ANA วางแผนให้บริการ "แท็กซี่บินได้" ในปีงบฯ 2027 เส้นทางโตเกียว-นาริตะ
ออลนิปปอนแอร์เวย์ส หรือเอเอ็นเอ (ANA) สายการบินยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นวางแผนเปิดตัวแท็กซี่บินได้ภายในปีงบฯ 2027 ให้บริการเส้นทางแรก สนามบินนาริตะกับใจกลางกรุงโตเกียว ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่มีการใช้แท็กซี่บินได้ ถัดจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา
นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2025 ว่า ออลนิปปอนแอร์เวย์ส หรือ เอเอ็นเอ (All Nippon Airways: ANA) บริษัทสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นวางแผนที่จะเปิดตัวการให้บริการรถแท็กซี่บินได้เชิงพาณิชย์ครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่นภายในปีงบการเงิน 2027 (1 เมษายน 2027 ถึง 31 มีนาคม 2028) โดยให้บริการเส้นทางระหว่างสนามบินนานาชาตินาริตะที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะ กับใจกลางกรุงโตเกียว โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 10 ถึง 20 นาที ส่วนค่าบริการจะเท่ากันกับค่าโดยสารแท็กซี่บนท้องถนนที่ใช้กันทั่วไป
นอกจากนี้ ออลนิปปอนแอร์เวย์ส ยังวางแผนที่จะเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างสนามบินนานาชาตินาริตะกับสนามบินฮาเนดะ อีกหนึ่งสนามบินหลักที่ตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว และยังมองไปถึงการเปิดให้บริการเส้นทางระหว่างใจกลางกรุงโตเกียวกับเมืองโยโกฮาม่า และเมืองจุดหมายของนักท่องเที่ยวอย่างเมืองคามาคุระ (Kamakura) อีกด้วย
นิกเคอิ เอเชีย รายงานเพิ่มเติมว่า การให้บริการแท็กซี่บินได้ของเอเอ็นเอจะเป็นรูปแบบแชร์แท็กซี่ (share-taxi) หรือบริการแท็กซี่ที่ผู้โดยสารใช้บริการร่วมกับผู้โดยสารคนอื่น ๆ โดยค่าโดยสารแท็กซี่ปกติระหว่างสนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะมีราคาประมาณ 20,000 เยน (ประมาณ 4,360 บาท) ทั้งนี้ ค่าแท็กซี่บินได้จะถูกกว่าการเดินทางโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ ซึ่งปกติแล้วค่าใช้จ่ายจะมากกว่า 100,000 เยน (ประมาณ 21,809 บาท) ต่อชั่วโมง
นอกจากนี้ ออลนิปปอนแอร์เวย์ส กำลังทำงานร่วมกับบริษัท โนมูระ เรียลเอสเตท ดีเวลล็อปเมนท์ (Nomura Real Estate Development) ในกรุงโตเกียว รวมไปถึงห้างสรรพสินค้าอิออน มอลล์ (Aeon Mall) ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในเขตชานเมืองเพื่อที่จะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของบริษัทพันธมิตรเหล่านี้ อย่างดาดฟ้าและลานจอดรถ
การให้บริการแท็กซี่ไฟฟ้าบินได้ในเชิงพาณิชย์จะช่วยหลีกเลี่ยงการจราจรในเมืองลง และคาดว่ามีอุปสงค์หรือความต้องการใช้บริการจากทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนั้น รถแท็กซี่บินได้ ซึ่งถือเป็นรูปแบบการเดินทางขนส่งที่รวดเร็วจากสนามบินฮาเนดะไปยังสนามบินนาริตะ จะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของญี่ปุ่นในระดับนานาชาติได้ด้วย
การให้บริการแท็กซี่บินได้ของเอเอ็นเอนี้จะใช้เทคโนโลอายีอากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (eVTOL) ขนาด 5 ที่นั่ง ซึ่งผลิตโดย โจบี้ เอวิเอชั่น (Joby Aviation) บริษัทผลิตอากาศยานพลังงานไฟฟ้าจากสหรัฐที่เป็นพันธมิตรของเอเอ็นเอ
ทั้งนี้ ตัวเครื่องรถแท็กซี่บินได้จะใช้พลังงานจากแบตเตอรีและไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างเที่ยวบิน อีกทั้งยังไม่ต้องใช้รันเวย์หรือทางวิ่งเครื่องบินในการขึ้นลง และเสียงยังเงียบกว่าการใช้เครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งข้อมูลจากโจบี้ระบุว่า ต้นทุนในการให้บริการรถแท็กซี่บินได้อยู่ที่ประมาณ 95 ดอลลาร์ (ประมาณ 3,250 บาท) ต่อ 25 นาที
ในปัจจุบัน โจบี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการขอใบรับรองความปลอดภัยของยานพาหนะดังกล่าวจากองค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหัฐอเมริกา (Federal Aviation Administration: FAA) ถัดจากนั้นบริษัทมุ่งที่จะขอใบรับรองจาก กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism : MLITT) ของญี่ปุ่น และทางเอเอ็นเอจะเริ่มประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงรัฐบาลท้องถิ่นเกี่ยวกับเส้นทางการบินที่เฉพาะเจาะจง
โจบี้วางแผนที่จะเริ่มให้บริการแท็กซี่บินได้เชิงพาณิชย์แห่งแรกของโลกที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ภายในสิ้นปี 2025 และญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่จะให้บริการแท็กซี่บินได้ ถัดจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ บริษัทโจบี้ ซึ่งโตโยต้า มอเตอร์ (Toyota Motor) บริษัทรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นถือหุ้นอยู่ ได้ทดสอบการบินครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นสำเร็จไปในเดือนตุลาคม 2024 ที่ผ่านมา
แท็กซี่บินได้ ถูกจัดให้เป็นไฮไลต์สำคัญของงาน เวิล์ด เอ็กซ์โป 2025 (World Expo 2025) ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ โดยมีกลุ่มบริษัท 4 กลุ่ม รวมไปถึงความร่วมมือระหว่างเอเอ็นเอและโจบี้ และความร่วมมือระหว่างเจแปน แอร์ไลน์ส (Japan Airlines) กับซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น (Sumitomo Corp.) ได้วางแผนเกี่ยวกับการให้บริการรถแท็กซี่บินได้เชิงพาณิชย์ แต่ปัญหาในการขอการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้บริษัทเหล่านั้นต้องปรับต้องลดแผนการลงเหลือเพียงการทดลองบินโดยไม่มีผู้โดยสาร
ในประเทศญี่ปุ่น รถยนต์บินได้ถูกจัดว่าเป็นเครื่องบินตามกฎหมาย แต่เนื่องจากรถแท็กซี่บินได้ไม่ได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการบิน ดังนั้น จึงต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยใหม่เพื่อควบคุม อีกทั้งยังมีปัญหามากมายที่เกิดขึ้นซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงใบอนุญาตนักบินและกฎในการประกอบธุรกิจบริการนี้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 2 มกราคม 2568