เวียดนาม vs ไทย เศรษฐกิจใครดีกว่ากัน? | กันต์ เอี่ยมอินทรา
เวียดนาม ประเทศที่ไม่อยู่ในข่ายที่ไทยจะไปเปรียบเทียบทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม ตอนนี้เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่าง
ขณะที่ไทยเรายังเถียงกันว่าเศรษฐกิจของเราดีขึ้น หรือแย่ลง ภายหลังวิกฤติโควิด แต่ประเทศหนึ่งไม่ไกลบ้านเรากลับมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ได้ชื่อว่าเติบโตแซงหน้าไทยเราอย่างไร้ข้อกังขา
นั่นคือ เวียดนาม ประเทศที่ไม่อยู่ในข่ายที่เราจะไปเปรียบเทียบทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม หากเราย้อนกลับไปสัก 20-30 ปีก่อน เพราะความเจริญที่ไทยกับเวียดนามมีในตอนนั้นๆ มันห่างกันเหลือเกิน แต่เวียดนามในวันนี้มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีมาก มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นหลายล้านคน และล่าสุดก็เพิ่งฉลองการมีรถไฟฟ้าในเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างโฮจิมินห์ซิตี้
ตัวชี้วัดที่ชัดที่สุดคือ GDP ที่เวียดนามเต็บโตอย่างต่อเนื่องจากประเทศที่มี GDP อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์เมื่อ 30 ปีก่อน กระทั่งปัจจุบันที่ GDP ขยายตัวสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่ไทยหากดูกราฟการเติบโตจะพบว่าอยู่ในเทรนขาขึ้นแต่ก็ไม่เสถียรเท่าเวียดนาม ช่องว่างระหว่างไทยและเวียดนามจากระดับ 2 แสนล้านดอลลาร์ ก็แคบขึ้นทุกทีจนปัจจุบันเหลืออยู่ที่ประมาณไม่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ
GDP ไทยเราอยู่ที่ ประมาณ 5.15 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่ 4.29 แสนล้านดอลลาร์ และเวียดนามเติบโตด้วยระดับ 5-8% ตั้งแต่ยุคหลังโควิดเป็นต้นมา ขณะที่ไทยเราเติบโตเพียง 1-3% เช่นเดียวกับช่วงโควิดที่เวียดนามก็ยังคงเติบโตอยู่ที่ 2-3% ขณะที่ไทยเรานั้นติดลบถึง 6%
แล้วทำไมถึงเป็นเช่นนี้? ทำไมเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่เราไม่คิดแม้แต่จะเทียบสมัยอดีตนั้น จึงมีเศรษฐกิจที่ดีกว่าเรา และตัวเลขก็มีแนวโน้มจะแซงหน้าเราภายในระยะเวลา 10-15 ปีที่จะถึง?
(1)เวียดนามมีคนเยอะ มีแรงงานถูก และมีแรงงานวัยหนุ่มสาว ขณะที่ไทยเรามีคน 73 ล้านคนและสังคมกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย (aging society) และค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 270 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่เวียดนามกลับเป็นสังคมแรงงานวัยหนุ่มสาว มีประชากรถึง 101 ล้านคน และค่าแรงอยู่ที่ประมาณ 170 ดอลลาร์ต่อเดือน
ทั้งค่าแรงที่ถูกกว่าถึงเกือบ 100 ดอลลาร์กับตัวคูณคือจำนวนแรงงานที่เยอะกว่า อ่อนวัยมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมโรงงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งจึงย้ายไปตั้งที่เวียดนาม รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ในไทย
(2)เวียดนามมี FTA เยอะ และครอบคลุมตลาดใหญ่ๆ เกือบทั่วโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน อังกฤษ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และอาเซียน ขณะที่ไทยนั้นยังขาด FTA กับตลาดขนาดใหญ่อีกพอควร อาทิ สหรัฐ อังกฤษ และยุโรป ที่ล่าสุดมีแนวโน้มว่าจะสำเร็จแล้ว (แต่มาช้าเหลือเกิน)
(3)การเมืองเวียดนามมั่นคงกว่าไทย ถึงแม้จะเป็นประเทศสังคมนิยมแต่ก็มีกฏกติกาและการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นไปตามกฏ ไม่ค่อยมีเรื่องเซอไพรส์เหนือความคาดหมายแบบการเมืองไทย เมื่อประเทศมีทรัพยากรเอื้อต่อการเป็นฐานการผลิตที่ดีที่ถูก มีตลาดรองรับมากมายจาก FTA และมีกฏเกณฑ์ที่ชัดเจน การเมืองมีเสถียรภาพ ทั้ง 3 ปัจจัยจึงคือกุญแจแห่งความสำเร็จของเวียดนาม ประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 28 มีนาคม 2568