารือโดยตรงระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและเมียนมา มีความจำเป็นและสำคัญมาก เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในเมียนมาเองโดยตรง นอกจากนั้น ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายรวมถึงไทย เข้าใจต่อความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ในเมียนมาดีกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีชายแดนติดกัน และมีการแบ่งปันขนบธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งทำให้เข้าใจกันและกัน ทุกประเทศเห็นประโยชน์ที่จะมีการพบกันของเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งโอกาสที่จะหารือกันเพิ่มเติม เนื่องจากหลายประเทศจะเข้าร่วมประชุมอนุภูมิภาคต่างๆ อยู่แล้ว ก็สามารถจัดประชุมต่อเนื่องกันอย่างที่ทำในไทยวันนี้ได้
นายมาริษกล่าว่า ประการที่สอง นายตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา เล่าให้ฟังเกี่ยวกับแผนงานทางด้านการเมืองและความคืบหน้าในการจัดเลือกตั้งปีหน้า อาทิ การจัดทำสำมะโนประชากร การจดทะเบียนพรรคการเมืองที่มีมากกว่า 53 พรรค และเมียนมามีความตั้งใจจริงที่จะเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเช่นจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้เมียนมากำลังพิจารณาในรายละเอียด และจะแจ้งประเทศเพื่อนบ้านให้ทราบในโอกาสแรก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมหารืออย่างกว้างขวางถึงสถานการณ์ความมั่นคงชายแดนในแต่ละด้านของเมียนมา ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในปัญหาเรื่องยาเสพติด การลักลอบข้ามแดน การค้าอาวุธ การค้ามนุษย์ ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งทุกประเทศเห็นพ้องที่จะยกระดับความร่วมมือให้ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมาย หลายๆ ประเทศเสนอความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ให้แก่กัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างกันที่มากขึ้นเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนที่ไทยต้องการเห็น ทั้งยังแสดงถึงความจริงใจของแต่ละประเทศที่จะช่วยเหลือเมียนมา และเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศเพื่อนบ้านเมียนมาด้วยเช่นกัน
นายมาริษกล่าวต่อว่า ทุกประเทศเพื่อนบ้านที่มีผลประโยชน์ร่วมกันต้องการเห็นเมียนมามีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และเป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องการให้ฝ่ายในเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง และถึงเวลาแล้วที่หันหน้ามาคุยกันเพื่อหาทางออกโดยสันติ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาได้แจ้งว่ารัฐบาลเมียนมาเปิดประตูสำหรับการพูดคุยเพื่อหาทางออกโดยกระบวนการทางการเมือง และเมียนมามีกลไลที่จะเปิดประตูให้กับทุกฝ่ายที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยสันติ
นายมาริษยังกล่าวถึงการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมาว่า ได้มีการพูดคุยครอบคลุมประเด็นทวิภาคีที่สำคัญต่างๆ โดยในเรื่องลูกเรือประมงทั้ง 4 คน ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการจากเมียนมาว่าจะได้รับการปล่อยตัวกลับไทยเร็วๆ นี้ แต่ต้องทราบว่าทุกประเทศมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ เราก็ต้องให้เกียรติระบบของเขา และยังคุยกันว่าความร่วมมือระหว่างไทย-เมียนมามีความสำคัญมาก เราจะร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้อีกในอนาคต
นายมาริษกล่าวถึงการหารือกับนายวิกรม มิสรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียว่า ได้พูดถึงความสำคัญของเส้นทางการค้าสายเอเชีย หรือ Asian Highway 1 (AH1) ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ เห็นพ้องกันว่าจะเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดเส้นทางนี้ได้อีกครั้งโดยเร็ว เพราะมีความสำคัญต่อประชาชนทั้ง 3 ประเทศอย่างมาก ทั้งยังเป็นโครงการสำคัญยิ่งที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้
“ประเทศต่างๆ เห็นประโยชน์ในการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการหารือระหว่างเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้าน ทุกคนสนับสนุนบทบาทสำคัญที่สร้างสรรค์ของไทยในการเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนที่สำคัญของไทยและแสดงบทบาทสำคัญของไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เราต้องการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในกรอบของความร่วมมือในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาเพราะเป็นผลประโยชน์ที่สำคัญของไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก” นายมาริษกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า การหารือในวันที่ 20 ธันวาคม ซึ่งจะเป็นการหารือไม่เป็นทางการในกรอบอาเซียน ตนจะนำผลการหารือระหว่างเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านไปถ่ายทอดให้ที่ประชุมได้ทราบด้วย เพื่อเสริมการแก้ปัญหาเมียนมาในกรอบอาเซียน การพบปะหารือในวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก จะนำไปสู่การขยายความร่วมมือและต่อยอดเพื่อเสริมสิ่งที่อาเซียนทำอยู่คือการแก้ไขประเทศเมียนมาโดยสมบูรณ์ในอนาคตอันใกล้
ด้านนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามว่าได้มีการหารือกับเมียนมาเกี่ยวกับกรณีกองทัพกลุ่มว้าแดงหรือไม่ว่า ในเรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันจะกลับไปใช้กลไกชายแดนผ่านคณะกรรมการเขตแดนร่วม (JBC) ที่มีอยู่แล้วเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 19 ธันวาคม 2567