ความท้าทายการต่างประเทศไทยปี 2025
ปี 2025 ถือเป็นปีที่มีความท้าทายหลายอย่างสำหรับโลกโดยรวม มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหามากมายต่อเนื่องจากปี 2024 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะสงครามอันยืดเยื้อในหลายภูมิภาคของโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติในวงกว้าง จากสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน อย่างปรากฎการณ์ Rain Bomb ที่ทำให้เกิดฝนตกกระหน่ำแบบไม่ลืมหูลืมตาในเวลาสั้นๆ ในบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน หรือปรากฎการณ์โลกเดือดที่อุณหภูมิพุ่งสูงทำลายสถิติ ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ เช่นเดียวกับผลพวงจากการเลือกตั้งในหลายภูมิภาคที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อโลกในหลายๆ ด้าน
การต่างประเทศของไทยถือเป็นด่านหน้าในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น จึงถือโอกาสในวันแรกของปีมาไล่เรียงความท้าทายของการต่างประเทศไทยในปีงูเล็กมาให้ได้รับทราบกัน
สถานการณ์วุ่นวายในเมียนมา :
เริ่มต้นจากประเด็นใกล้ตัวอย่างสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ไทยในฐานประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเมียนมายาวที่สุดต้องรับแรงกระแทกอันเป็นผลจากความวุ่นวายในเมียนมามากกว่าประเทศใด ในปีที่ผ่านมาเราได้เห็นทั้งปัญหายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การหลอกลวงทางออนไลน์ กิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า รัฐบาลทหารเมียนมาสูญเสียการควบคุมพื้นที่ในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธก็รุกคืบยืดพื้นที่ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า ในปี 2024 เมียนมาได้แซงหน้าอัฟกานิสถาน รั้งแชมป์ประเทศที่มีการปลูกฝิ่นมากที่สุดในโลกอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาภายในเมียนมาเองที่ทำให้แต่ละฝ่ายต้องหันไปผลิตยาเสพติดเพื่อหาเงินไปซื้ออาวุธ แนวโน้มดังกล่าวยังไม่น่าจะดีขึ้นในปีนี้ แม้ว่ารัฐบาลเมียนมาจะประกาศเดินหน้าเตรียมการจัดการเลือกตั้งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2025 แต่การเลือกตั้งที่ไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม ไม่น่าจะได้รับการยอมรับในเวทีโลก สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมาไม่น่าจะจบลงในเร็ววัน
เดือนธันวาคมปีก่อน ไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม 2 กรอบเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเมียนมา คือการประชุมร่วมของประเทศเพื่อนบ้านเมียนมา 6 ประเทศ และการหารือแบบขยายของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ภายใต้การแสดงบทบาทสะพานเชื่อมของไทย แต่ในส่วนของอาเซียนต้องยอมรับว่าดูจะไม่มีความคืบหน้าใดๆ นัก เว้นแต่การย้ำถึงฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน ที่หลังจากผ่านมาแล้วหลายปีก็ดูจะไม่มีความคืบหน้าเท่าใดนัก คงต้องรอดูการทำงานของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ว่าจะผลักดันให้เกิดพัฒนาการใดๆ ขึ้นได้หรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเมียนมาก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของไทยในปีนี้และน่าจะลากยาวไปถึงปีต่อๆ ไปอีกด้วย
การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า MOU44 ที่ดูคล้ายการปลุกผีประสาทพระวิหารด้วยข้อพิพาทด้านเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาถูกนำกลับมาอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้เปลี่ยนจากพื้นที่ทางบกมาเป็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หลังจากการทำ MOU นี้เกิดขึ้นมาแล้วถึง 20 ปี
อันที่จริงนับตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ก็ไม่มีการเจรจาเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาในเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้น จนมาถึงยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (เจทีซี) ที่ตั้งขึ้นตาม MOU44 ได้เดินทางไปหารือกับฝ่ายกัมพูชาอีกครั้ง กระทั่งในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน ก็ยังไม่ทันได้ตั้งเจทีซีขึ้น ลากยาวมาถึงรัฐบาลแพทองธาร เรื่องดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง
แน่นอนว่าเมื่อนำชื่อทักษิณ ชินวัตร มาเคียงคู่กับสมเด็จฮุน เซน และหยิบเอาคำว่า “เสียดินแดน” มาใช้กับไทย-กัมพูชา ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้เรื่องเก่าๆ กลับมาหลอกหลอนใหม่ ไม่ว่ามันจะเกิดจากการเล่นการเมืองหรืออะไรก็ตาม MOU44 ถือเป็นประเด็นร้อนด้านการต่างประเทศสำหรับปีนี้ เพราะมีการประกาศจองกฐินกันเรียบร้อยแล้วว่า ในปีนี้จะมีการนัดมากดดันที่รัฐสภาและกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากที่ได้ไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้ สุดท้ายแล้วจะไปต่อหรือพอแค่นี้ ปีนี้คงจะได้เห็นภาพกัน
การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ยุคทรัมป์ 2.0 :
มองออกไปยังเวทีการเมืองโลกในปี 2025 สิ่งที่ถือเป็นความท้าทายหลักที่ทุกประเทศจับจ้องคือการก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม จะทำให้นโยบายต่างประเทศของสหรัฐในด้านต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดบ้าง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบกับโลก
สงครามในยูเครนที่สหรัฐทุ่มงบประมาณสนับสนุนมหาศาลอาจจบเร็วกว่าที่คิด แต่สงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซากับประเทศรอบข้างยังน่าจะลากยาวต่อไป เพราะยิวคือผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐ
สิ่งหนึ่งที่คาดเดาได้คือการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐและจีนน่าจะร้อนแรงขึ้น แต่จะเป็นไปในเชิงการกดดันด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจและกำแพงภาษีเป็นหลัก แต่ความคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์ก็ทำให้อะไรหลายๆ อย่างอาจพลิกผันได้ยอย่างรวดเร็วเช่นกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในวันที่ 27 ธันวาคม ทรัมป์ได้เรียกร้องให้ศาลสูงสุดของสหรัฐระงับการบังคับใช้กฎหมายแบน TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยอดนิยมสัญชาติจีนในสหรัฐ หรือบังคับให้ TikTok ขายกิจการในสหรัฐ โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องการเวลาในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในเรื่องนี้หลังรับตำแหน่ง
การรับมือกับสิ่งที่สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามจากจีนอาจทำให้มีการดำเนินนโยบายที่ส่งผลกระทบกับประเทศอื่นที่มีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ มีการปิดล้อมจีน หรือการบีบให้เลือกข้าง ที่น่าจะส่งผลกระทบกับประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่มีความเกี่ยวพันกับจีนตามไปด้วย นโยบายเช่นว่าย่อมส่งผลกระทบกับไทยอย่างเลี่ยงไม่พ้น และเราต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ประคับประคองตนให้รอดพ้นจากคลื่นลมโหมแรงดังกล่าว
การก้าวขึ้นมาของทรัมป์จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญสำหรับการต่างประเทศไทยในปีนี้ ที่ต้องจับตาดูพัฒนาการอย่างใกล้ชิดต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 2 มกราคม 2568