"Empathy" เข็มทิศผู้นำยุค AI ปั้นทักษะพนักงาน ชนะหุ่นยนต์
KEY POINTS
* โลกหมุนด้วย AI... แต่หัวใจองค์กรยังเต้นด้วย “คน” เจาะลึกแนวทางบริหารจัดการยุคใหม่ ที่ให้ “มนุษย์” เป็นศูนย์กลาง ฝ่าวิกฤตแรงงานถูกแทนที่
* แนวคิด“Human-Centric Management”หรือการบริหารที่ให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นศูนย์กลาง จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการนำพาองค์กรและบุคลากรให้ก้าวข้ามยุค AI ไปได้อย่างยั่งยืน
* World Economic Forum เน้นย้ำการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ การสร้างความร่วมมือ การมอบอำนาจ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเติบโต เพื่อให้มนุษย์สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คลื่นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI กำลังถาโถมเข้าสู่ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจและสังคม เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ตลาดแรงงานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่ AI เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ลดภาระงานซ้ำซาก และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ อีกด้านหนึ่งก็สร้างความกังวลถึงการถูกทดแทนของแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะต่ำและปานกลาง

ท่ามกลางความท้าทายนี้ แนวคิด“Human-Centric Management”หรือการบริหารที่ให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นศูนย์กลาง จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญของการนำพาองค์กรและบุคลากรให้ก้าวข้ามยุค AI ไปได้อย่างยั่งยืน
กรุงเทพธุรกิจได้พูดคุยกับ “รศ. ดร. ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ” ที่ปรึกษาบริหาร สำนักประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร ถึงทิศทางภาวะผู้นำและการบริหารจัดการที่เน้น “คน” เป็นหัวใจสำคัญในยุค AI
“AI ไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นเครื่องมือทรงพลังที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อยกระดับชีวิตมนุษย์ ทว่าการมองข้ามผลกระทบด้านลบ โดยเฉพาะต่อตลาดแรงงาน ถือเป็นความประมาท องค์กรและผู้นำยุคใหม่จึงต้องปรับกระบวนทัศน์ หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ยึด “คน” เป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้และการรักษาคุณค่าของบุคลากร”รศ.ดร.ศิริยุพา ย้ำ
3 เสาหลัก“คน”นำ“AI”องค์กรยั่งยืน :
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร ได้สรุป 3 ปัจจัยหลักของการบริหารจัดการแบบเน้นคนเป็นศูนย์กลาง:
Build Connections (สร้างสัมพันธภาพ):ผู้นำต้องสร้างความเข้าใจ ไว้วางใจ และรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกับพนักงาน ผ่านการสื่อสารที่โปร่งใสและนโยบายที่ยืดหยุ่นFoster Collaboration (สร้างเสริมความร่วมมือ):กระจายอำนาจ ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม แบ่งปันความรู้ และเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดสร้างสรรค์Aligning Employee Values with Business Goals (เชื่อมโยงคุณค่าพนักงานกับเป้าหมายธุรกิจ):สร้างความเข้าใจในเป้าหมายองค์กรและผลกระทบที่พนักงานมีต่อความสำเร็จ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน
ผู้นำในยุคนี้ต้องมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าความเฉลียวฉลาดทางเทคโนโลยี แต่ต้องเปี่ยมด้วย“Empathy”หรือความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ รศ.ดร.ศิริยุพา ชี้ว่า ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในยุค AI ต้องมีความสามารถในการเข้าใจความต้องการ แรงจูงใจ และข้อกังวลของทีม ส่งเสริมความร่วมมือ มอบอำนาจ สื่อสารอย่างเปิดเผย มุ่งเน้นการเติบโตและพัฒนา สร้างสมดุลชีวิตการทำงานที่ดี ไว้วางใจและเสริมศักยภาพ สร้างแรงบันดาลใจด้วยความจริงใจ ขจัดอุปสรรค และสร้างบรรยากาศการทำงานที่เชิงบวกและสนับสนุน
HR ปฏิรูป“คน”ปั้นทักษะเหนือ“AI” :
บทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุค AI HR ต้องเปลี่ยนจากบทบาทตั้งรับ เป็น“HR เชิงรุก”ที่เข้าใจเทคโนโลยี วางแผนการนำ AI มาใช้ในองค์กรอย่างมีเป้าหมาย ประเมินผลกระทบต่อตำแหน่งงาน พัฒนาบุคลากรด้วยการ Upskilling และ Reskilling สร้างความมั่นใจให้พนักงานในการทำงานร่วมกับ AI และปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง
สร้าง“ประสบการณ์”สมดุลป้องกัน“คน”ถูกกลืน :
การสร้าง“Staff Experience”ที่ดี คือหัวใจสำคัญ HR ต้องศึกษาและทำความเข้าใจ AI กำหนดเป้าหมายการใช้เทคโนโลยี วิเคราะห์ภาระงาน สำรวจความพร้อมบุคลากร ปรับโครงสร้างองค์กร และที่สำคัญคือการ“เอาชนะ AI Fear ด้วย AI Confidence”ผ่านการสื่อสาร การให้การศึกษา การฝึกอบรม และการโค้ชชิ่ง เพื่อให้พนักงานมีประสบการณ์การทำงานที่ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และสะดวกขึ้นด้วย AI พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงทักษะที่ AI ทำไม่ได้ และส่งเสริมให้พัฒนาทักษะเหล่านั้น เช่น ภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร ทักษะทางอารมณ์ และการคิดเชิงวิพากษ์
“Up-Skill”ทักษะพื้นฐานไม่ให้“AI”ทิ้งห่าง :
รศ.ดร.ศิริยุพา เน้นย้ำว่าเพื่อให้แรงงานไทยสามารถอยู่รอดและเติบโตในยุค AI การพัฒนาทักษะ (Upskilling) และการเรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskilling) เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง องค์กรและแรงงานเองต้องปรับตัวจากการตั้งรับเป็นการรุก โดยผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องทำความเข้าใจเทคโนโลยี AI และมองหาโอกาสในการนำมาใช้ในธุรกิจ พร้อมทั้งประเมินผลกระทบต่อตำแหน่งงานและวางแผนพัฒนาทักษะให้กับพนักงานล่วงหน้า การสื่อสารกับพนักงานอย่างโปร่งใสถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น และการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะ จะช่วยลดความกังวลและสร้างความพร้อมในการปรับตัว
รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานว่า AI ไม่ได้เข้ามาเพื่อทดแทนทั้งหมด แต่เป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาทักษะที่ AI ยังทำได้ไม่ดีเท่ามนุษย์ เช่น ความเป็นผู้นำ การทำงานเป็นทีม ทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ (Soft Skills) การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน นอกจากนี้ การสร้างเครือข่ายทางสังคมและการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญยังเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาตนเอง
“HR ต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาทักษะ AI ขั้นพื้นฐานให้กับตนเอง ผู้บริหาร และพนักงานทุกคน ครอบคลุม Data literacy, Problem-solving, บทบาทของ AI ในงาน HR, จริยธรรมของการใช้ AI, และการใช้ AI ในการค้นหา ประมวลผล วิเคราะห์ และแก้ปัญหาทางธุรกิจ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการองค์กรและบุคลากร กล่าว
ในโลกที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น องค์กรที่ให้ความสำคัญกับ“คน”เป็นศูนย์กลาง จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผู้นำยุคใหม่ต้องมีวิสัยทัศน์ที่เข้าใจทั้งศักยภาพและข้อจำกัดของ AI พร้อมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะของบุคลากร ให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังคงรักษาคุณค่าและความเป็นมนุษย์เอาไว้ การบริหารจัดการที่เน้นคนเป็นศูนย์กลางจึงไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่เป็น“ทางรอด”ที่จะนำพาองค์กรและบุคลากรให้ก้าวข้ามความท้าทายในยุค AI และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 พฤษภาคม 2568