"เวียดนามยุคใหม่" กล้าใช้เงิน รายได้ต่อหัวพุ่งจุดกระแสซื้อของฟุ่มเฟือย
"เวียดนาม" ปฎิรูปเศรษฐกิจสู่ยุคใหม่ รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 แสนบาท แซงฟิลิปปินส์ ดันกำลังซื้อชนชั้นกลางพุ่ง ใช้เงินซื้ออสังหา รถ สมาร์ทโฟนที่เคยเป็นของ "ฟุ่มเฟือย"
พฤติกรรมการใช้จ่ายและการบริโภคของคน “เวียดนาม” เศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในอาเซียนกำลังเปลี่ยนไป สินค้าที่เคยถูกมองว่าเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” ในประเทศคอมมิวนิสต์กำลังได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้น และวัฒนธรรมของคนเวียดนามส่งเสริมกำลังซื้อของชนชั้นกลางระดับบนให้สูงขึ้นเทียบเท่ากับประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบันนี้ คนเวียดนามยุคใหม่มีความต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นและแสดงความมั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ที่ต้องระมัดระวังในการแสดงความร่ำรวย
นิกเกอิเอเชีย รายงานว่าในปี 2533 จีดีพีต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่เพียง 122 ดอลลาร์ (ประมาณ 4 พันบาท) ซึ่งต่ำกว่าไทย 13 เท่า ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ 7 เท่า และต่ำกว่าอินโดนีเซีย 6 เท่า
ทว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจของเวียดนามในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จีดีพีต่อหัวของเวียดนามพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โตเกิน 2,000 ดอลลาร์หรือราว 68,000 บาท ในปี 2555 และเกิน 3,000 ดอลลาร์หรือราว 1 แสนบาท ในปี 2561 และในปี 2567 ที่ผ่านมา GDP ต่อหัวเวียดนามขึ้นมาอยู่ที่ 4,700 ดอลลาร์ หรือราว 1.6 แสนบาท แซงหน้าฟิลิปปินส์และกำลังใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย
ซื้อของฟุ่มเฟือยกลายเป็นเรื่องปกติ :
สินค้าที่ถูกจัดอยู่ในหมวดฟุ่มเฟือยได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ สมาร์ทโฟนไฮเอนด์ เครื่องสำอางค์แบรนด์หรูและอสังหาริมทรัพย์ สิ่งเหล่านี้กำลังเป็นกระแสนิยมในหมู่ชนชั้นกลางระดับบนของเวียดนาม ซึ่งอสังหาริมทรัพย์กลายเป็น “สินค้าฟุ่มเฟือย” ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด
เว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ของเวียดนาม Batdongsan.com ระบุว่า ราคาขายเฉลี่ยของบ้านทั่วประเทศ ณ เดือนมิ.ย. 2567 สูงขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน วินโฮมส์เปิดเผยยอดขายที่ทำสัญญาแล้วเพิ่มขึ้นถึง 27.3% จากปีก่อน โดยมูลค่าการซื้อขายรวมสูงถึง 51.7 ล้านล้านดอง (ประมาณ 6.9 หมื่นล้านบาท)
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าของรถยนต์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวบ่งชี้ความแข็งแกร่งของผู้บริโภคเวียดนาม ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ณ สิ้นปีที่ผ่านมา มีรถยนต์ 63 คันต่อประชากร 1,000 คน เพิ่มขึ้นสามเท่าจาก 13 ปีที่แล้ว แม้ว่าจะยังคงต่ำกว่าอินโดนีเซีย แต่จากข้อมูลขององค์กรผู้ผลิตรถยนต์นานาชาติระบุว่า อัตราการเติบโตต่อปีระหว่างปี 2558 ถึง 2563 อยู่ที่ 17% ซึ่งสูงที่สุดในโลก
ตามข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์เวียดนามระบุว่า ยอดขายรถยนต์รวมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 อยู่ที่ 90,701 ซึ่งยังไม่นับรวมยอดขายของ “วินฟาสต์” ที่ไม่ถูกนับรวมในสถิติเนื่องจากนโยบายของบริษัท โดยมียอดขาย 44,773 คันในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งสื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์รายปีจะแตะ 1 ล้านคันภายในปี 2573
เจ้าหน้าที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นมองว่า การที่รถยนต์เป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะในสังคมเวียดนาม ทำให้การบริโภครถยนต์ของชนชั้นกลางระดับบนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในบริบทที่รถจักรยานยนต์ยังคงเป็นพาหนะหลัก
นอกจากอพาร์ตเมนต์และรถยนต์แล้ว ยอดขาย “สมาร์ทโฟน” ก็เติบโตอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากข้อมูลของสตาติสตา พบว่า จำนวนสมาร์ทโฟนที่จดทะเบียนในเวียดนามซึ่งมีประชากร 100 ล้านคนนั้น อยู่ที่ 85.73 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 6.9% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสูงกว่าปี 2563 ถึงสองเท่า และสูงกว่าปี 2557 ถึง 23 เท่า
วัฒนธรรมกระตุ้นการใช้จ่าย :
นอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเวียดนามแล้ว ปัจจัยทางวัฒนธรรมก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้สินค้าฟุ่มเฟือยได้รับความนิยมมากขึ้น
วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสังคมเวียดนาม ที่มีความเชื่อในเรื่อง ‘ลูกมาก ลาภมาก’ ทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ ในอีกด้านหนึ่งการอาศัยอยู่ร่วมกันของคนเวียดนามทำให้พ่อแม่และญาติพี่น้องไม่ต้องเสียค่าเช่า ทุกคนแบ่งค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า กันอย่างเท่าเทียม
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการบริโภคของครัวเรือนเวียดนามคือ อัตราการมีรายได้สองทางที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ซึ่งข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุว่า อัตราการมีงานทำของแรงงานชายและหญิงในเวียดนามในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 77.8% และ 68.5% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ที่อยู่ในระดับ 73.6% และ 58.6% ตามลำดับ
รวมไปถึงอัตราการเกิดของเวียดนามที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3.6 คนต่อคู่ ในปี 1990 เหลือเพียง 1.9 คนในปี 2565 นั้น ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียน และใกล้เคียงกับประเทศที่มีรายได้สูง เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรเช่นนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตส่วนตัวและการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น
จุดหมายปลายทางนักลงทุน :
บริษัทจากประเทศที่มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) สูง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงแต่มองเวียดนามเป็นฐานการผลิต แต่ยังเล็งเห็นถึงศักยภาพของตลาดผู้บริโภคชั้นสูงที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่กำลังขยายการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงในเวียดนาม
“ทาคาชิมายะ”ผุดแผนการเปิดห้างสรรพสินค้าสาขาใหม่ในกรุงฮานอย ในปี 2570 หลังจากที่ห้างในนครโฮจิมินห์ซิตี้ที่เปิดให้บริการในปี 2559 ประสบความสำเร็จ ส่วนบริษัทเครื่องสำอางชั้นนำอย่าง“ชิเซโด้”และ“ไดอิจิ ซังเคียว เฮลท์แคร์”ได้หันมาให้ความสนใจกับตลาดเวียดนามมากขึ้น หลังจากที่ตลาดจีนชะลอตัวลง ขณะที่“มิตซูบิชิ เอสเตท”ประกาศแผนลงทุน 4 โครงการสำคัญและทำให้มูลค่าการลงทุนรวมของ มิตซูบิชิ เอสเตทในเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านดอลลาร์
เหวียน คิม หง็อก นักแปลวัย 38 ปี มองว่ากระแสการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันเป็นผลมาจากการที่คนเวียดนามมีรายได้เพิ่มขึ้นและได้รับอิทธิพลจากไลฟ์สไตล์แบบตะวันตกที่เน้นความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น จากที่ผ่านมา คนเวียดนามไม่เคยมีเงินมากขนาดนี้มาก่อน และไม่เคยมีโอกาสใช้จ่ายเงินและแสดงออกถึงความมั่งคั่งมากขนาดนี้มาก่อน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568