FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรกไฟเขียวตั้ง 8 คณะทำงาน เร่งเจรจาขีดเส้นปิดดีล 1 ปี
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก ได้ข้อสรุปจัดตั้งคณะทำงานด้านการค้าสินค้า 8 ชุด พร้อมจัดทำแผนงานการเจรจา ด้านไทยเตรียมเสนอร่างบทในเรื่องต่าง ๆ ให้ฝ่ายภูฏานพิจารณา และจะจัดประชุมออนไลน์หารือประเด็นทางเทคนิคระหว่างกัน ก่อนไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรอบ 2 เดือน ส.ค.นี้ เล็งสรุปผลภายในปี 2568
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยว่า หลังจากที่ 2 ประเทศได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับภูฏาน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า ไทย-ภูฏาน (JTC) ครั้งที่ 5 คณะเจรจาของไทยและภูฏานจึงได้ประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน รอบแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ประเทศภูฏาน โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย และนายโซแนม เชอริง ดอร์จิ ผู้อำนวยการกรมการค้า เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายภูฏาน
การเจรจารอบนี้ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปโครงสร้างของความตกลงสำหรับเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า โดยจะจัดตั้งคณะทำงาน 8 ชุด ประกอบด้วย ด้านการค้าสินค้า ด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ด้านมาตรการเยียวยาทางการค้า ด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และด้านกฏหมาย
พร้อมทั้งได้ร่วมกันจัดทำแผนงานการเจรจา ซึ่งตั้งเป้าสรุปผลภายในปี 2568 โดยหลังจากนี้ฝ่ายไทยจะเสนอร่างบทในเรื่องต่าง ๆ ให้ฝ่ายภูฏานพิจารณา และจะจัดประชุมออนไลน์เพื่อหารือประเด็นทางเทคนิคระหว่างกัน ก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย-ภูฏาน ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับการหารือระหว่างนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับนายเชริง ท็อปเกย์ นายกรัฐมนตรีภูฏาน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 นายกรัฐมนตรีภูฏานขอให้พิจารณาเร่งรัดสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า FTA ไทย-ภูฏานจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยผู้บริโภคภูฏานมีความนิยม รวมทั้งยอมรับคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการของไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“การจัดทำ FTA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มปริมาณการค้าสองฝ่ายให้บรรลุเป้าหมายถึง 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไทย เนื่องจากภูฏานจะเป็นตลาดรองรับการส่งออกของไทยในระยะยาว รวมทั้งมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และได้ก้าวเป็นประเทศกำลังพัฒนาเมื่อปี 2566 อีกทั้งจะช่วยสร้างศักยภาพทางการแข่งขันของสินค้าไทยจากการลดเลิกภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี
โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ อาทิ สินค้าเกษตรและอาหาร (ผลไม้อบแห้ง น้ำผลไม้ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารปรุงแต่ง) สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า” นางสาวโชติมาเสริม
ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับภูฏานมีมูลค่า 18.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปภูฏานมูลค่า 18.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานมูลค่า 0.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วง 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 2567) การค้าระหว่างไทยกับภูฏานมีมูลค่า 3.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยไทยส่งออกไปภูฏานมูลค่า 3.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากภูฏานมูลค่า 0.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผ้าผืน และข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ยางสำหรับอากาศยาน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 20 พฤษภาคม 2567