เอกชนร้องรัฐออก "อาวุธลับ" คืนชีพ "ท่องเที่ยว" ปั๊ม ศก.ไทย
หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนโควิด-19 พบว่ารายได้จากต่างประเทศที่ใช้หมุนเวียนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มาจาก 2 ภาคส่วนหลัก คือ การส่งออก และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้รวมกว่า 3 ล้านล้านบาท ผ่านการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบแตะ 40 ล้านคน ในช่วงปี 2562 ก่อนเกิดโควิด
แต่หลังจากต้องเผชิญการระบาดโควิดที่เขย่าโลกนานกว่า 3 ปี ทำให้การท่องเที่ยวไทยหยุดชะงักไปตามการเดินทางระหว่างประเทศที่ถูกปิดประตูเมือง เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสที่พร้อมคร่าชีวิตมนุษย์ เหมือนภาพที่ได้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อทะลุหลักพันคน ส่วนผู้เสียชีวิตก็วิ่งขึ้นหลักหลายสิบคนต่อวัน
ทำให้ “ภาคการส่งออก” รับบทบาทเป็นพระเอกเพียงหนึ่งเดียว ที่ยังมีลมหายใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จากคำสั่งซื้อสินค้าของต่างประเทศที่วิ่งเข้ามาแบบไม่ขาดสาย ทำให้การส่งออกในปี 2564 ขยายตัวได้กว่า 17% มูลค่า 2.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ปี 2565 ขยายตัวขึ้นอีก 5.5% มูลค่า 2.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่ปี 2566 จะติดลบเล็กน้อย ประมาณ 1% จากฐานการส่งออกที่เติบโตได้สูงมากในช่วงปีก่อนหน้า
ขณะที่ปี 2567 ที่ผ่านมาเห็นตัวเลขการส่งออกไทยกลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 5.4% มีมูลค่าทะลุ 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นมูลค่าการส่งออกที่สูงสุดในประวัติการณ์ ส่วนปี 2568 นี้ คาดการณ์ว่าการส่งออกจะโตได้เพียง 1-2% เท่านั้น เพราะมีความเสี่ยงนโยบายจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับการค้าโลก ผ่านมาตรการกีดกันทางการค้า
‘ท่องเที่ยว’ความหวังเดียว :
ทำให้พระเอกของ “เศรษฐกิจไทย” กลับมาอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง จากที่ผ่านมาก็รับหน้าที่เป็นความหวังอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยปี 2568 นี้ ก็ไม่แตกต่างจากเดิม เนื่องจากสถิติเคยสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หลัก 40 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศไทยกว่า 3 ล้านล้านบาท ปีนี้จึงคาดหวังว่าจะเห็นการท่องเที่ยวไทยกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองอีกครั้ง
แต่เมื่อเปิดปี 2568 มาได้เพียงไม่นาน ความหวังที่ลุกโชนในตอนแรกก็แทบจะดับลงอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์นักแสดงชาวจีน “ซิงซิง” ที่เข้ามาหายตัวไประหว่างชายแดนเพื่อนบ้านไทย แม้สามารถนำกลับมาได้อย่างปลอดภัย และสืบสวนแล้วว่าไม่ได้มีคนไทยเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ทำให้หายตัวไป และนักแสดงชาวจีนคนดังกล่าวไม่ได้เข้ามาเป็นนักท่องเที่ยว แต่เข้ามาเพราะถูกหลอกไปทำงานตั้งแต่ต้นทางแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถลบล้างคำถามที่ส่งถึงความปลอดภัยของการเข้ามาท่องเที่ยวไทยอยู่ดี ซึ่งผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ว่า “นักท่องเที่ยวจีน” ที่เป็นฐานลูกค้าหลักของไทยในปี 2568 คงเข้ามาเที่ยวได้ไม่ถึง 7 ล้านคน การจะวิ่งตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้ถึง 8 ล้านคนนั้น คงเป็นไปได้ยาก
ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวในไทยเผชิญกับการแข่งขันที่สูง ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปโดยเฉพาะตลาดสำคัญๆ อย่างจีน การเข้ามาเที่ยวจำนวนมากๆ เป็นกรุ๊ปทัวร์ก็ยังไม่กลับมา อีกทั้งยังมาเจอบริษัทที่เป็นทุนต่างชาติ เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งนอมินีเป็นคนไทย ทำตลาดด้วยการขายทัวร์แบบตัดราคาต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ เป็นราคาที่ต่ำกว่าทัวร์ศูนย์เหรียญที่เคยเป็นปัญหาในอดีตอีก ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก เพราะนักลงทุนเหล่านี้มีเม็ดเงินจำนวนมาก เมื่อเข้ามาแล้วอยู่ไม่ไหว เจ๊งแล้วกลับประเทศต้นทางไป เจ้าใหม่ที่มีเงินทุนก็จะเข้ามาเสียบแทนเป็นวงจรไม่รู้จบ
ธุรกิจเผชิญเคราะห์ซ้ำกรรมซัด :
“ยอมรับเลยว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเจอแบบนี้เลย เพราะสถานการณ์ทัวร์ทุ่มตลาด หรือทัวร์ทุบตลาด มีความรุนแรงมากกว่าช่วงเกิดการระบาดโควิดด้วย มีความสาหัสมากกว่าทัวร์ซื้อหัว (kick back) หรือศูนย์เหรียญอีก ซึ่งการที่มีคนทำแบบนี้ไม่กี่คนก็ทำให้ตลาดพังหมดแล้ว เพราะข่าวสารจะออกไปทั่ว คนวงการเดียวกันรู้กันหมด การแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขให้ถูกจุดไม่ใช่การเหวี่ยงแหเพราะจะกระทบกับผู้ประกอบการคนไทยที่ทำดีอยู่แล้ว รัฐบาลต้องใช้ไม้อ่อนก่อนใช้ไม้แข็งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาในนามของเอกชนและสมาคมก็พยายามประคับประคองในการแก้ไขปัญหาให้ได้ เพื่อไม่ให้ภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยเสียหาย ซ้ำยังมาเจอเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยที่กระทบความเชื่อมั่น และภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังในการใช้จ่าย รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ถือเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่พันกันไปหมด” ศิษฎิวัชรกล่าว
“ศิษฎิวัชร” ย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการในตอนนี้จนถึงในอนาคต คือการสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของไทย รวมถึงการลงทุนแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ลงทุนเพิ่ม สร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามอยู่แล้วให้ดีมากขึ้นอีก หากรัฐบาลลงทุนตรงนี้ก็จะช่วยให้ท่องเที่ยวไทยกลับมาบวกมากขึ้น แต่หากรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ หรือทำเท่ากับตอนนี้ ท่องเที่ยวไทยจะเป็นเหมือนของตาย ย่ำอยู่ที่เดิม ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ แถมมีโอกาสถูกฉุดให้ถอยหลังลงด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น ปลดล็อกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าประเทศไทยมากขึ้น เป็นการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้มาตรการต่างๆ ที่ปลดล็อกออกมาดูไม่ได้ส่งผลเชิงบวกอย่างที่คาดหวังกันไว้ จึงมองว่ารัฐบาลควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติของภาคการท่องเที่ยวที่ชัดเจน ว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อใด เพื่อให้เห็นผลอย่างไร รวมถึงมีตัวชี้วัดด้วยว่าทำได้จริงหรือไม่ เพื่อให้งบประมาณที่ดำเนินไปแต่ละโครงการไม่สูญเปล่า
“เราเห็นมาตรการด้านท่องเที่ยวออกมามากมาย โดยเฉพาะมาตรการด้านการตลาด แต่หากไม่มีแผนงานหลักเพื่อให้มองภาพไปในทิศทางเดียวกัน และดำเนินการทุกส่วนไปพร้อมกัน ก็ยากที่จะไปถึงเป้าหมายได้ ตอนนี้รัฐบาลต้องใช้อาวุธลับ เพื่อฟื้นการท่องเที่ยวกลับมาแล้ว หากต้องการให้การท่องเที่ยวไทยเป็นเครื่องมือช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างที่พูดกันมาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากรัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังในการผลักดันการท่องเที่ยว เราจะไม่เห็นจำนวนต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยมากเหมือนปี 2562 อีกแล้ว เพราะตลาดจีนหดหายไป ตลาดอื่นเข้ามาแต่ก็ไปเที่ยวประเทศอื่นที่ต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติมากด้วยเช่นกัน” ศิษฎิวัชรกล่าว
ยังไม่หมดหวังการเติบโต :
ขณะที่ เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) สะท้อนว่า ภาคการท่องเที่ยวในปี 2568 ยังสามารถเติบโตได้ แต่ต้องอาศัยแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ไม่สามารถปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติได้ เพราะมีการแข่งขันที่สูงมากจากหลายประเทศ ที่ต้องการนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเช่นกัน โดยความพิเศษของภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นเซ็กเตอร์เดียวที่สามารถสร้างรายได้ให้เห็นผลแบบทันที
ไม่ว่าจะเป็นรายได้ของผู้ประกอบการขนาดใดก็ตามในห่วงโซ่ธุรกิจ ตั้งแต่โรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า แหล่งท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เปรียบเทียบกับสินค้าอื่น อาทิ ภาคการเกษตรต้องผ่านขบวนการผลิตอะไรต่างๆ มากมาย แต่ภาคการท่องเที่ยว พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวแล้ว ไม่ว่าจะต่างชาติหรือคนไทย พอเข้ามาเที่ยวแล้วก็มีการใช้จ่าย ทำให้เห็นผลเป็นเม็ดเงินสะพัดในทันที ดังนั้นภาคการท่องเที่ยวไทยจึงยังเป็นหลักในการช่วยดันเศรษฐกิจไทย
“การท่องเที่ยวไทยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน บางส่วนถูกกระทบจากเรื่องลบที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2568 ที่ผ่านมา ตั้งแต่นักแสดงชาวจีนที่หายไปบริเวณชายแดนไทย แม้เป็นเพียงทางผ่าน ไม่ได้เข้ามาท่องเที่ยวไทยด้วย รวมถึงกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่รัฐบาลปราบปรามจริงจัง แต่ยังเรียกความเชื่อมั่นคืนไม่ได้ ซ้ำยังมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลส่งตัวอุยกูร์กลับประเทศจีน ทำให้เกิดคำถามถึงเรื่องมนุษยธรรม และการออกประกาศเตือนความปลอดภัยในประเทศไทย ด้วยความกังวลว่าอาจเกิดการก่อการร้ายเหมือนกรณีระเบิดที่แยกราชประสงค์ได้” นายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าว
ยังขยายความเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้การออกประกาศเตือนเรื่องความปลอดภัยของประเทศญี่ปุ่น ประเมินถึงช่วงสงกรานต์ ถือว่าชาวญี่ปุ่นยังเข้ามาเที่ยวไทยช่วงสงกรานต์ไม่ได้มากนักแต่ก็เข้ามาเที่ยวไทยเรื่อยๆ และเริ่มเห็นอินฟลูเอนเซอร์ และกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งที่เที่ยวหลักจะเป็นในเมือง อาทิ สุขุมวิท แต่อาจกระจายไปบริเวณอื่นด้วย โดยช่วงสงกรานต์ที่มีคนรวมตัวกันหนาแน่นมากๆ ก็มีความกังวลการก่อเหตุการณ์ร้ายที่ไม่คาดฝันขึ้น
แม้ไม่ได้พูดถึง แต่ก็ไม่อยากให้รัฐบาลละเลย ต้องตรวจสอบข่าวกรองให้เข้มข้น มาตรการด้านความปลอดภัยต้องทำให้สูงสุด ไม่ให้ลืมเลือน รวมถึงคนไทยด้วย ต้องช่วยกันสอดส่องในพื้นที่ตัวเอง เห็นเหตุการณ์แปลกๆ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที อย่างในตึกใหญ่ตอนนี้เห็นการเข้มงวดในการเข้าอาคารมากขึ้น แม้ป้องกันไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยพอมีมาตรการ คนที่ไม่หวังดีเห็นมีมาตรการก็ต้องระวังตัวมากขึ้น ทำยากขึ้นหรือถอดใจไม่ทำได้ หวังว่าไม่เกิดเหตุอะไรขึ้นจะดีที่สุด เพราะขณะนี้หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นอีกครั้ง การท่องเที่ยวไทยดับสนิทยาวแน่นอน
“วิเคราะห์เฉพาะตลาดฐานลูกค้าหลักของไทยอย่างจีน อดีตพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีนอาจนิยมมากันเป็นกรุ๊ปทัวร์ แต่ปัจจุบันหันมาเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) โดยในอดีตถ้าเราเห็นกรุ๊ปทัวร์จีน ภาษาท่องเที่ยวเขาเรียกว่า ‘First Stamp’ คือเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่งมีพาสปอร์ตอันแรก แล้วเที่ยวนอกประเทศครั้งแรก แล้วก็มาเมืองไทย แต่นักท่องเที่ยวมีคุณภาพสูงขึ้น พอมีคุณภาพสูงขึ้น ก็มีทางเลือกอื่นด้วย ไม่ได้ต้องการผู้นำทัวร์เหมือนในอดีตแล้ว
ทำให้เราต้องตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปให้ได้ ทั้งนี้เดิมเราคิดว่านักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยหายไป เป็นเพราะเศรษฐกิจในจีนไม่ดี รัฐบาลกระตุ้นให้คนจีนเที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่จากข้อมูลพบว่า นักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไม่ได้มีผล แต่เลือกมาประเทศไทยน้อยลง นอกจากค่าเงินที่ถูกลงและสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว เรื่องความมั่นคงก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาไทยน้อยลง” เทียนประสิทธิ์วิเคราะห์
เสียงจากภาคเอกชน สะท้อนให้เห็นว่า สาเหตุหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแผ่วลง โดยเฉพาะแฟนคลับอย่าง “ตลาดจีน” ที่หายไป เป็นเพราะความปลอดภัยที่ถูกกระทบ น่าจะถึงเวลาแล้วที่ “รัฐบาล” ต้องโชว์ฝีไม้ลายมือเรียกความเชื่อมั่นคืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา
ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 24 มีนาคม 2568